Skip to main content

แม้จะมีข่าวด้านบวกสำหรับโอกาสของแรงงานไทยที่อยากไปทำงานในญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ แต่ในมุมผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่นเองยังมองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างมาตรการที่เอื้อให้เปิดรับแรงงานได้มากขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่เป็นธรรม

ก่อนหน้านี้ กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง ผ่านองค์กร IM Japan ปี 2565 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. – 2 ก.ย. 65 โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 21,200 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี และเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด เมื่อฝึกครบตามกำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 158,764บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 ส.ค. 2565) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย

ขณะที่ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงต้องใช้แรงงานฝึกงานเหล่านี้ แต่ก็ประสบปัญหาว่า แรงงานฝึกหัดเหล่านี้อยู่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างมีเวลาจำกัด อีกทั้งนโยบายการเปิดรับต่างชาติของญี่ปุ่นยังเข้มงวด เพราะต้องการกำจัดปัญหาแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นกำลังอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อไปได้

ล่าสุด มีรายงานออกมาว่า อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รัฐบาลญี่ปุ่นจะทบทวนโครงการที่ทำมากว่า 30 ปีนี้ โดยจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติทำงานในบริษัทญี่ปุ่นในฐานะผู้ฝึกงานได้นาน 5 ปี และถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและทักษะให้ระหว่างการพักอาศัยอยู่ในประเทศอีกด้วย

โดยนักวิจารณ์มองว่าโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อแอบแฝงใช้รับแรงงานราคาถูกเข้าทำงาน โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ฝึกงานที่มากับโครงการนี้จะได้รับจ่ายค่าแรงที่ต่ำ, ถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะโดยหลักการแล้วผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำสมาชิกในครอบครัวมาด้วย หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนงาน ทำให้มีหลายพันคนหลบหนีออกจากที่ทำงานทุกปี

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในญี่ปุ่นมีแรงงานต่างชาติราว 20% หรือประมาณ 352,000 คน เป็นผู้ฝึกงานด้านเทคนิค (ข้อมูล ณ ต.ค. 2564) มีชาวเวียดนามมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่มีทักษะเฉพาะอีกที่มาจากประเภทวีซ่าใหม่ที่ออกขึ้นในปี 2019 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างเฉียบพลันในด้านต่างๆ เช่น การก่อสร้าง การเกษตรและการพยาบาล 

และจากการสำรวจของสำนักงานบริการตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นระบุว่า ผู้ฝึกงานด้านเทคนิคเกือบ 2,200 คนหรือ 54.7% บอกว่า พวกเขาหยิบยืมเงินจากที่ต่างๆ ในประเทศบ้านเกิดเพื่อเดินทางมาญี่ปุ่น โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 542,300 เยน หรือประมาณ 142,000 บาท ที่แรงงานเหล่านี้ต้องจ่ายให้กับหน่วยงานที่จัดส่งพวกเขามายังญี่ปุ่นและให้กับนายหน้า 

ดังนั้นปัญหาหนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับทั้งญี่ปุ่นและเวียดนาม ทำให้ขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังพยายามจัดการกับปัญหานี้อยู่ตามคำร้องขอของเวียดนาม ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้กับผู้ฝึกงานที่ต้องการเดินทางมาญี่ปุ่นได้เข้าถึงข้อมูลได้โดยตรงไม่ผ่านนายหน้าหรือบริษัทจัดหางาน ซึ่งเแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2024 หลังจากจะเริ่มทดลองใช้ในปีหน้า (66) เป้าหมายคือช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ที่ต้องการทำงานในญี่ปุ่นตกเป็นเหยื่อของเหล่านายหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมองถึงการปกป้องสิทธิของผู้ฝึกงาน หลังถูกมองว่าด้อยกว่าสหรัฐฯ และชาติในยุโรป ด้วยการร่างแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทต่างๆ ในการเคารพสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีหลายครั้งที่ผู้ฝึกงานเหล่านี้ถูกยึดพาสปอร์ตไป แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายคนเข้าเมืองและแรงงานต่างชาติมองว่าญี่ปุ่นควรทำมากกว่านี้ โดยชี้ให้เห็นว่าโปรแกรมฝึกงานนั้นถูกใช้มานานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้บริษัทสามารถจัดหาแรงงานราคาถูกได้ง่ายจนเกินไป

โดย เอริโกะ ซูซุกิ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโตเกียว กล่าวว่า โครงการฝึกงานนี้ควรถูกยกเลิก เพราะมันไม่ยั่งยื่น หากมองว่าแรงงานต่างชาติสามารถเติมเต็มงานที่คนญี่ปุ่นไม่สนใจ ขณะที่มีรายงานจากสถาบันวิจัยไดอิชิ-ไลฟ์ บอกว่า ความน่าสนใจในการทำงานในญี่ปุ่นลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสำหรับผู้ที่มาจากเวียดนาม เนปาล อินโดนีเซีย และจีน เหตุผลเพราะช่องว่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศบ้านเกิดและญี่ปุ่นลดลง เช่น เมื่อ 10 ปีก่อนชาวเวียดนามสามรถหารายได้ในญี่ปุ่นมากกว่า 40 เท่าจากรายได้ในประเทศ แต่ปีที่แล้ว (64) ทำได้เพียง 20 เท่าเท่านั้น จึงเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงสำหรับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คือ ญี่ปุ่นต้องคิดใหม่อย่างจริงจังว่าจะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันนี้อย่างไร และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้อยู่ร่วมกับผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมให้ได้

ที่มา : Moment of truth as Japan eyes review of foreign 'trainee' workers