ผู้บริหารมหานครโตเกียว เสนอให้ลดวันทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 4 วัน โดยหวังว่าวันหยุดที่เพิ่มเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ และจะทำให้คนวัยหนุ่มสาวมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นสำหรับการให้กำเนิดประชากรรุ่นใหม่
ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรง รวมถึงอัตราการเกิดที่ลดลง และประสบปัญหาประชากรสูงวัยมาหลายปี โดยเป็นชาติที่มีประชากรสูงวัยเฉลี่ยเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก คาดว่า 1 ใน 10 ของประชากรจะมีผู้ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป ขณะที่ในปี 2023 มีทารกเกิดใหม่เพียง 758,631 คน ต่อประชากรทั้งประเทศ 124.62 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาระบุว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สามารถช่วยเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม และช่วยลดการปล่อยมลพิษที่ทำให้โลกร้อน
ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการมหานครโตเกียว ประกาศยกระดับนโยบายของเธอเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ภายใต้การบริหารของเธอจะทำให้เกิดความชัดเจนว่า จะมีการปรับใช้ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นกับคนทำงานทุกคน โดยเริ่มจากคนที่มีศักยภาพที่จะเป็นคุณแม่มือใหม่ก่อน
“เราจะยังคงทบทวนรูปแบบการทำงานอย่างต่อเนื่องในการทำให้มั่นใจว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเสียสละอาชีพของพวกเธอในเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิต อย่างเช่น การให้กำเนิดทารก หรือการเลี้ยงดูลูก แต่การเพิ่มอำนาจให้กับผู้หญิงนั้น เป้าหมายยังห่างไกลบรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นประเด็นที่ยืนหยัดมานานในประเทศของเรา” ผู้ว่าการมหานครโตเกียวกล่าว
การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน ของพนักงานมหานครโตเกียว จะเริ่มมีผลในเดือนเมษายน 2025 เป็นต้นไป รวมถึงมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนโรงเรียนอนุบาล และเปิดให้มีกองทุนสำหรับการแช่แข็งไข่ของผู้หญิงด้วย
นโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ของผู้ว่ามหานครโตเกียว เป็นนโยบายล่าสุดที่ยกระดับเรื่องที่ทำงานโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง การผ่านกฎหมายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ต้องการให้บริษัทเอกชนต่างๆ เตรียมปรับตารางการทำงานแบบยืดหยุ่นให้กับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก เช่น ให้มีการทำงานจากทางไกลได้ และการลดชั่วโมงการทำงานลง โดยจังหวัดอิราบากิ มิยากิ และชิบะ มีแผนที่จะให้มีการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในอนาคตอันใกล้นี้กับเทศบาลที่มีพนักงานมากที่สุด
หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ อธิบายถึงสถานการณ์ “วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น” และเริ่มนโยบายครอบครัวเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งนโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มีบริษัทจำนวนมากเริ่มลงทุนในเรื่องออโตเมชั่น เช่น รถไฟหัวกระสุนที่ขับเคลื่อนเองอัตโนมัติ ซึ่งเป็นตัวอย่างของความพยายามของบริษัทในการลดลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์ลง
รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปี 2024 ระบุว่า การแต่งงานช้า ช่องว่างค่าแรงระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ค่าครองชีพและค่าเลี้ยงดูลูกที่สูง เป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างครอบครัวสำหรับชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงถึงทางออกของปัญหาที่ง่ายกว่า เช่น ผ่อนคลายนโยบายคนเข้าเมืองที่เข้มงวดลง รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับความอนุนักษ์นิยมในเรื่องวัฒนธรรม ชนชั้น และเชื้อชาติของญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน
ที่มา
Tokyo rolling out four-day work week in bid to boost birth rates