Skip to main content

วันนี้ (30 ส.ค.) สถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณ 1,811 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 47 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำระบายท้ายเขื่อน 1,618 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 39 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบน ทำให้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำวัง แม่น้ำปิง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา ทยอยไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสภาพน้ำฝน-น้ำท่า และสภาพการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ และผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ จึงทยอยปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยวันนี้จะระบายน้ำเพิ่มขึ้น จากอัตรา 1,618 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 1,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปรับเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีโดยประมาณ ขอให้ประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

น้ำท่วมบ้านเรือน ปชช.กว่า 100 หลังคาเรือนที่ จ.อ่างทอง

การเพิ่มการระบายน้ำส่งส่งผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มีน้ำท่วมบ้านเรือราษฎรกว่า 100 หลังคาเรือนแล้ว จ.อ่างทอง เตรียมความพร้อมรับมือและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะที่น้ำจากแม่น้ำน้อย เพิ่มระดับสูงอย่างรวดเร็วเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยนอกแนวคันกั้นน้ำ ถูกน้ำท่วมไปแล้วกว่า 50 หลังคาเรือน บางจุดสูงกว่า 50-60 ซม. ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายสิ่งของที่อยู่ใต้ถุนบ้านและเร่งทำสะพานไม้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

แจ้งเตือนชาวเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เก็บของขึ้นที่สูง

ชาวบ้านที่อยู่ติดริมน้ำเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เตรียมทยอยเก็บของขึ้นที่สูง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มหนุนสูงขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำจะเริ่มขึ้นช่วงเวลาประมาน 16.00- 19.00 น. ส่วนช่วงเช้ามืดน้ำจะเริ่มลดลง ที่ผ่านมามีพายุฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า รวมทั้งช่วงเวลาน้ำทะเลหนุน ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ นอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) พื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง

ปภ.อยุธยา เตือนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา-เขื่อนพระราม 6 มีพื้นที่กระทบ 7 อำเภอ

และเมื่อวันที่ 25 ส.ค. กรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมา ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค. 2565 นี้ รวมประมาณ 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) จะทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำประมาณ 355 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือ

กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตราวันละ 34.56 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็น 43.20 ล้าน ลบ.ม./วัน หรือ 500 ลบ.ม./วินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 นี้เป็นต้นไป เมื่อปริมาณน้ำไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00-1.50 เมตร

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ได้ประสานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนบริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกับจังหวัดลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง

น้ำท่วมอยุธยาแล้ว 7 อำเภอ กระทบกว่าหมื่นหลังคาเรือน

ขณะเดียวกันสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งส่งผลให้น้ำท้ายเขื่อนทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ซึ่งไหลผ่านอำเภอต่างๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบเพิ่มอีก 1 อำเภอ เป็น 7 อำเภอ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านและพื้นที่การเกษตร จำนวน 7 อำเภอ 73 ตำบล 323 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 9,556 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 2,793 ไร่ ดังนี้ 1.อำเภอเสนา 2.อำเภอผักไห่ 3.อำเภอบางบาล 4.อำเภอบางไทร 5.อำเภอบางปะหัน 6.อำเภอพระนครศรีอยุธยา 7.อำเภอบางปะอิน

โดยที่ คลองบางหลวง ตำบลบางหลวง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชุมชนติดคลองบางหลวงที่ได้รับน้ำมาจากแม่น้ำน้อย ส่งผลให้ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน กระทบความเป็นอยู่ พี่น้องประชาชนต้องออกมาตั้งเต้นบนถนน รวมถึงนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มาจอดรถ หรือใช้เก็บข้าวของหนีน้ำที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านสูงกว่า 30-60 เซนติเมตร ในบางจุดที่ต่ำสุด

ส่วนที่ แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน หลายวัดหลายสถานที่สำคัญริมน้ำเตรียมการป้องกันกันแล้ว ซึ่งน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งในบางจุด 20-30 เซนติเมตร แต่เขตเกาะเมืองที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเริ่มถูกน้ำท่วมหลายจุดแล้วเช่นกัน