Skip to main content

เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม เรื่อง “จุดเปลี่ยนเมื่อสวมหมวกกันน็อก” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)

นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร  ที่ปรึกษา สอจร. ภาคเหนือตอนบน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ข้อมูลการตายกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ชี้ชัดว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองและพื้นที่รอบๆ ประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 200 ราย เรียกว่าเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ของทั้งจังหวัดที่มียอดรวมประมาณปีละ 400 ราย จากข้อมูลที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าการตายของผู้ขับขี่ จยย. ในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อุบัติเหตุมักเกิดตอนกลางคืน ปัจจัยสำคัญเกิดไม่ใส่หมวกกันน็อก เพราะช่วงกลางคืนไม่มีตำรวจคอยตรวจจับ ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ชัดเจน เมื่อทราบเช่นนี้คณะทำงานและเครือข่าย จึงตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มอัตราการสวมหมวก เพื่อลดการตายลงให้ได้อย่างน้อย 50% ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังเชียงใหม่ นำเอาเทคโนโลยีกล้องและระบบ AI ตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกกันน็อกมาใช้ ทำให้ปัจจุบันสถิติการสวมหมวกเพิ่มขึ้นมาก โดยในเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยใส่อยู่ 80% 

“การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ หากเราทำกันอย่างจริงจัง จะช่วยเพิ่มอัตราการใส่หมวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชียงใหม่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การติดตั้งกล้องและระบบตรวจจับอัตโนมัติ ทำให้อัตราสวมหมวกทุกจุดที่ติดตั้ง เพิ่มเป็น 80% ในตอนกลางวัน และมากว่า 60% ในตอนกลางคืน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว 

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ รณรงค์สวมหมวกกันน็อกมา 20 ปี ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง รวมถึงการดำเนินมาตรการองค์กร การแจกหมวกกันน็อก แต่กระเตื้องขึ้นแค่ 50% แต่ช่วงที่ผ่านมาเพียง 2 ปี การติดตั้งกล้องระบบ AI ในพื้นที่นำร่อง 5 อำเภอ รวม 13 จุด ทำให้สัดส่วนการสวมหมวกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ช่วยลดการบาดเจ็บที่หัวและการตาย จากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ลงได้มาก ในขณะที่อำเภออื่นๆ ที่ไม่ได้ติดตั้ง การตายจากการไม่ใส่หมวกกันน็อก ยังคงสูงอยู่

“ตลอดชีวิตการเป็นหมอ ได้พบเห็นภาพน่าสมเพศเวทนา จากกรณีอุบัติเหตุทางถนนนับไม่ถ้วน ต้องเห็นภาพพ่อแม่คอยเฝ้าดูแล ลูกที่นอนอาการสาหัสบนเตียงคนไข้ หลายเคสแม้ไม่ตายบนถนนทันที แต่ขั้นตอนการรักษาในโรงพยาบาล ก็อยู่ต่อได้ไม่นาน สุดท้ายเมื่อแผลติดเชื้อก็เสียชีวิต หรือแม้กระทั่งบางเคสที่ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นยืนได้ แต่เพราะสมองได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่กลับไปปกติได้ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว 

นพ.ธีรวุฒิ ทิ้งท้ายว่า ผลสำเร็จของเชียงใหม่ ในการนำกล้องระบบ AI เข้ามาเสริมประสิทธิภาพ การตรวจจับและปรับพฤติกรรม ผู้ขับขี่ให้สวมหมวกกันน็อกเพิ่มขึ้น ขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทาย ในเรื่องงบประมาณดำเนินการต่อ ตอนนี้เชียงใหม่แทบไม่มีเงินส่งใบสั่งแล้ว เพราะการส่งใบสั่งแต่ละใบมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเงินที่ได้จากค่าปรับก็ต้องส่งเข้าส่วนกลาง และน่าเศร้าว่าตอนนี้คนไม่ใส่หมวก แม้ได้รับใบสั่งแต่ไม่ค่อยยอมมาจ่ายค่าปรับ

“อยากนำเสนอโมเดลกล้องมือถือ เพราะข้อจำกัดงบประมาณทำให้ทุกแห่ง ไม่สามารถติดตั้งระบบกล้องอัตโนมัติได้ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่และเครือข่ายทำงาน ช่วยกันถ่ายคลิปขับขี่ จยย. ในพื้นที่ เดือนละ 3 นาที ยิ่งช่วยกันถ่ายได้หลายจุดยิ่งดี เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI จะช่วยให้รู้ว่า อัตราการสวมหมวกกันน็อก แต่ละพื้นที่อยู่ที่สัดส่วนเท่าไหร่ จากนั้นนำข้อมูลส่งกลับไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อให้ดำเนินนโยบายแก้ไขป้องกันได้อย่างตรงจุด จริงจัง และมีประสิทธิภาพ” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว

ขณะที่ วรรณี มีขวด พยาบาลวิชาชีพงานอุบัติเหตุแลฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เคยมีเคสที่ห้องฉุกเฉิน พ่อแม่ล้มทั้งยืนบ่อยมาก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ปกติเลยทีเดียว ที่สำคัญกรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่เป็นส่ิงที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อ10 ปีที่แล้วชาวนครศรีธรรมราช แทบไม่ใส่หมวกกันน็อกกันเลย ข้อมูลบอกว่ามีประมาณ 7% เท่านั้น ทำให้การตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญกว่า 80% พบว่า ตายจากการบาดเจ็บที่หัว เพราะไม่สวมหมวกกันน็อก สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นภาระของห้องฉุกเฉิน เรียกว่า “ชุ่มเลือด” หมายความว่ากลิ่นคาวเลือด และกลิ่นอาเจียน ไม่เคยหมดไปจากห้องฉุกเฉิน

วรรณี กล่าวว่า ต่อมาเมื่อ จ.นครศรีธรรมราช เริ่มตั้งรับและมีการประสานงานกับตำรวจ หันมามุ่งเน้นการรณรงค์และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเพิ่มอัตราการใส่หมวกกันน็อกให้มากขึ้น ปรากฎว่าหลังดำเนินการ 4-5 ปี สัดส่วนการใส่หมวกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แม้ไม่เต็ม 100% อย่างที่หวัง แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก และที่สำคัญคือช่วยลดการตายลงได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 ช่วงเริ่มต้นเรามีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 599 ราย ล่าสุดในปี 2563 ยอดลดลงเหลือ 323 ราย แต่ในปี 2564 จำนวนตายมากขึ้นเล็กน้อย เพราะผลกระทบจากโควิด 

“เคยคุยกับคนไข้ทุกคนว่าทำไมไม่ใส่หมวก ส่วนใหญ่ตอบว่าเพราะไปใกล้ๆ มีเคสหนึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่เป็นต้นแบบใส่หมวกของโรงเรียน ใส่แบบเต็มใบตลอด แต่มีครั้งหนึ่งไม่สวมหมวกกันน็อก เพราะคิดว่าไปบ้านลุงใกล้ๆ แค่ 50 เมตร กลายเป็นว่าครั้งนั้นได้ประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บที่หัวอย่างหนักและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นไม่ว่าจะออกไปใกล้หรือไกล หากขี่มอเตอร์ไซด์ต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง” วรรณี กล่าว 

วรรณี ฝากทิ้งท้ายว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย บทบาทไปตกอยู่ที่ตำรวจ ซึ่งก็ได้รับแรงเสียดทานเยอะมาก เรื่องการจับหมวกกันน็อก ทุกครั้งจะได้ยินคำว่าจับเพราะหาเงิน ขณะที่กระบวนการชุมชนก็เป็นเรื่องฐานเสียง ผู้นำก็ไม่อยากทำอะไรที่ขัดใจประชาชน ดังนั้น หน่วยงานรัฐส่วนกลางต้องจริงจัง ทุ่มเทและลงทุนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะสุดท้ายภาระหนักตกอยู่ที่ด่านท้ายสุด คือ ระบบสาธารณสุข รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย