Skip to main content

เตือนขับรถหน้าฝนอย่าใช้ความเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุ

นักวิชาการแนะวิธีขับรถหน้าฝนให้ปลอดภัย เตือนขับรถหน้าฝนอย่าใช้ความเร็ว มีสติทุกครั้ง ช่างสังเกตโดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างป้องกันเกิดอุบัติเหตุ เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม เรื่อง “ถามทุกเรื่อง” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)

ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขับขี่รถในช่วงฤดูฝน แน่นอนว่าผิวถนนที่เปียกส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยสิ่งที่เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายในขณะที่ฝนตก คือ เรื่องวิสัยทัศน์ในการมองเห็นระหว่างการขับรถ ตรวจสอบที่ปัดน้ำฝนใช้งานดีอยู่หรือไม่ รวมถึงระหว่างการขับรถต้องลดความเร็ว เพราะล้อจะไม่เกาะถนน หากขับเร็วโอกาสสูงที่จะเกิดการเหินน้ำได้ง่าย การเหินน้ำคือ การที่ล้อรถลื่นไม่เกาะถนน เสี่ยงต่อการเสียหลักระหว่างขับรถ เพราะเราควบคุมรถไม่ได้ และที่สำคัญเรื่องการแซงอย่าขับต่อท้ายหรือใกล้รถบรรทุก เพราะต้องยอมรับว่ารถบรรทุกมีล้อขนาดใหญ่ หากวิ่งแล้วน้ำกระเด็นทำให้กระเซ็นใส่หน้ารถมากพอที่จะทำให้มองไม่เห็นด้านหน้า ช่วงแค่เวลาไม่กี่วินาทีอาจเกิดอุบัติเหตุได้ หากจำเป็นต้องแซงจริงๆ ต้องดูให้มั่นใจว่าปลอดภัยที่สุด แต่ฝนหยุดตกแล้วใช่ว่าจะไม่อันตราย เพราะยังมีน้ำท่วมขังอยู่ มีโอกาสเกิดการเหินน้ำได้ 
 
“สรุปว่าระหว่างฝนตกหรือหยุดตกใหม่ๆ อย่าขับรถเร็ว ถ้าขับเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีโอกาสเหินน้ำสูง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผิวถนนและสภาพยางรถยนต์ด้วย “ ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 

ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า กทม. ฝนตกเมื่อใดรถติด ไม่มีทางเกิดอุบัติเหตุแน่นอนจริงหรือไม่ ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ แต่จะรุนแรงน้อย เพราะจะเห็นว่าต่างคนต่างรีบอาจจะไม่ระวัง เบียดแซงกัน แต่อย่ามองรถติดแค่ใน กทม.ชั้นใน เพราะเคยมีกรณีรถบนทางด่วนมีโอกาสเกิดการเหินน้ำมาแล้ว  
และยังมีกรณีความเสี่ยงเรื่องทัศนวิสัยและสภาพแวดล้อมของถนน บดบังระยะการมองเห็น เช่น ต้นไม้ที่มีกิ่งก้านยาวๆ ป้ายโฆษณา ต้องดูแลรักษาให้ดี รวมถึงถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ล้อรถอาจเกิดโอกาสเหินน้ำได้ 

“ที่ถามเข้ามามากว่าฝนตกหนักควรเปิดไฟกระพริบหรือไฟฉุกเฉินหรือไม่ ขอบอกเลยว่าไม่แนะนำ เพราะจะทำให้คนที่ขับตามมาเข้าใจผิดได้ เพราะสัญญาณไฟมีไว้สื่อสาร เช่น การเลี้ยว การขอเปลี่ยนเลน ดังนั้นควรขับตามปกติ เพื่อไม่ให้คนขับตามมาเข้าใจผิด แต่อย่าใช้ความเร็ว และรักษาระยะห่างระหว่างคัน และหากฝนตกหนักมากๆ อย่าจอดไหล่ทาง เพราะเสี่ยงที่รถตามมาจะมองไม่เห็นควรขับไปเรื่อยๆ แต่ไปช้าๆ เมื่อเจอที่พักรถหรือสถานีบริการน้ำมันค่อยเข้าไปจอดจะดีกว่า” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 

ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ล่าสุดที่เกิดอุบัติเหตุที่ถนนพระรามสองระหว่างการซ่อมแซมที่กลับรถคานหล่นลงมาทับรถยนต์ที่ขับอยู่ด้านล่าง ซึ่งพื้นที่การก่อสร้างถือเป็นพื้นที่อันตราย ผู้ที่ดำเนินการอยู่ต้องติดสัญลักษณ์ ป้ายแจ้งเตือนให้ผู้ขับรถเห็นได้ชัดในระยะก่อนถึงสถานที่ เพื่อให้เตรียมตัวระมัดระวัง เพราะคนขับรถไม่รู้ว่าขณะนั้นกำลังปรับปรุงซ่อมแซมอะไรอยู่ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือ อุปกรณ์บอกทาง ทางกั้น ป้ายแจ้งเตือน

“บ้านเรามีปัญหาเรื่องเขตก่อสร้างหลายแห่ง ผู้รับเหมาจัดการไม่ได้ดีพอ ไม่มีอุปกรณ์กั้นที่สมบูรณ์ สีซีดบ้าง ทำให้เห็นเขตก่อสร้างไม่ชัด ผู้ที่ขับขี่จึงต้องรู้จักวิธีสังเกตและใช้หลักการ มีทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ ต้องรู้จักมองให้ไกล ระยะ 200-300 เมตร ถ้าเราดูเราผิดปกติ หรือสังเกตรอบๆ ว่ามีกรวย หรือเห็นป้ายแจ้งเตือน ต้องชะลอความเร็ว ที่สำคัญขับให้ห่างคันหน้า เพื่อมีระยะหยุด อย่าขับรถเลาะไหล่ทางถนนเด็ดขาด เพราะมีโอกาสตกได้” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว 

ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า  น่าเสียดายที่บ้านเราไม่เน้นสอนเรื่องคาดการณ์เกิดอุบัติเหตุ เน้นในเรื่องทักษะ สอนแต่เรื่องขับรถ ไม่ได้สอนว่าเจอเหตุการณ์ต้องทำอย่างไร ซึ่งกรมการขนส่งทางบกกำลังจะเริ่มหลักสูตรนี้ และอยากให้มีหลักสูตรขยายเข้าไปสอนทั้งในที่ทำงานและโรงเรียนสอนขับรถยนต์ เพราะจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด จะมีสติ เตรียมพร้อมแก้ปัญหาจัดการหน้างานได้อย่างบ้าง 

“พฤติกรรมการขับรถของคนไทย ไม่ตระหนักว่าเรื่องความเร็วเป็นปัญหา จึงคิดว่าขับรถดี สามารถขับรถเร็วได้ จึงยังเป็นปัญหาหลักของการเกิดอุบัติเหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำได้ช้า ส่วนหนึ่งเพราะการบังคับใช้กฎหมายเรื่องความเร็วยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีอุปกรณ์จับที่ครอบคลุม จะเห็นว่าคนไม่เกรงกลัวใบสั่ง เพราะคิดว่าไม่จ่ายก็ได้ ไม่มีผลต่อการต่อทะเบียนหรือขับรถ อีกไม่นานจะเริ่มมีการตัดแต้มกรณีทำผิดกฎหมายจราจร ส่งผลต่อใบอนุญาตขับขี่ แต่เท่าที่เห็นโทษของการขับรถเร็วนั้นตัดแค่แต้มเดียว แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญเรื่องความเร็วหรือไม่ ทั้งที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คนขับรถเร็วต้องได้รับโทษที่สูง หากกฎหมายไม่รุนแรง คนจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ตัวอย่างโค้งรัชดา ใส่การแก้ปัญหาทางวิศวกรรมไปทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะป้ายเตือน เส้นเตือน ให้ชะลอความเร็ว แต่ยังเกิดอุบัติเหตุอยู่ แสดงให้เห็นว่าคนยังใช้ความเร็วอยู่” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว

ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวว่า ในต่างประเทศกำหนดโทษเรื่องความเร็วสูงทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง เช่น ที่เวียดนามได้ปรับกฎหมายค่าปรับกรณีขับรถเร็วแบบขั้นบันไดตามความเร็ว เริ่มต้นปรับที่ 1,500 บาท และสูงสุดปรับถึงหมื่นกว่าบาท เรียกว่าเงินเดือนแทบหมด นอกจากนี้ยังมีขึ้นศาลด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับขี่ได้จริง เพราะคนกลัวเสียค่าปรับ 

“สรุปคือ การขับรถให้ปลอดภัยจริงๆ ต้องป้องกันตัวเอง ไม่ใช่แค่ขับรถเป็น ต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ มีสติ จดจ่อกับการขับขี่ อันดับแรก เรื่องการมองต้องมองไกล มองซ้าย มองขวา มองหลัง มองจุดบอด ไม่ใช่หันไปคุยอย่างเดียว ต้องสังเกตวิเคราะห์ รักษาระยะห่าง เกิดอะไรขึ้นข้างหน้า  ต้องหยุดรถให้ทัน คุมสติอย่างไร ตอบสนองกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร” ศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว