สสส. ห่วงคนไทยเสี่ยงฆ่าตัวตายปี 65 พุ่ง เหตุ เครียดจัด จัดกิจกรรม “ThaiHealth Watch 2022 The Series : เรื่องใจเรื่องใหญ่” แนะวิธีจัดการความเครียด สังเกตตัวเอง-ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ร่วม จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ ผ่านเพจ “Here to Heal” เข้าถึงง่ายตลอด 24 ชม.
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็น 1 ปัญหาของคนไทยที่น่าจับตามองในปี 2565 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ไว้ว่า 1 ปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น แนวโน้มของการฆ่าตัวตายในปี 65 กลับจะสูงถึง 10 เท่าจากปกติ เนื่องจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพที่ต้องเริ่มต้นใหม่ ทำให้เกิดความเครียด และหมดความหวังในการดำเนินชีวิต สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้จัดกิจกรรม ThaiHealth Watch 2022 The Series ในหัวข้อ เรื่องใจเรื่องใหญ่ เปิดพื้นที่แชร์ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านอารมณ์ แนะแนวทางป้องกันและดูแลตนเอง มุ่งเสริมภูมิคุ้มใจ ฟื้นฟูภาวะเครียดสะสมของคนไทยให้ดีขึ้น
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการ Here to Heal เพื่อให้ผู้มีอาการด้านสุขภาพจิตสามารถปรึกษาผ่านนวัตกรรมออนไลน์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Here to Heal ที่รับบริการได้สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย 24 ชม. ความเครียดสะสม สามารถสังเกตได้จากการคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ทั้งด้านความคิด พฤติกรรม อารมณ์และความรู้สึก อาทิ ความคิดเชิงลบในชีวิตประจำวัน นอนไม่หลับไม่ทราบสาเหตุ ไม่อยากเข้าสังคม วิตกกังวลกับความสัมพันธ์คนใกล้ตัว อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ เมื่อพบว่ามีอาการ ต้องรีบดูแลใจตัวเอง หรือเข้ารับคำปรึกษาอย่างถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากอาการสะสมเป็นเวลานาน อาจจะพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิต
วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยากร Podcast Life's Classroom กล่าวว่า สิ่งรอบข้างกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความเครียดได้ แต่ “ความสุข” คืออาวุธสำคัญในการต่อสู้กับความเครียด ทุกคนสามารถสร้างภูมิคุ้มใจได้ง่าย ๆ ด้วยการมีความสุข ทั้งการเปลี่ยน Mindset การคิดแบบเปิดกว้าง มองโลกในแง่บวก ทบทวนตารางชีวิต เพื่อหาความสุขประจำวัน ผ่านกิจกรรมที่ชอบ อย่างน้อย 10–30 นาที อาทิ ออกกำลังกายแบบง่าย ๆ คิดถึงสิ่งที่มีความสุข ทำสมาธิ