Skip to main content

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสนาธิการทหารอากาศ​ กล่าวถึง​การเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์​ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร​ ที่ตัดงบประมาณจัดหาเครื่องบินรบ F-35A จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาทออกจากรายการงบประมาณ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นงบผูกพัน ระหว่างปี 2566 ถึงปี 2569 โดยในปี 2566 อยู่ที่กว่า 700 ล้านบาทว่า​ มีคำแนะนำจากคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งวานนี้ (25 ก.ค.) ตนได้ยื่นเรื่องขออุทธรณ์ต่อประธานคณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของสภาฯ ต่อไป ยืนยันเหตุผลความจำเป็นการจัดหาเพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์​เดิม 

เสนาธิการทหารอากาศ กล่าวว่า คณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ ต้องการให้กองทัพอากาศได้ PNA หรือ​ใบเสนอราคาและความเป็นไปได้จากประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้ในช่วงเดือนมกราคมปี 2566 ไม่ใช่ต้องรอถึง 20 เดือนตามที่ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะทางคณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ ระบุเนื่องจากได้ร้องขอใบเสนอราคาไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 แล้ว

“ส่วนที่ทางคณะทางคณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ ​อยากให้กองทัพอากาศของบกลางมาใช้ ผมมองว่าเป็นเรื่องลำบาก จึงขอทำตามขั้นตอนไปก่อน​ และคงไม่ใช่ระเบียบแนวทางของการของบประมาณ​กองทัพ ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนในส่วนของงบกลาง เราก็คงไม่ไปแตะตรงนั้น โดยในเบื้องต้นต้องทำหน้าที่ Defense งบประมาณปี 2566 ของเราก่อน ส่วนที่นายยุทธพงศ์ขอให้รอให้ได้ PNA ก่อนแล้ว ให้ไปของบกลางนั้น มองว่าถ้าเราได้รับการสนับสนุนให้ผ่านในตอนนี้ ก็จะเป็นแรงบวกอย่างหนึ่ง ทำให้สหรัฐอเมริกา พิจารณาอนุมัติเร็วขึ้น” ​พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าว

เสนาธิการทหารอากาศ กล่าวถึงบรรยากาศการชี้แจงเมื่อวานนี้ ว่า เป็นไปด้วยดีมาก​ ตนเข้าใจเหตุผล การทำหน้าที่ของคณะอนุกมธ.ฯ  แต่ต่างคนก็ต่างต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด 

ส่วนที่คณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ ห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย พล.อ.อ.พันธ์ภักดี กล่าวว่า เราเองก็เป็นห่วงเช่นกัน แต่ก็ใช้งบประมาณที่ทางกองทัพอากาศได้รับ โดยจะเป็นการทยอยจ่ายให้น้อยที่สุด เพราะหากไม่เริ่มเลย ต่อให้มีเงินในอนาคต ก็อาจไม่สามารถซื้อได้

อนุกมธ. ICT ชี้ ทอ.มีสิทธิอุทธรณ์ แต่ต้องแจงอีกรอบ ให้กมธ.ชุดใหญ่พิจารณา

ด้าน สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ และ ICT ใน กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 แถลงว่า ในการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ทุกหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณ พบว่ายอดปรับลดงบประมาณลดลง เนื่องจากสิ่งที่อนุกรรมาธิการฯ พิจารณาคือต้องการประหยัดงบประมาณให้ประเทศ พิจารณายึดตามความจำเป็นของหน่วยงาน โดยเฉพาะงบจัดซื้อเครื่องบินรบ F35-A ของกองทัพอากาศที่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการขออนุมัติจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ไม่ใช่มีเงินก็ซื้อได้

“อนุกรรมาธิการฯ พิจารณาทุกประเด็นและเห็นถึงความต้องการ ความจำเป็นและความสำคัญ แต่มองว่ารอได้ จึงขอให้รอการพิจารณาของสภาคองเกรส ที่คาดว่าจะใช้เวลาข้ามปี แม้กองทัพอากาศจะระบุข้อมูลว่าการจัดซื้อครั้งนี้พ่วงไปกับประเทศอื่น ๆ ที่จะได้ส่วนลดพิเศษที่ถูกลง อนุกรรมาธิการฯ จึงขอปรับเลื่อนเพื่อรอคำยืนยันจากสหรัฐฯ ว่าจะขายให้หรือไม่ เบื้องต้นกองทัพอากาศขอจัดซื้อ 2 ลำ ราคากว่า 700 ล้านบาท ไม่ใช่ 7,000 ล้านบาท หรือ 4 ลำตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้” นายสรวุฒิ กล่าว

ส่วนกรณีที่กองทัพอากาศจะยื่นอุทธรณ์ของบประมาณจัดซื้อเครื่องบินรบดังกล่าว สรวุฒิ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะโต้แย้ง ซึ่งเมื่อปรับลดในชั้นอนุกรรมาธิการฯ แล้ว จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ และอาจจะเรียกให้กองทัพอากาศมาชี้แจงอีกครั้ง  ซึ่งคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป

สรวุฒิ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณางบประมาณของเหล่าทัพอื่น ๆ บางส่วนยังรอการพิจารณา เนื่องจากเอกสารเรียบร้อย โดยกองทัพบกจะนำเอกสารมาเสนอในวันพรุ่งนี้(27 ก.ค.)

ด้าน อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพเรือปรับลดงบประมาณการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เรือดำน้ำ 200 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเครื่องยนต์ที่จะได้ข้อยุติ 9 ส.ค.นี้ กรรมาธิการจึงเห็นว่ายังไม่ควรอนุมัติงบดังกล่าว