Skip to main content

ยูนิเซฟ เผยสถานการณ์เด็กในประเทศไทยยังน่าห่วง โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยมีอัตราการเข้าเรียนลดลงติดต่อกันหลายปี รวมถึงยังมีเด็กจำนวน 1 ใน 4 ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นำเสนอข้อมูลสถานการณ์เด็กและสตรีของไทยล่าสุดปี 2565 ในงานสัมมนาหัวข้อ "เสริมพลังอนาคตไทย: บทบาทสภาผู้แทนราษฎรต่อการยกระดับการลงทุนเพื่อเด็กในประเทศไทย" ที่รัฐสภาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยรายงานดังกล่าวจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับยูนิเซฟ

ยูนิเซฟ เผยว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาอัตราการเข้าเรียนระดับปฐมวัยของเด็กไทยลดลงมาโดยตลอด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความพร้อมและพัฒนาการของเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก 1 ใน 4 คนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กๆ โดยเฉพาะในขวบปีแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาไปตลอดช่วงชีวิต

ยูนิเซฟ ระบุว่า ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ จะมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าในระยะยาว ขณะที่ดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ชี้ว่า เด็กไทยที่เกิดในวันนี้จะเติบโตและมีผลิตภาพได้เพียงร้อยละ 61 เมื่ออายุครบ 18 ปี แต่หากประเทศไทยลงทุนเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีโอกาสเพิ่มผลิตภาพได้อีกถึงร้อยละ 39

คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนในเด็กนอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด

“เราทุกคนรู้ดีว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากร อัตราการเกิดที่ลดลงและการเป็นสังคมผู้สูงอายุอาจเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้น การลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และการคุ้มครองทางสังคม ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กที่เกิดใหม่มีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดีและเติบโตขึ้นอย่างมีศักยภาพในการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับประเทศไทยอีกด้วย” ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าว

ผู้อำนวยการยูนิเซฟระบุด้วยว่า ผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนของประชาชนซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่กำหนดอนาคตของชาติ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของเด็กไทยได้อย่างมหาศาล

ทางด้าน เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนากล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทสำคัญในจัดสรรงบประมาณและติดตามการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งงานสัมมนาที่จัดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลว่าตอบโจทย์ความท้าทายที่เด็กไทยเผชิญอย่างไร

เรอโน กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้พัฒนาเครื่องมือหลายอย่างที่สนับสนุนให้สมาชิกรัฐสภาใช้บทบาทของตนในการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย ไปจนถึงการติดตามงบประมาณด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายการพัฒนาประเทศจะสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน