Skip to main content

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ พล.ต.ฐกัด หลอดศิริ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณใต้ทางด่วนถนนประดิษฐ์มนูธรรม (บึงพระราม 9) เขตห้วยขวาง ว่า กรุงเทพมหานคร ได้รับความกรุณาจากกองทัพบกและท่านนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การนำทหารมาช่วยดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งวันนี้ทางรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้กรุณามาประสานงานในรายละเอียดในเรื่องที่นำทหารมาช่วยดูแล ซึ่งมี 4 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือการดูแลขยะตามสถานีสูบน้ำหลัก เช่น อุโมงค์พระราม 9 ที่เชื่อมระหว่างคลองแสนแสบกับคลองลาดพร้าว อุโมงค์ระบายน้ำพระโขนง ซึ่งมีขยะชิ้นใหญ่มาติดทำให้การระบายน้ำได้ช้าลง เรื่องที่ 2 คือขยะที่วางอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เมื่อฝนตกหนักขยะก็กระจายออกมาอุดตามเส้นเลือดฝอยต่างๆ ซึ่งได้ประสานส่งกำลังพลเข้ามาช่วยดูแลขยะในพื้นที่ เพื่อให้น้ำได้ไหลลงได้เร็วขึ้น 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 3 คือการขุดลอกคลอง ซึ่งได้ดำเนินการมา 1 เดือนแล้ว แต่เรามีทรัพยากรจำกัด ปัญหาหลักๆ คือคลองลาดพร้าว ที่ต้องรับน้ำจากด้านเหนือลงมาที่อุโมงค์คลองแสนแสบ ปัจจุบันตื้นเขินอยู่ ต้องขุดให้มีความลึกมากกว่านี้ เพื่อให้น้ำสามารถไหลได้เร็วขึ้น ทางทหารได้ส่งเรือมาช่วย โดยมีการกำหนดจุดแล้วว่าด้านเหนือตั้งแต่วัดบางบัวทหารรับผิดชอบไป ส่วนด้านใต้กทม.จะดำเนินการขุดลอก เรื่องที่ 4 กรณีเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ อย่างเช่น เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเกิดน้ำท่วมขัง ประชาชนเดินทางลำบาก ทหารก็พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องรถที่ช่วยขนคน อย่างปัญหาที่เราพบบริเวณหน้างานคือ ประชาชนกลับบ้านไม่ได้ เดินทางยาก ในซอยก็เข้าลำบาก มอเตอร์ไซค์ก็วิ่งไม่ได้ มีประชาชนตกค้างอยู่เยอะ ทางทหารก็จะมาช่วยประสานงาน เอาอุปกรณ์เครื่องมือมาช่วย รวมทั้งมาประจำการที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ต่อไปการประสานงานก็จะสะดวกราบรื่นมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตำรวจจราจร มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เป็นการประสานงานกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะบรรเทาลง 

ด้านรองแม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวด้วยว่า กองทัพบก โดยแม่ทัพภาคที่ 1 ได้มอบหมายให้หน่วยทหารที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ให้การสนับสนุนกรุงเทพมหานคร เพราะเรามีกำลังทหารในพื้นที่ พร้อมให้การสนับสนุนกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ยินดีและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ทั้งเรื่องของน้ำท่วม อำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร ช่วยเหลือประชาชนด้านอุทกภัยต่างๆ 

“สำหรับสถานีสูบน้ำพระโขนง ซึ่งเป็นส่วนปลาย แบ่งเป็น 2 ส่วน มีระบบสูบน้ำแบบปกติและแบบอัตโนมัติ เปิดใช้งานมากว่า 30 ปีแล้ว กำลังสูบรวม 155 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อีกส่วนคืออุโมงค์ส่งน้ำ รับน้ำเข้าส่งน้ำออก กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หาก 2 ส่วนรวมกันจะมีกำลังสูบเท่ากับ 215 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในส่วนของปัญหาที่เกิดก็คือ มีขยะเข้ามาติดตรงกระแกรง เป็นขยะชิ้นใหญ่ ตรงอุโมงค์ขยะไม่ได้เข้า ต้องมาดักที่คลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบ ตรงพระราม 9 ซึ่งเป็นจุดที่รับน้ำเข้าอุโมงค์ ขยะก็จะมี 2 จุด คือตรงพระราม 9 อีกจุดคือตรงพระโขนง เราต้องดูแลไม่ให้มีขยะมาอุดตัน ขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะชิ้นใหญ่ ขยะชิ้นเล็กเพียงชิ้นเดียวก็ทำให้ท่ออุดตันได้” ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย