Skip to main content

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5ในโอกาสครบ5เดือนสูญเสียหมอกระต่าย พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” และมอบสื่อประชาสัมพันธ์ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” 

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ใน กทม. พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงถึงปีละ 8-900 ราย ข้อมูลของ บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ช่วง 4 เดือนของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) มีคนเดินถนนใน กทม.เสียชีวิต 28 ราย

สุรชัย กล่าวว่าได้ยื่นข้อเสนอให้กทม. 3 ด้าน คือ1ด้านการบริหารจัดการโดยกำหนดให้มีตัวชี้วัดเรื่องความปลอดภัยทางถนนในทุกเขต 2.ด้านมาตรการด้านถนนและทางม้าลายมาตรฐาน-ปลอดภัย 3.ด้านสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ว่า กทม.จะปรับปรุงทางม้าลายทั้งหมดด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 

ด้านชัชชาติ  กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นไฟไหม้ฟาง 1-2เดือนแล้วหายไป ทั้งนี้ข้อเสนอจะนำไปบรรจุในแผนดำเนินการ และทำการวิเคราะห์สาเหตุอุบัติเหตุเพื่อจัดทำจุดเสี่ยงต่อไป โดยกทม.จะส่งผลงานการปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยทางถนนทุกเดือน ทั้งนี้ กทม.มีทางม้าลายอยู่ 3,000 กว่าแห่ง ในเบื้องต้นจะแก้ปัญหาทางกายภาพก่อน จะตัองมีไฟส่องสว่าง มีไฟกระพริบและจัดทำป้ายกำหนดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. 

โดยได้หารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว(บชน.) เพราะ บชน.เป็นผู้มีอำนาจให้ กทม.ปักป้ายได้ นอกจากนี้จะพิจารณาการทำทางข้าม โดยติดตั้งลิฟต์เพื่อรองรับการข้ามถนนของผู้สูงอายุด้วย อย่างไรก็ตามกทม.ตั้งเป้าการตายบนถนนเป็น 0 ภายใน 4 ปีโดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามเรื่องความปลอดภัยบนถนนต้องทำแบบซอฟต์พาวเวอร์ด้วย คือการสร้างจิตสำนึกและรณรงค์
 
ด้าน รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ ได้ติดตามสถานการณ์และสำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดในกทม. และสำรวจพฤติกรรมการใช้ความเร็วบริเวณทางม้าลาย พบว่ามีถึง 79% ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนถึงทางม้าลาย เป็นรถจักรยานยนต์ถึง 90% รองลงมาคือรถยนต์และรถโดยสาร รวมถึงได้สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มผู้ขับขี่ไรเดอร์ในเขต กทม. พบว่า 38% ผ่าไฟแดง 11% ขับรถด้วยมือข้างเดียว ในขณะที่มืออีกข้างถือโทรศัพท์ หรือถือถุงอาหาร ซึ่ง 1 ใน 3 พบหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย 

ขณะที่ 56% จอดล้ำทางม้าลาย-เส้นแนวหยุด  กิจกรรมในวันนี้ได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อเน้นย้ำและสานต่อความตั้งใจสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งนี้จะพัฒนาโมเดลต้นแบบใน 8 พื้นที่ชุมชนกทม.และโรงเรียนนำร่องสร้างกลไกความร่วมมือ

ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า การแสดงเจตนารมย์ขององค์กรภาคีเครือข่ายในการลดการเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ต่อผู้ว่าฯ กทม.วันนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจกับปัญหา รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน ทำให้เชื่อได้ปัญหาคน รถ ถนน จะลดลงไป เพราะใน 1 ปี กทม.มีผู้บาดเจ็บจากการเดินเท้าสูงถึง 800 คน  ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งในอนาคต กทม.อาจจะเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาชนคนข้ามทางม้าลาย แม้จะปรับปรุงทางให้เด่นชัดอย่างไรก็ตาม ต้องมีตัวช่วยด้วย เช่น ป้ายหรือสัญญาณไฟเตือน จะช่วยเพิ่มความระมัดระวังและข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นด้วย