Skip to main content

 

การศึกษาล่าสุด เผยว่า การอดนอนเพียงแค่เพียงคืนเดียว อาจส่งผลสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่นำไปสู่ภาวะต่างๆ เช่น น้ำหนักตัวเกิน การป่วยเป็นเบาหวาน และกระทั่งการเกิดโรคหัวใจ

การศึกษาครั้งใหม่ของ สถาบันโรคเบาหวานดาสมาน ในประเทศคูเวต ศึกษาถึงการอดนอนว่า ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอย่างไร โดยตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของ “โมโนไซต์” หรือเม็ดเลือดขาวชนิดที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงศึกษาว่ามีความเกี่ยวข้องกับอาการอักเสบเรื้อรังอย่างไร

นักวิจัยรับสมัครอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ซึ่งมีดัชนีมวลกายต่างๆ กันจำนวน 276 คน โดยทำการศึกษารูปแบบการนอน และตรวจจับระดับโมโนไซต์ในเลือด และเครื่องหมายของอาการอักเสบ

การศึกษาพบว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน มีคุณภาพการนอนหลับที่ต่ำกว่าอาสาสมัครที่มีรูปร่างผอมกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีภาวะอักเสบเรื้อรังในระดับต่ำที่มากกว่า รวมไปถึงมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด 'non-classical monocytes' หรือชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายในปริมาณที่มากกว่า ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีกับการเพิ่มขึ้นของสารกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย

นักวิจัยยังเก็บตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคที่เข้าร่วม ซึ่งมีรูปร่างผอมและสุขภาพดี 5 คน ตลอด 24 ชั่วโมงของการอดนอน และเปรียบเทียบกับตัวอย่างเลือดหลังจากที่พวกเขาได้นอนหลับเต็มที่เป็นเวลาหลายวัน

นักวิจัยพบว่า การอดนอนเพียง 24 ชั่วโมง สามารถทำให้คุณสมบัติของโมโนไซต์ในอาสาสมัครที่มีรูปร่างผอมเปลี่ยนไปคล้ายกับโมโนไซต์ของคนที่มีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งนักวิจัยระบุว่า การอดนอนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง

“การค้นพบของเราเน้นย้ำว่า กำลังมีความท้าทายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น จากความล้ำหน้าของเทคโนโลยี การที่คนใช้เวลากับหน้าจอที่ยาวนาน และรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปกำลังรบกวนเวลาการนอนหลับตามปรกติของเรา ซึ่งการรบกวนการนอนหลับนั้น เกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและคุณภาพชีวิตโดยรวม” ฟาตีมา อัลราเชด นักวิจัยสถาบันโรคเบาหลานดาสมานกล่าว

นักวิจัยกล่าวว่า พวกเขากำลังมองหาวิธีที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ เช่น การบำบัดการนอน หรือการลดการใช้เทคโนโลยีก่อนนอน เพื่อดูว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบจากการอดนอนได้หรือไม่

“ในระยะยาว เราตั้งเป้าสำหรับงานวิจัยนี้ถึงการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ในระบบสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการนอนหลับ” ฟาตีมากล่าว

นักวิจัยคาดหวังที่จะเห็นการปฏิรูปในสถานที่ทำงาน และการรณรงค์ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการนอนหลับที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการถูกรบกวนการนอนหลับจากการใช้เทคโนโลยี และการถูกเรียกร้องเวลาจากหน้าที่การงาน

“ท้ายที่สุด การดำเนินการเหล่านี้อาจช่วยลดภาระของโรคที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้” ฟาตีมากล่าว


ที่มา
Losing Just One Night's Sleep Changes Your Immune System, Study Finds