Skip to main content

 

งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุด พบว่าการเข้าสังคมมากขึ้น ด้วยการใช้เวลากับเพื่อนๆ ไปร่วมงานปาร์ตี้ หรือไปวัด มีส่วนช่วยทำให้สมองแข็งแรงและช่วยลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมให้น้อยลง

งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดจาก Rush University Medical Center ระบุว่า การเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างต่อเนื่องช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญ หรืออาจช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมองได้นานถึง 5 ปี

การศึกษาที่ดำเนินการโดยนักประสาทวิทยาและได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s & Dementia: The Journal of the Alzhemier’s Association พบว่า บุคคลที่พบปะกับเพื่อนฝูง ครอบครัว และกลุ่มคนในชุมชนบ่อยครั้ง จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมช้าลง เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ค่อยเข้าเข้าสังคมสักเท่าไร โดยนักวิจัยเชื่อว่าปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจะช่วยกระตุ้นสมอง เสริมสร้างการรับรู้ และลดความเสี่ยงของโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์

“การศึกษาชิ้นนี้เป็นการติดตามผลในรายงานชิ้นก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้ในผู้สูงอายุ โดยเราแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางสังคมสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น และโดยเฉลี่ยแล้วผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยเข้าสังคมมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนผู้สูงอายุที่เข้าสังคมบ่อยครั้งประมาณ 5 ปี” ไบรอัน เจมส์ รองศาสตราจารย์ด้านอายุรกรรมของ Rush กล่าว

แม้ปัจจัยทางพันธุกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตยังมีความสำคัญ แต่กิจกรรมต่างๆ เช่น การออกไปเที่ยวเป็นกลุ่ม การเป็นอาสาสมัคร การไปวัด/ไปโบสถ์ หรือแม้แต่การสนทนาแบบสบายๆ กับกลุ่มเพื่อน เชื่อมโยงกับสุขภาพจิตที่ดีและการทำงานของสมองที่ดีขึ้น โดยกิจกรรมทางสังคมทั้งหลายจะเข้าไปกระตุ้นพื้นที่ในสมองที่เกี่ยวข้องกับการคิดและความทรงจำ

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ผู้สูงอายุจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมทางสังคมให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม ซึ่งการได้ออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คน ไม่ว่าจะที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือที่วัดก็ตาม ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องอารมณ์ของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาวอีกด้วย

 

อ้างอิง
Being social may delay dementia onset by five years
Being Social: A Key to Delaying Dementia Onset by Five Years