ปัจจุบันอาชีพ “บรรณารักษ์” อาจถูกมองว่า น่าเบื่อ และ “ห้องสมุด” ในโลกยุคดิจิทัล อาจถูกมองว่า ตกยุค แต่ทว่า บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดสาธารณะในสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้อาชีพของพวกเขา รวมถึงห้องสมุด และการอ่านกลับมาเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล
เรื่องราวของ เจน มิลเลอร์ และ เฮเธอร์ เกรซ ถูกนำเสนอผ่านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น จากบทบาทบรรณารักษ์ “ติ๊กต๊อกเกอร์” ซึ่งเรียกตัวเองว่า “LibraryTok” ในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่าน TikTok เพื่อส่งเสริมความบทบาทสำคัญของห้องสมุดที่มีต่อชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการรักหนังสือและการอ่าน
เจน มิลเลอร์ บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดสาธารณะเมืองมิลวอกี้ และเป็น “ติ๊กต๊อกเกอร์” มีผู้ติดตามแอคเคาน์ Meet Me in the Media Center ของเธอบน TikTok เกือบ 7 แสนคน โดยที่ผู้ชมและผู้ติดตามร้อยละ 84 เป็นคนรุ่นใหม่อายุ 18 ถึง 34 ปี
เจน ซึ่งไม่เคยใช้โซเชียลมีเดียมาก่อน จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ปี 2022 เธอกับเพื่อนร่วมงาน เดเร็ก ไรลีย์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลของห้องสมุด และ อีวาน ซิมคอมสกี้ เจ้าหน้าที่บัญชีของห้องสมุด ร่วมกันเปิดแอคเคาน์ TikTok ใช้ชื่อว่า milwaukeepubliclibrary และโพสต์คลิปวิดีโอแรก ล้อเลียนพฤติกรรมประหลาดของบรรณารักษ์ที่เห็นคนมาใช้บริการค้นหาหนังสือที่ห้องสมุด มียอดวิว 16,000 ครั้ง หลังจากผ่านไป 1 ปี ผู้ติดตามแอคเคาน์ Milwaukee Public Library เพิ่มเป็นจำนวนขึ้นเป็นหลักแสนคน
นับจากที่เริ่มใช้ TikTok เจนสามารถดึงดูดผู้ชมให้เพลิดเพลินไปกับการดูเธอทำหน้าที่บรรณารักษ์ เช่น การซ่อมหนังสือที่เสียหายอย่างร่าเริงที่กลายเป็นไวรัลในเวลาต่อมา หรือการตรวจหนังสือกองพะเนินเทินทึกที่ส่งคืนเกินกำหนด การแกะกล่องของได้รับบริจาคจากผู้ติดตาม
การแบ่งปันเรื่องราวที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับงานของบรรณารักษ์ เป็นมนต์ขลังในคอนเทนต์ประจำวันของเจน และยังสะท้อนถึงการโหยหาอดีตของผู้ชมและผู้ติดตามให้คิดถึงช่วงวันเวลาเก่าๆ ที่พวกเขายังสะพายเป้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
หลังจากคลิปวิดีโอซ่อมหนังสือกลายเป็นไวรัล เจนเล่าว่า เริ่มมีคอมเมนต์และข้อความส่งเข้ามา โดยคนจำนวนมากบอกว่า อยากเป็นบรรณารักษ์ หรือไม่ก็ได้รับแรงบันดาลใจให้ไปทำบัตรห้องสมุดที่ห้องสมุดประชาชน หรือบริจาคเงินเพื่อซื้อคอลเลกชั่นหนังสือใหม่ให้ห้องสมุดของโรงเรียน
เจนบอกว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีรำลึกถึงห้องสมุดในโรงเรียนของพวกเขา และสนุกกับการที่ได้ดูเธอกับหนังสือที่พวกเขาเคยอ่านอย่างเพลิดเพลินตอนสมัยเรียนชั้นมัธยม
LibraryTok ซึ่งเปิดตัวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด นีล อัลเบรช์ท ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของชุมชน ห้องสมุดสาธารณะมิลวอกี้ บอกว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบกับอย่างมากกับการมาห้องสมุดของประชาชน ถึงแม้จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่การกลับมาใช้บริการห้องสมุดยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ
เฮเธอร์ เกรซ บรรณารักษ์ติ๊กต๊อกเกอร์ประจำห้องสมุดของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัส แอคเคาน์ของเธอที่ชื่อว่า The Contoured Librarian มีผู้ติดตาม 4.8 แสนคน
เฮเธอร์บอกว่า ชุมชนของ LibraryTok เป็นพื้นที่ปลอบประโลมใจช่วยให้เธอผ่านช่วงที่เผชิญวิกฤต และช่วงเวลาที่หมดหวังสิ้นกำลังใจไปได้ ซึ่งรวมถึงการที่ห้องสมุดโรงเรียนขาดงบประมาณ และคำสั่งแบนหนังสือภายในรัฐเท็กซัสซึ่งเธออาศัยอยู่
“คุณจะเห็นว่าห้องสมุดต่างๆ เริ่มทยอยกันปิดตัวลงเพราะไม่มีงบดำเนินการ หรือมีประเด็นเรื่องหนังสือถูกแบน มันจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับห้องสมุดที่จะทำให้เกิดการถกกันถึงบทบาทของมัน” นีลกล่าว
สมาคมห้องสมุดอเมริกัน เผยว่า จำนวนของหนังสือที่ถูกแบน หรือถูกห้ามอ่านกำลังเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในรัฐเท็กซัสและฟลอริด้า ในปี 2023 ทั่วสหรัฐมีหนังสือจำนวน 4,240 เล่มที่เป็นเป้าของการถูกนำออกจากห้องสมุดสาธารณะและห้องสมุดของโรงเรียน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มีการสั่งห้ามหนังสือจำนวน 2,571 เล่ม
ข้อมูลจาก PEN อเมริกา องค์กรไม่แสวงกำไรที่ปกป้องเสรีภาพในการเขียนระบุว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคมปี 2021 ถึงธันวาคม 2023 มีหนังสือมากกว่า 1,500 เรื่องที่ถูกสั่งห้ามในรัฐเท็กซัส และทั่วประเทศมีหนังสือเกือบ 10,000 เล่มถูกสั่งห้าม โดยร้อยละ 37 มีเนื้อหาเกี่ยวกับเชื้อชาติ การเหยียดเชื้อชาติและสีผิว ร้อยละ 36 เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ
หลังจากมีผู้ติดตามมากขึ้น เจนเริ่มทำซีรีย์ “Library Love” เพื่อให้บรรณารักษ์ห้องสมุดอื่นๆ ทั่วประเทศสามารถขอรับบริจาคสิ่งของ เช่น หนังสือภาพ โต๊ะ อุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งประสบความสำเร็จ มีผู้ติดตามนำสิ่งของตามรายการที่ขอมามอบให้กับห้องสมุด 7 แห่ง
เฮเธอร์บอกว่า มีผู้ติดตามของเธอเข้าร่วมกับ library love เมื่อเธอนำเสนอเรื่องราวที่โรงเรียนว่า ในแต่ละปีมีนักเรียนจำนวนมากไม่สามารถไปร่วมงานเทศกาลหนังสือ Scholastic Book Fair ทำให้มีการบริจาคเงินเข้ามา ซึ่งช่วยให้นักเรียนของเธอสามารถเดินทางไปร่วมงานเทศกาลหนังสือและซื้อหนังสือภายในงานได้ นอกจากนี้ ยังมีบรรณารักษ์และครูคนอื่นๆ ที่รณรงค์รับบริจาคเงินให้กับเด็กนักเรียนเพื่อให้สามารถเดินทางไปร่วมงานเทศกาลหนังสือดังกล่าวด้วย
LibraryTok ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงคนที่รักห้องสมุดรายใหม่ๆ โดยอายุเฉลี่ยของคนที่ติดตามห้องสมุดสาธารณะมิลวอกี้อยู่ที่ 34 ปี ซึ่ง LibraryTok ไม่ได้เข้าถึงเฉพาะแต่คนในท้องถิ่น แต่ยังสร้างโอกาสให้เกิดชุมชนภายในห้องสมุดสาธารณะมิลวอกี้ รวมถึงสร้างการเชื่อมต่อในระดับเมืองและระดับประเทศด้วย
เจน บอกว่า เธอสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมที่เป็นรุ่นใหม่ผ่านทางแอคเคาน์ TikTok ของเธอ โดยร้อยละ 84 ของผู้ชมของเธออายุ 18 ถึง 34 ปี สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมห้องสมุดอเมริกันในปี 2023 ที่ระบุ คนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซี มากกว่าร้อยละ 54 มาใช้บริการห้องสมุด
ขณะที่ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัย Pew ระบุว่า ประชากรในสหรัฐที่อายุ 18 ถึง 34 ปี มากกว่าครึ่งนิยมใช้ TikTok การที่บรรณารักษ์อย่าง เจน มิลเลอร์ ปรากฏตัวอยู่บน TikTok จึงอาจช่วยให้จำนวนของผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดในโลกจริงเพิ่มมากขึ้นได้
“ฉันแค่อยากให้นักเรียนรักการอ่าน และอยากมีพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกต้อนรับพวกเขาตอนที่เดินเข้ามา ฉันไม่อยากให้นักเรียนกลัวการถูกปรับเงินเพราะคืนหนังสือช้า ฉันไม่อยากให้พวกเขากลัวการมาห้องสมุดเพราะทำหนังสือเสียหาย ฉันแค่อยากให้พวกเขาเข้ามาด้วยความรู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัย” เจนกล่าว
“คนที่ทำอาชีพบรรณารักษ์ห้องสมุดต่างปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้พลังของแฟลตฟอร์มอย่างเช่น TikTok ในการพิสูจน์ LibraryTok ทำให้ผู้ชมเห็นถึงหนังสือต่างๆ ที่ทางห้องสมุดได้จัดเตรียมเอาไว้ไห้ และยังช่วยเตือนถึงบทบาทสำคัญของห้องสมุดที่มีต่อชุมชน” ซินดี้ ฮอห์ล ประธานสมาคมห้องสมุดอเมริกันกล่าว
อ้างอิง
LibraryTok is the Place for Feel-Good Book Connections
‘LibraryTok’ is building school-age nostalgia on the internet. Fans can’t get enough