Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ในช่วงหลังๆ ถ้าใครตามข่าวการเงินฝั่งอเมริกา ก็จะเห็นว่าภาพของ Baby Boomer เริ่มเปลี่ยนจากคนรุ่นที่ "สุขสบาย" เพราะได้ทำงานในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู กลายเป็นคนแก่ที่ดู "ไร้อนาคต" เกษียณแล้วเงินไม่พอใช้ต้องกลับมาทำงาน และหลายๆ คนเคยมีบ้านตามประสาอเมริกันดรีม สุดท้ายก็ต้องขายบ้านทิ้ง เพราะเงินไม่พอใช้

แน่นอน คำอธิบายพื้นฐานก็คือ ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในอเมริกาช่วงโควิด ทำให้เหล่าคนเกษียณที่มีรายได้คนที่มีกำลังซื้อมีเงินไม่พอใช้ เลยต้องกลับมาทำงาน ส่วนการขายบ้านทิ้งก็มักจะถูกอธิบายว่า มาจากการเจ็บป่วยร้ายแรง ต้องการค่ารักษา ค่าพักฟื้นที่ประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม เงินก็ไม่มี สุดท้ายก็ต้องขายบ้านเอาเงินมารักษาตัว ไม่ก็เอาบ้านไปจำนองแล้วสุดท้ายโดน "ธนาคาร" ยึดเพราะไม่มีเงินใช้หนี้

แต่จริงๆ แล้ว ในบริบทอเมริกาสิ่งที่ต้องเข้าใจมีมากกว่านั้น เพราะ "ต้นทุน" ของการมีบ้านมันมหาศาล ในระดับที่คนที่พูดว่า "บ้าน คือ ภาระ" เค้าก็น่าจะไม่ได้พูดอะไรผิด

ต้องเข้าใจก่อนว่าในอเมริกา การถือครองบ้านและที่ดิน ต้องเสีย ภาษีบ้านและที่ดิน (Property Tax) ให้รัฐแบบเป็นรายปีเสมอ นี่คือมาตรฐานปกติของโลกตะวันตก ไม่มี "ข้อยกเว้น" ว่าบ้านที่อาศัยไม่ต้องเสียภาษี บ้านทุกหลังต้องจ่ายภาษีเข้าท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่นเอามาพัฒนาสาธารณูปโภค ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากคนอยู่ในคอนโดหรือหมู่บ้านต้องจ่าย "ค่าส่วนกลาง" โดยค่าส่วนกลางของแต่ละรัฐในอเมริกาก็จะมีตั้งแต่ 0.5-2.0% ของ "ราคาประเมิน" ของบ้าน

ดังนั้นในแง่นี้ ถ้าบ้านราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ภาษีบ้านและที่ดินที่ผู้อยู่อาศัยต้องจ่ายก็จะแพงขึ้นทุกปี และอยากให้นึกสภาพว่าคนเกษียณ มีรายได้คงที่จากเงินบำนาญ เจอภาษีบ้านและที่ดินแพงขึ้นทุกปี เค้าจะเอาเงินที่ไหนจ่าย?

แต่ภาษีบ้านและที่ดินก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่คนอเมริกันเจอ เพราะสิ่งที่จะเจอเช่นกันคือ "เบี้ยประกันภัยบ้าน"

ในอเมริกา แม้ว่าตามกฎหมายบ้านจะไม่มีประกันอุบัติภัยก็ได้ แต่คนอเมริกันไม่ได้ซื้อบ้านเงินสด ปกติจะผ่อนเอา และถ้าผ่อน ปกติสถาบันการเงินผู้ให้กู้เงินมาซื้อบ้านก็จะบังคับให้ทำประกันภัยด้วยเพื่อประกันความเสี่ยง ผลคือคนอเมริกันก็จะเคยชินกับการซื้อประกันภัยบ้านจนคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่ากฎหมายจะบังคับหรือไม่

หลังๆ ในภาวะโลกรวน อเมริกาเจอทั้งพายุจากมหาสมุทรและไฟป่าจากภูเขา พวกเบี้ยประกันภัยเริ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่ก็กลับมาคำถามเดิมว่า สำหรับคนเกษียณแล้ว รายได้ไม่มีเพิ่ม ถ้าโดนขึ้นเบี้ยประกันภัย พวกเค้าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย?

และสุดท้าย สิ่งที่ขึ้นอย่างโหดกับภาวะเงินเฟ้อโดยรวมๆ คือ ค่าบำรุงรักษาบ้าน

ทั่วๆ ไป สูตรการคำนวณค่าบำรุงรักษาบ้านเค้าจะเรียกว่า 1% Rule หรือให้เตรียมเงินไว้คร่าวๆ 1% ของราคาบ้าน เพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาทุกปีในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ในรายละเอียด หลายคนก็จะรู้ว่า 1% อาจไม่พอ แต่มันเป็นอัตราต่ำสุดที่ต้องเสีย เพราะบ้านบางหลังค่าบำรุงรักษาสูงถึง 3-4% เลย ทั้งหมดก็ขึ้นกับวัสดุและสภาพภูมิอากาศรอบๆ บ้าน

แต่ในทางปฏิบัติหลายคนก็จะไม่เตรียมเงิน และปัญหาโลกแตกของคนเกษียณจำนวนมากก็คือ ไม่มีใครเตรียมเงินเอาไว้ "ซ่อมบ้าน" ทั้งที่จริงๆ บ้านที่ซื้อมาในวัย 20 ปี 30 ปี (หรือกระทั่ง 40) กว่าจะเกษียณก็ถึงรอบต้องรีโนเวทใหญ่แล้ว พวกงานระบบอะไรมันเสื่อมหมดแล้ว สายไฟก็จะเริ่มเปื่อย ท่อประปาก็จะเริ่มร้าว ซึ่งนั่นก็ต้องใช้เงินเยอะ คนเกษียณที่เงินจะใช้ก็ไม่พออยู่แล้วไม่มีเงินหรอก และก็ต้องทนอยู่บ้านที่ทรุดโทรมกันไป

ปัญหาคือ บ้านที่ทรุดโทรมทุกอย่างก็จะเริ่มพังมาทีละอย่าง และทำให้ผู้อยู่อาศัยก็ต้องจ่ายเงินซ่อมอยู่ดี ซึ่งค่าซ่อมบ้านในยุคหลังโควิดคือ “โหดมาก" ไม่ว่าจะค่าอุปกรณ์หรือค่าแรง ซึ่งก็กลับมาคำถามเดิม คนเกษียณที่มีรายได้จำกัด จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย?

นี่เลยทำให้ภาพของคนรุ่น Baby Boomer อเมริกันที่เกษียณสบายๆ นอนอยู่บ้านเป็นภาพที่ไม่จริง เพราะคนส่วนใหญ่ต้องทนอยู่ในบ้านที่ค่อยๆ พังเพราะไม่มีเงินรีโนเวทใหญ่ ซึ่งมูลค่าบ้านที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และภัยธรรมชาติที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ทั้งภาษีบ้านและเบี้ยประกันภัยบ้าน กลายมาเป็นภาระค่าใช่จ่ายที่ "เกินตัว" ไปเรื่อยๆ

แน่นอนว่า ใครที่มีบ้านแล้วก็ไม่อยากเสียมันไป แต่ถึงจุดหนึ่งมันก็มีจริงๆ การมีบ้านนั้นดูด "เงินเกษียณ" ไปจนเกลี้ยง และทำให้เจ้าของบ้านจำใจต้องขายบ้านเพราะรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ไหว ซึ่งพอไม่มีบ้าน ถ้าเจออุบัติเหตุทางการเงินไปอีกที หรือแค่บริหารเงินพลาด จาก Baby Boomer ที่เพียบพร้อมด้วยทุกอย่างที่พึงจะมีตามมาตรฐานอเมริกันดรีมยุคหลังสงครามโลก ก็อาจกลายเป็นคนไร้บ้านไปได้โดยง่าย

ทั้งหมดนี้ จะบอกว่าเป็นปัญหาของสังคมปัจเจกนิยมทุนนิยมสุดขั้วของอเมริกาก็ได้ เพราะสังคมนี้ไม่มีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมใดๆ และปล่อยให้ "ตลาด" จัดการทุกอย่างหมด และนั่นหมายถึงถ้า "เงินหมด" ก็จะจัดการอะไรไม่ได้เลย

บางคนอาจบอกว่าในกรณีของไทย "คนแก่" เราไม่เป็นแบบนี้แน่ๆ เพราะนอกจากเราจะมีข้อยกเว้นภาษีบ้านและที่ดินสำหรับ "บ้างหลังที่เจ้าของอยู่อาศัยเอง" แล้ว ทั่วๆ ไปคนไทยก็ไม่จ่ายค่าประกัน ดังนั้น "ต้นทุนการมีบ้าน" ของเรามันถูกมาก จนน่าจะยากจะมีใครจะยอมขายง่ายๆ

แต่ก็อย่าชะล่าใจไป เพราะระบบประกันรายได้ผู้สูงอายุของไทยเราแย่กว่าอเมริกามาก (ซึ่งอเมริกาก็ถือว่าแย่มากถ้าเทียบกับยุโรป) ดังนั้น คนแก่ๆ ไปโอกาส "ไม่มีเงินใช้" นี่สูงมาก และพวกธนาคารก็เตรียมโครงการ "สินเชื่อจำนองย้อนกลับ" อะไรพวกนี้กันมาแล้ว โดยสินเชื่อพวกนี้คอนเซ็ปต์ก็คือ ธนาคารจะให้ "บำนาญ" กับคนแก่ที่เอาบ้านไปค้ำประกันเรื่อยๆ จนคนแก่เสียชีวิต ธนาคารก็จะยึดบ้านถอนทุน

ปัญหาคือ เมืองไทยไม่ค่อยมีสินเชื่อพวกนี้แบบที่จะจ่ายไปยาวๆ และทั่วไปจะไปจบที่อายุ 80 ปี ซึ่งนั่นคือเกินอายุขัยเฉลี่ยก็จริง แต่ปัญหาคือ ถ้ามีคนแก่อายุ 60 เข้าโครงการนี้ และได้เงินใช้เรื่อยๆ จนถึงอายุ 80 แต่ดันไม่ตาย ตอนนั้นก็จะโดนธนาคารยึดบ้าน และบำนาญก็จะไม่ได้ ก็จะกลายเป็นคนไร้บ้านยากจนไปในที่สุด

สังคมไทยจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต แต่ประเด็นคือ มันก็อาจเป็นการมองโลกในแง่ดีเงินไป ถ้าคิดว่าเราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ เพราะ Baby Boomer อเมริกาทุกคนในช่วงวัยกลางคนที่ผ่อนบ้านเสร็จสิ้น ก็คงไม่นึกเหมือนกันว่าบั้นปลายตัวเองจะกลับกลายมาเป็น "คนไร้บ้าน" ได้ในที่สุด

 

อ้างอิง
Baby boomer homeowners fear losing their properties as they spend down their savings
Property Taxes by State and County, 2024
Is home insurance required? What homeowners need to know
The Truth About the Annual Cost of Home Maintenance
  

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน