ไม่ใช่เรื่องประหลาดที่คนแก่อเมริกันจำนวนไม่น้อยเริ่มเงินไม่พอที่จะใช้ชีวิต เพราะคนรุ่นนี้อายุยืนกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งถึงเก็บเงินทองทรัพย์สินมาและมีเงินประกันสังคมทุกเดือน ก็อาจไม่พอใช้ เพราะยิ่งแก่ชราไป เงินที่ได้ต่อเดือนก็ยิ่งมีกำลังซื้อน้อยลงเรื่อยๆ เพราะภาวะเงินเฟ้อ และสภาพร่างกายก็แย่ลงทุกทีถึงระดับที่เริ่มดูแลตัวเองไม่ได้เต็มที่ในการใช้ชีวิตประจำวัน
แน่นอน เราอาจได้ยินว่า "ทางออก" ของปัญหานี้ก็คือ การไปอยู่ตามบ้านพักคนชรา ซึ่งหลายคนก็น่าจะรู้อีกว่าบ้านพักคนชราก็มีหลายระดับ มันจะมีแบบที่เรียกว่า Assisted Living ที่จะมีคนค่อยช่วยสแตนด์บายค่อยช่วยเหลืออะไรเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน (เช่น การใส่เสื้อผ้า) กับแบบ Nursing Home ที่เป็นเหมือนสถานพยาบาลเลย เพราะจะมีบุคลากรทางการแพทย์ประจำตลอด ซึ่งแบบนี้จะเหมาะกับคนแก่ที่สภาพร่างกายแย่เต็มทีแล้ว
ประเด็น คือ ทั้งหมดต้อง "ใช้เงิน" ซึ่งถ้าจะให้ประเมินง่ายๆ ก็คือ ถ้าไปอยู่ Assisted Living จะเสียเงินประมาณเดือนละ 100,000 บาทโดยเฉลี่ย ส่วน Nursing Home แบบที่เป็นกิจลักษณะนั้น ถ้าไปอยู่ห้องเดียว เริ่มต้นที่เดือนละ 200,000 บาท และราคาก็จะสูงขึ้นไปตามความหรูหรา
ดังนั้น คิดง่ายๆ ถ้าคนแก่อเมริกันไปอยู่แบบนี้ ก็ต้องเสียเงินขั้นต่ำเดือนละราว 100,000 บาท หรือปีนึงเสียเป็นล้าน แม้ว่าคนอเมริกันรายได้จะสูงและคนได้บำนาญในระดับ 100,000 บาทก็ไม่ได้ถือว่ามากมายอะไร แต่นี่ก็เป็นเงินที่เยอะ
อย่างไรก็ดี มันก็ยังมี "ทางออก" แบบอื่นอยู่
'Granny Pod' กระท่อมหลังน้อยที่สวนหลังบ้าน
เราอาจมีภาพสังคมอเมริกันว่าเป็นเรื่องปกติมากที่ลูกโตแล้ว ก็จะ "แยกมามีครอบครัวเอง" สไตล์ปัจเจกชนนิยม แต่อีกด้าน สังคมอเมริกันตามชนบท มีความ "รักครอบครัว" มาก และการแยกไปอยู่ที่อื่นหลักๆ ไม่ใช่การพยายามจะออกไปให้ไกลพ่อแม่ เท่ากับการต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มี "งาน" ทำ โดยในอเมริกาการย้ายที่อยู่ระดับย้ายรัฐไปทำงานก็เป็นเรื่องปกติ
เอาเข้าจริงๆ คนอเมริกันก็ไม่ได้ถึงกับรังเกียจที่จะอยู่กับพ่อแม่ (ไม่งั้นเทศกาลขอบคุณพระเจ้าทุกปีก็คงไม่กลับไปหาพ่อแม่) มันแค่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนจะต้องซื้อบ้านเป็นของตัวเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เพราะการ "มีบ้านเป็นของตัวเอง" มันเป็นอุดมคติแบบชนชั้นกลางสไตล์อเมริกันดรีม ที่ผลักดันให้ตลาดอสังหาอเมริกาพัฒนาไปได้เรื่อยๆ โดยในอเมริกา ทั่วๆ ไปคนก็จะรู้สึกว่าชีวิตมันสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้ายังไม่เป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวที่มีบริเวณ
แต่อีกด้าน ลักษณะนี้กลายมาเป็น "ทางออก" ของเหล่าประชากรสูงวัยที่มีลูกที่มีบ้านเป็นของตัวเอง
คนเมื่อแก่มาถึงจุดหนึ่ง ก็จะเริ่มยอมรับว่า ต้องการ "คนดูแล" ต่อให้มีบ้านใหญ่แค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับคนที่แก่ถึงจุดนั้น บ้านหลังใหญ่เป็นภาระทัั้งภาษีบ้าน เบี้ยประกันภัย รวมถึงค่าบำรุงรักษาด้วยซ้ำ และถ้าตามข่าว ทุกวันนี้คนอเมริกันแก่ๆ พยายามจะขายบ้านเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็เพื่อปลดเปลื้องภาระพวกนี้
คำถาม คือ ขายบ้านแล้วจะไปอยู่ไหน?
คนอเมริกันรุ่นก่อนๆ จะฮิตไปอยู่ "บ้านพักคนชรา" แบบที่ว่า เพราะก็มักจะมีเงินบำนาญผู้สูงอายุเพียงพอจะจ่าย แต่ปัจจุบันนี้อย่าว่าแต่จะไปอยู่บ้านพักคนชราเลย เงินที่มีต้องกันเอาไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลที่เป็นค่าใช้จ่ายที่โหดจริงๆ สำหรับคนอเมริกันวัยชรา และโดนภาวะเงินเฟ้อช่วงโควิดไปอีก ผลรวมๆ คือ เงินจากเดิมที่สมัยก่อนมากพอจะไปอยู่บ้านพักคนชราก็ไม่พอ หรือถ้าพอ ก็อาจไม่ได้อยู่ "ห้องส่วนตัว" อะไรแบบนี้เป็นต้น
สำหรับคนแก่หลายๆ คนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับลูก ก็อาจเอาประเด็นนี้ไปคุยกับลูกว่าทำยังไงดี แล้วก็คงมีลูกสักคนหัวใส ชวนพ่อแม่มาอยู่บ้านโดย "ปลูกกระท่อม" เล็กๆ เอาไว้ในบริเวณนอกบ้าน ซึ่งแบบนี้ก็คือพ่อแม่ไม่ต้องไปอยู่ไกล และ "ความเป็นส่วนตัว" ของครอบครัวก็จะคงอยู่ด้วย
พอมีคนทำแบบนี้เยอะๆ มันเลยเกิดอุตสาหกรรมสิ่งที่เรียกว่า “Granny Pod” หรือถ้าจะอธิบายง่ายๆ มันก็คือ "บ้านน็อคดาวน์สำหรับผู้สูงอายุ"
ความหมายก็ตามนั้น มันคือสิ่งที่คนไทยรู้จักว่า บ้านน็อคดาวน์น่ะแหละ แต่งานออกแบบและรายละเอียดต่างๆ จะเหมาะกับผู้สูงอายุ ประตูหน้าจะกว้างแบบเป็นมิตรกับคนใช้วีลแชร์ ขอบต่างๆ จะไม่มีคมเลยเพื่อป้องกันอันตรายเวลาล้ม พวกราวจับต่างๆ ก็จะใส่มาเรียบร้อยเพราะรู้ว่ายังไงสักวันผู้สูงอายุก็จะต้องการสิ่งเหล่านี้
สนนราคาของบ้านพวกนี้ในอเมริกาเริ่มประมาณหลังละ 3 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้ถูก แต่ด้านหนึ่งมันก็ทำให้พ่อแม่ที่แก่ชราได้กลับมาใกล้ชิดกับลูกในบั้นปลายชีวิต และถ้าลองประเมินเทียบกับการไปอยู่พวกบ้านพักคนชราแนว Assisted Living ที่ปีๆ นึงต้องเสียเงินเป็นล้านบาทอยู่แล้ว การไปอยู่ใน "กระท่อม" ในรั้วเดียวกับลูกสามปีขึ้นไปก็ "คุ้ม" กว่าการเอาเงินไปเสียเปล่าๆ ให้บ้านพักคนชรา เพราะแบบนี้เสียเงินก็จริง แต่ก็ได้ "บ้าน" มาด้วย
ทางฝั่งลูก สิ่งที่จะได้แน่ๆ คือ การใกล้ชิดพ่อแม่ที่แก่ชรา ส่วนอื่นๆ อาจเป็นดีลเรื่องพวกค่าน้ำค่าไฟที่ใช้ร่วมกัน พ่อแม่ที่อยู่ "กระท่อม" อาจอาสาจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ แลกกับการดูแลของลูกอะไรแบบนี้ ซึ่งการมี "กระท่อม" อยู่ในบ้าน อีกมุมหนึ่งมันก็ทำให้มูลค่าบ้านเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็น "กำไร" ในระยะยาวของฝั่งลูกที่เป็นเจ้าของบ้าน
ทั้งหมดนี้อาจทำให้ภาพของ "ครอบครัวอเมริกัน" ของเราเปลี่ยนไป การที่พ่อแม่แก่ชราย้ายไปอยู่กับลูกในบั้นปลายนั้นไม่ใช่สิ่งที่ฟังดู "อเมริกัน" เลย แต่อะไรพวกนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปตาม "ความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ" ที่รายได้คนแก่ไม่ได้มากมายพอจะสามารถไปอยู่บ้านพักคนชราได้อย่างสบายใจอีกต่อไป เพราะเงินเก็บส่วนหนึ่งก็ต้องกันเอาไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลในระบบอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ "แพง" ที่สุดในโลกอย่างอเมริกา ซึ่งคนมีทางเลือก ก็ย่อมจะไม่ยอมเสี่ยงเอาเงินก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายก้อนนี้มาใช้อยู่แล้ว และการ "ประหยัด" ด้วยการไปอาศัยอยู่กับลูกก็เป็นคำตอบที่ดี
ก็ต้องเข้าใจอีกว่านี่เป็น "ทางออก" ของคนอเมริกันที่พอมีเงิน มีลูกและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเท่านั้น ยังมีคนอเมริกันสูงวัยไม่มีทางเลือกนี้ และประสบอุบัติเหตุทางการเงินรัวๆ จนกลายเป็นคนไร้บ้าน และคนกลุ่มนี้ก็ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมอเมริกัน
อ้างอิง
What Are Granny Pods?
‘Granny Pods’ Allow Elderly Family Members to Live in a High-Tech Backyard Cottage