อินฟลูเอนเซอร์สาวในเคนยา ผลิตคอนเทนต์จากภูเขาขยะเสื้อผ้า เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาขยะสิ่งทอที่เกิดจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในแอฟริกา รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
เจเน็ต เชมิเท อินฟลูเอนเซอร์สาวชาวเคนยาวัย 28 ปี มาที่ภูเขาขยะแดนดอรา เป็นประจำเพื่อทำคอนเทนต์ด้วยโทรศัพท์มือถือ และเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาขยะสิ่งทอในประเทศ
แดนดอรา เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นพื้นที่ที่ทิ้งขยะขนาดใหญ่บริเวณชานเมืองไนโรบี มีพื้นที่ถึง 30 เอเคอร์ หรือเกือบ 76 ไร่ และเป็นที่ทิ้งขยะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เจเน็ตสนใจขยะเสื้อผ้าที่ถูกนำมาทิ้งที่กองขยะที่นี่ และต้องการสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ซึ่งผลิตเสื้อผ้าได้รวดเร็วในราคาถูก และถูกทิ้งได้ง่ายโดยเจ้าของไม่รู้สึกเสียดาย สุดท้ายก็กลายเป็นกองภูเขาขยะเสื้อผ้าขนาดมหึมาที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ
“คนที่ได้ดูวิดีโอของฉัน ส่วนใหญ่รู้สึกช็อค โดยเฉพาะในเคนยา เมื่อพูดถึงแดนดอรา คนจะรู้ว่ามีที่ทิ้งขยะ แต่ไม่รู้หรอกว่าสภาพมันเป็นยังไง แต่พอได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น พวกเขาก็ตกใจกันอย่างมาก คนส่วนใหญ่ที่ได้ดูบอกว่า อยากจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต” เจเน็ตกล่าว
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยว่า ในแต่ละปีมีเสื้อผ้าที่ผลิตจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ซึ่งยังใช้งานได้ คิอดเป็นมูลค่ากว่า 460 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกนำมาทิ้งเป็นขยะ
เจเน็ต นิยามตัวเองว่า เป็นนักการศึกษาเรื่องขยะและเป็นนักรณรงค์เรื่องสโลว์แฟชั่น และเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและอินฟลูเอนเซอร์ที่รณรงค์เกี่ยวกับปัญหาขยะสิ่งทอจากฟาสต์แฟชั่น
เจเน็ตพยายามโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปรับมาใช้วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีคนจำนวนมากรับรู้ข้อมูลจากเธอจากโซเชียลมีเดียของเธอ โดยวิดีโอที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอยู่บนอินสตาแกรม มีผู้ชมจำนวนมากกว่า 10 ล้านวิว
“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉัน คือ คอมเมนต์และเอนเกจเมนต์ของคนดูที่ชื่นชอบกับสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ และอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ฉันตั้งเป้าหมายบางอย่างเอาไว้ตอนที่แชร์วิดีโอพวกนี้ เพราะฉันอยากให้คนได้เรียนรู้และเห็นถึงความจริงของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นอย่างถึงราก” เจเน็ตกล่าว
มีการประมาณการว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นเสื้อผ้า ผลิตมลพิษในสัดส่วนร้อยละ 10 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การซื้อเสื้อผ้าที่มากเกินจำเป็นของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายถึง ปริมาณเสื้อผ้ามหาศาลที่จะถูกนำมาทิ้งเป็นขยะ รวมถึงปริมาณของเสื้อผ้ามือสองที่จะถูกส่งมาขายในประเทศต่างๆ กำลังพัฒนา อย่างเช่น เคนยา
“ถ้าเรามีขยะเสื้อผ้า 185,000 ตันในแต่ละปี เราจะมีเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง 185,000 ตันในปีต่อไปหรือในอีก 5 ปี นี่เฉพาะที่เป็นเสื้อผ้ามือสอง ยังมีเสื้อผ้าใหม่ที่กำลังมาอีก เรามีขยะสิ่งทออย่างน้อย 200,000 ตันที่เคนยาต้องรับมือในแต่ละปี” โจสเฟท เอ็มวาซีอากี รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งทอในเคนยา กล่าว
หนึ่งในทางออกที่เจเน็ตเสนอ คือการดูแลรักษาเสื้อผ้าอย่างเคารพมากขึ้น เธอมักเดินหาเสื้อผ้าชิ้นที่น่าสนใจจากตลาดเสื้อผ้ามือสอง เพื่อเอามาทำให้เห็นว่าเสื้อผ้าเก่าสามารถทำให้กลับมาดูชิคได้โดยใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย
“ที่ฉันซื้อเสื้อผ้ามือสอง เพราะมันช่วยลดการที่แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นบอกว่า ต้องผลิตให้มากขึ้น เพราะมีความต้องการจากผู้บริโภค” เจเน็ตกล่าว
นอกจากการผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อรณรงค์ถึงปัญหาขยะสิ่งทอจากฟาสต์แฟชั่นแล้ว เธอยังจัดเวิร์คชอปและบรรยายในงาน Fair Fashion ในไนโรบี ซึ่งมีทั้งนักออกแบบเสื้อผ้าในท้องถิ่น และศิลปิน นำเสื้อผ้าที่ทำขึ้นจากวัสดุรีไซเคิลมาจัดแสดง รวมทั้งมีจุดแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าใช้แล้วของคนที่มาร่วมงาน
“คุณต้องไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพราะแฟชั่น หรือเพราะต้องการให้ตู้เสื้อดูไม่น่าเบื่อ คนมักมีเสื้อผ้าที่พอสวมใส่อยู่แล้ว แต่ก็ยังซื้อใหม่และก็ไม่ได้ใส่ คุณมางานเทศกาลแบบนี้และเอาเสื้อผ้าพวกนั้นมาด้วย มาแลกกับคนอื่น นี่คือการเดินอยู่บนแนวทางของสโลว์แฟชั่น” เจเน็ตกล่าว
สโลว์แฟชั่น เป็นแนวคิดที่ใช้โต้ตอบกับฟาสต์แฟชั่น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการลดปริมาณขยะสิ่งทอ ยังเป็นการช่วยประหยัดเงินด้วย
จากประสบการณ์ของเจเน็ต คนที่เรียนรู้เรื่องเหล่านี้และเข้าใจ จะพบว่ามันมีประโยชน์อย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการรณรงค์ต่อเนื่อง
“เวลาที่เห็นคนรุ่นใหม่ๆ กระตุ้นให้คนอื่นๆ สนใจอีเวนท์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เอาเสื้อผ้ามาแลกกัน ซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือทำเสื้อผ้าใส่เอง มันทำให้ฉันมีความสุขมาก เพราะมันทำให้งานที่ฉันกำลังทำเข้าถึงคนได้มากขึ้น และอุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน” เจเน็ตกล่าว
อ้างอิง
Kenyan influencer fights fast fashion waste reel by reel
Kenya struggles to recycle growing volumes of textile waste