ไม่ใช่ความลับอะไรที่ปัจจุบันคนอเมริกันรุ่นเบบี้บูมเมอร์มีปัญหารายได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่นับพวก "อุบัติเหตุทางสุขภาพ" ที่จะทำให้ "เงินเก็บ" หมดเกลี้ยงแล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่มากับการระบาดของโควิดกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็ทำให้มูลค่าของเงินทองที่มีหดหายไปหมด และก็ไม่แปลกที่ เบบี้บูมเมอร์จำนวนมากก็ต้องกลับเข้าตลาดแรงงานมาทำงานเพื่อให้มีเงินพอใช้
แต่อีกส่วนหนึ่ง เบบี้บูมเมอร์ก็คิดว่าทางรอดยังพอมี ซึ่งนั่นคือ การขายบ้านหลังใหญ่แบบมี 3 ห้องนอนของพวกเค้า และไปซื้อบ้านหลังเล็กกะทัดรัดเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายแทน ซึ่งนั่นก็สมเหตุสมผล เพราะโดยทั่วไปสินทรัพย์ก้อนใหญ่สุดของชนชั้นกลางอเมริกันก็คือบ้าน และการเปลี่ยนบางส่วนของบ้านให้เป็นทุนก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลกับครอบครัวที่มีเงินไม่พอ
ด้านหนึ่ง เราก็น่าจะได้ยินเช่นกันว่า คนรุ่นใหม่ๆ อเมริกันอยากได้บ้านกันสุดๆ แต่ไม่มีปัญญาซื้อเพราะรายได้มากไม่เท่าคนสมัยก่อน
ดังนั้นคำถาม คือ ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว การพยายามขายบ้านของ เบบี้บูมเมอร์ที่จะยอมขายถูกๆ เพื่อให้มีเงินใช้ตอนเกษียณ ไม่บรรจบกับความต้องการจะซื้อบ้านราคาถูกสำหรับคนรุ่นใหม่เหรอ?
คำตอบคือ ไม่ใช่ และเหตุผลก็อาจไม่ใช่อย่างที่หลายคนเดาว่า คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ต้องการบ้านใหญ่ๆ แบบมี 3 ห้องนอนด้วย
เหตุผลหลักๆ คือบ้านที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ต้องการเทขาย กับบ้านที่คนรุ่นใหม่อยากซื้ออยู่ มันอยู่คนละโซนกัน ซึ่งถ้าจะพูดแบบเป็นโซนทางภูมิศาสตร์ก็คือ โซนที่บ้านเหลือขายกระจายแต่ไม่มีคนซื้อ คือ โซนตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาบริเวณรัฐเพนซิลวาเนียและรัฐใกล้เคียง ส่วนโซนที่บ้านแพงสุดๆ และมีไม่พอความต้องการของคนรุ่นใหม่ คือ โซนตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาแถวๆ รัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสรวมถึงรัฐใกล้เคียง
ตรงนี้ถ้าจะอธิบายสั้นๆ ก็คือบริเวณที่ต้องการจะขายบ้าน คือ โซนที่ "ไม่มีงาน" แล้ว ส่วนบริเวณที่คนอยากซื้อบ้าน คือ บริเวณที่ "งาน" ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็อยากย้ายไปทำงานที่โซนพวกนี้
แต่จะเข้าใจปรากฎการณ์นี้ลึกๆ ต้องย้อนไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์โซนเศรษฐกิจของอเมริกา
อเมริกาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมหนักพวกนี้ มีตั้งแต่เหมืองถ่านหิน โรงเหล็กกล้า โรงงานรถยนต์ ซึ่งจะไปกอง กันอยู่ในโซนตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณรัฐเพนซิลวาเนียและมิชิแกน โดยโซนตรงนี้คือ โซนเศรษฐกิจหลักของอเมริกายุคนั้น ซึ่งในยุคนั้นสหภาพแรงงานแถวนี้ก็แข็งแรงมาก คนทำงานโรงงานรายได้ดีระดับทำงานคนเดียวก็เลี้ยงลูกเมียและซื้อบ้านได้ เรียกว่าอู้ฟู่สุดๆ
อย่างไรก็ดี ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เมื่อ "ภาคการบริการ" เริ่มขยาย บริษัทใหม่ๆ ไม่อยากไปตั้งบริษัทแถบนี้เพราะสหภาพแรงงานแข็งแรงเกินไป ดังนั้น เลยย้ายไปตั้งบริษัทแถวโซนตะวันตกเฉียงใต้แถบแคลิฟอร์เนีย โดยโซนนี้ก็เริ่มเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการบริการและอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ และการย้ายที่ตั้งบริษัทก็จะย้ายมาในโซนนี้ เช่น บริษัทอย่าง Tesla ก็ย้ายจากแคลิฟอร์เนียมาเท็กซัสเพราะเหตุผลด้านภาษี เป็นต้น
เวลาผ่านไป โซนอุตสาหกรรมหนักที่ตะวันออกเฉียงเหนือค่อยเสื่อมลง บริษัทใหม่ๆ ไม่เปิด บริษัทเก่าๆ เจอพิษของการค้าเสรีเล่นงานจนสินค้าขายไม่ออกเหมือนที่ผ่านมา (ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้าจากจีน หรือรถยนต์จากญี่ปุ่น) โรงงานทยอยปิด งานหายหมด ทุกอย่างเป็นเพียงอดีต และสิ่งที่เหลือคือ พวกตึกโรงงานยักษ์ขึ้นสนิมเท่านั้น ปัจจุบัน เค้าเลยเรียกโซนตรงนี้ว่า Rust Belt
กลับกัน ในทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจอเมริกาย้ายจาก Rust Belt ลงใต้มาในโซนอบอุ่นที่แสงแดดสาดส่องที่รวมๆ เรียกว่า Sun Belt
และการที่โซนที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ "ย้าย" จาก Rust Belt มา Sun Belt นี่แหละที่จะเป็นคำอธิบายเชิงลึกเรื่อง "บ้าน"
ถ้าไปดู คนอเมริกาใน Rust Belt ต้องการขายบ้านมากมาย ซึ่งเหตุผลหลักๆ ไม่ใช่การจะหนีไปจากโซนนี้ แต่อยากขยับไปอยู่ในบ้านที่เล็กลง และเอาเงินส่วนต่างมาจุนเจือชีวิตอย่างที่ว่า ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าคนแก่แถบนี้ คือ อดีตคนงานโรงงานที่ปิดตัวไปน่ะแหละ พวกนี้เคยมีรายได้เยอะมาก และมีบ้านหลังใหญ่ๆ เป็นสินทรัพย์ แต่ปัจจุบันโซนนี้ไม่มีงานแล้ว เลยอยากแปลงบางส่วนของบ้านเป็นทุนอย่างที่ว่า
แต่กลับกัน ใครจะอยากซื้อบ้านหลังใหญ่ใน Rust Belt? โซนตรงนี้ ถึงจะเป็นตัวในเมืองใหญ่ๆ ที่ไม่เสื่อมโทรม จำนวนงานก็มีน้อย ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงไม่อยากอยู่ตรงนี้ พวกเขาอยากซื้อบ้านในโซนที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองอย่าง Sun Belt ต่างหาก พูดอีกแบบคือ ไม่มีใครอยากซื้อบ้านหลังใหญ่ที่พิตส์เบิร์ก แต่คนรุ่นใหม่อยากซื้ออะไรก็ได้ที่ออสติน ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องพูดถึง "งาน" ก็ได้ พูดถึงบ้านในฐานะการลงทุน คนก็เห็นว่าบ้านที่พิตส์เบิร์กมันราคาตก แต่บ้านที่ออสตินมันราคาขึ้นเอาๆ
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เบบี้บูมเมอร์แถบ Rust Belt ก็ปวดหัว อยากขายบ้านก็ขายไม่ออก แต่พร้อมกันนั้นพวกคนรุ่นใหม่ก็ไม่มีปัญญาซื้อบ้านใน Sun Belt อย่างที่ตัวเองต้องการเช่นกัน
ปรากฎการณ์นี้น่าสนใจ เพราะน่าจะเป็นปรากฎการณ์เฉพาะของอเมริกาที่ในรอบครึ่งทศวรรษ พื้นที่ที่เคยมีเศรษฐกิจเฟื่องฟูกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม และพื้นที่ที่เคยไม่มีอะไรอีกจุดหนึ่งกลายมาเป็นพื้นที่ที่เฟื่องฟูแทน ดังนั้น ความต้องการขายบ้านของคนในพื้นที่แรกกับความต้องการซื้อบ้านของคนในพื้นที่หลังจึงไม่บรรจบกัน
แต่ถ้าเป็นประเทศอื่นที่ไม่มีการย้ายศูนย์กลางเศรษฐกิจ ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่มีปัญหาแบบเดียวกัน และจะมี "สมดุล" ของคนรุ่นเก่าที่ต้องการขายบ้านเพื่อเริ่มเงินทุนวัยเกษียณ กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการบ้านในราคาที่ย่อมเยาว์ก็เป็นได้