Skip to main content

 

งานวิจัยชิ้นใหม่ของสหราชอาณาจักร เผยว่า การสูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยจะลดลงราว 20 นาที และคนที่เลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ต้นๆ ร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาและมีอายุขัยใกล้เคียงกับคนที่ไม่สูบบุหรี่

งานวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยลอนดอน ตีพิมพ์ในบทบรรณาธิการวารสาร Addiction  ซึ่งศึกษาผู้ที่สูบบุหรี่ในสหราชอาณาจักร พบว่า บุหรี่แต่ละมวน โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลดอายุขัยของผู้ที่สูบลงราว 20 นาที และคนที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง หรือ 20 มวนต่อวัน จะทำให้อายุขัยลดลงถึงเกือบ 7 ชั่วโมง

การศึกษาดังกล่าวเผยว่า หลังจากรวมเอาสถานะเศรษฐกิจสังคมและปัจจัยอื่นๆ เข้ามา นักวิจัยมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเมินว่าอายุขัยของผู้ชายจะสั้นลงราว 17 นาที และผู้หญิงอายุขัยจะสั้นลงราว 22 นาที่จากการสูบบุหรี่ 1 มวน

ดร. ซาราห์ แจ็คสัน หัวหน้าทีมวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยเรื่องยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยลอนดอนกล่าวว่า

“การสูบบุหรี่ ไม่ได้กัดกินเวลาช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตโดยที่สุขภาพย่ำแย่ แต่มันดูกัดกร่อนส่วนการมีสุขภาพที่ดีในช่วงชีวิตวัยกลางคน ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงอายุขัยที่สั้นลง เราก็ควรมีชีวิตกับการมีสุขภาพที่ดี”

ข้อมูลใหม่จากงานวิจัยในสหราชอาณาจักรชิ้นนี้ ชี้ว่า อันตรายจากการสูบบุหรี่ปรากฏว่ามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอายุขัยสามารถฟื้นกลับมาได้หลังการเลิกบุหรี่ แต่ก็ขึ้นกับหลากหลายปัจจัย เช่น อายุ และระเวลาที่สูบบุหรี่ว่ายาวนานแค่ไหน

“การศึกษานี้แสดงว่า คนที่เลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย เช่น ช่วงอายุเลข 2 หรือ 30 ต้นๆ มีแนวโน้มว่าอายุขัยจะไม่ต่างจากคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ถ้าเลิกสูบตอนอายุมาก สุขภาพจะเสียมากกว่าส่วนที่จะฟื้นคืนกลับมาเล็กน้อย แต่ไม่ว่าจะเลิกสูบตอนอายุเท่าไหร่ก็ตาม ก็เป็นการป้องกันไม่ให้อายุขัยสั้นลง” ดร. ซาราห์กล่าว

ในบทความวิจัย ดร.ซาราห์และทีมระบุว่า คนที่สูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน คนที่เลิกสูบในวันที่ 1 มกราคม จะช่วยป้องกันการเสียสุขภาพแบบเต็มวันในวันที่ 8 มกราคม และถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์จะลดการสูญเสียสุขภาพเต็มสัปดาห์ และในวันที่ 20 สิงหาคม จะลดการเสียสุขภาพ 1 เดือน และเมื่อถึงสิ้นปี จะลดจำนวนวันที่เสียสุขภาพลงได้ 50 วัน

งานวิจัยนี้ สนับสนุนโดยสำนักงานสุขภาพและสวัสดิการสังคมของสหราชอาณาจักร และใช้ข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้ชายจาก British Doctors Study และข้อมูลการเสียชีวิตของผู้หญิงจาก Million Women Study ซึ่งการศึกษาเหล่านี้พบว่า โดยเฉลี่ยคนที่สูบบุหรี่จะอายุสั้นกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ราว 10 ปี

สอดคล้องกับการศึกษาของศูนย์ควบคุมป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า อายุขัยของผู้สูบบุหรี่จะสั้นลงอย่างน้อย 10 ปี เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบ

“การเลิกบุหรี่ โดยปราศจากข้อสงสัย เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำให้กับสุขภาพของคุณเอง เมื่อยิ่งเลิกได้เร็ว ชีวิตก็ยืนยาวขึ้น” ดร.ซาราห์กล่าว

ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคของสหรัฐ ระบุว่า แม้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลงนับจากทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา แต่บุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของชาวอเมริกันมากกว่า 480,000 รายในแต่ละปี และการเลิกบุหรี่ตั้งแต่ก่อนอายุ 40 สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ได้ถึงราวร้อยละ 90

มีงานศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อปีที่แล้ว พบว่า การสุบบุหรี่สามารถส่งผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ การเป็นมะเร็งหรือการแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง และคนที่เลิกบุหรี่ พบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถกลับมาดีแบบสมบูรณ์เป็นเวลาหลายปี

 

อ้างอิง
A single cigarette slashes 20 minutes off your life expectancy, UK research suggests