ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่คงได้ยินข่าวของคนที่ "แก่แล้วยังต้องทำงานอยู่" มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนจำนวนไม่น้อย สิ่งเหล่านี้เกิดจากการวางแผนทางการเงินไม่ดีทำให้เงินไม่พอใช้ อีกหลายส่วนเกิดจากอุบัติเหตุทางการเงินที่ทำให้เงินเก็บหมดเกลี้ยง อีกหลายส่วนก็อาจเปิดจากเหตุไม่คาดผันระดับมหภาค อย่างอัตราเงินเฟ้อรุนแรงขณะที่เงินบำนาญของคนวัยเกษียณไม่ได้ขึ้นตามราคาสิ่งต่างๆ ทำให้เงินที่เคยพอ กลายเป็นไม่พอก็มี
ทั้งหมดทำให้ภาพของวัยเกษียณที่ไม่ต้องทำงาน วันๆ นั่งดูทีวีและรอตีกอล์ฟเป็น “สิ่งที่เกินเอื้อม” แต่ประเด็นคือ หรือว่าจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ "พึงประสงค์" มาตั้งแต่แรก
ในบรรดาเรื่องราวของคนเกษียณ หลังๆ เรื่องราวที่เราได้ยินบ่อย คือ เรื่องของคนที่ "จำต้องกลับมาทำงาน" ด้วยเหตุผลทางการเงิน แต่จริงๆ แล้ว ก็มีเรื่องราวอีกมากมาย ที่คนซึ่งไม่มีความจำเป็นทางการเงินที่จะต้องทำงานเลยในวัยเกษียณ แต่สุดท้ายก็กลับมาทำงานอยู่ดี อย่างน้อยๆ ในวัยเกษียณตอนต้นที่่ร่างกายยังไม่เสื่อม (ปกตินับที่อายุ 60-75 ปี)
คำถามคือทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ทำไมคนถึง "เลือก" จะกลับมาทำงานทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำอีกแล้ว?
"เกษียณแล้วไปไหน?” ภาวะเคว้งคว้างหลังเกษียณ
ถ้าจะอธิบายง่ายๆ คนที่ทำงานมาทั้งชีวิตเพื่อรอวันเกษียณที่ "ไม่ต้องทำงาน" แทบจะทั้งหมด พอถึงวันเกษียณจริงๆ ก็ประสบภาวะ "ไม่รู้จะทำอะไร"
สังคมปัจจุบันคุยกันมากเรื่องการเตรียมเงินให้พอเกษียณ แต่สิ่งที่คุยกันน้อย คือ ประเด็นว่า "เกษียณแล้วไปไหน?” หรือประเด็นความเป็นจริงในภาวะ "เคว้งคว้างหลังเกษียณ" ซึ่งในสังคมอเมริกันเกิดมาก และในไทยก็น่าจะเกิดไม่น้อยด้วยเช่นกัน
สำหรับคนทำงานน่าจะจินตนาการยากว่า เค้าจะคิดถึง "เช้าวันจันทร์" อันน่ารังเกียจได้ยังไง แต่ในความเป็นจริง พอถึงจุดที่ไม่ต้องตื่นเช้ามาทำงาน หลังจากที่ต้องทำมาหลายสิบปี ก็มีอาการ “เหวอ” กันทุกคน และคนรุ่นเก่าก็มักจะไม่รู้จะจัดการยังไงกับเวลาว่างอันมากมายมหาศาลที่โผล่พรวดขึ้นมา และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเค้าก็นึกอะไรไม่ออก และวันๆ นั่งดูทีวี ซึ่งก็ไม่แปลกว่า ถ้าเป็นคนรุ่นถัดจากนั้น การนั่งดูทีวีก็อาจเปลี่ยนเป็นการนั่งดู Netflix หรือเล่นเกมทั้งวัน
ประเด็นคือ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ "ความสุข" ในแบบที่คนส่วนใหญ่จินตนาการ วัยเกษียณที่วันๆ ไม่ต้องทำงานรอรับบำนาญ เอาจริงๆ มันคือการ "สูญเสียตัวตน" เพราะอยากให้คิดง่ายๆ ว่า ตัวตนของมนุษย์ปัจจุบันผูกกับ "วัยทำงาน" เฉลี่ยประมาณ 40 ปี ในวัยเกษียณที่ 60 หรือ 65 ปี ช่วงเวลาทำงานคือ "ค่อนชีวิต” และ "ตัวตน" ซึ่งผูกกับงานไปแล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม อยากให้ลองนึกภาพคนที่ต้องใส่เครื่องแบบไปทำงานมาเป็นสิบๆ ปี มาถึงวันหนึ่ง ตื่นมาเข้าวันจันทร์ไม่ต้องใส่เครื่องแบบแล้ว ความรู้สึก "เคว้ง" มันเกิดขึ้นแน่ๆ
ยิ่งคนที่มี "ตำแหน่งสูง" ก็จะยิ่งรู้สึกเคว้ง เพราะวันที่คุณเกษียณ คือวันที่คุณ "หมดอำนาจ" และไม่มีสิทธิ์จะสั่ง "ลูกน้อง" ทำอะไรได้อีกแล้ว อย่างไรก็ดี แม้ว่า คุณจะเป็นพนักงานธรรมดา วันเกษียณก็ไม่ใช่วันที่จะรู้สึกได้รับการปลดแอก เพราะการเกษียณคือ การที่คุณไม่ได้ทำงานที่มี "มูลค่า" ใดๆ อีก ซึ่งในหลายวัฒนธรรมที่คนถูกประเมินจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เค้าสร้าง การสูญเสียบทบาทในการสร้าง "มูลค่า" ในสังคมที่ว่านี้ ก็ทำให้คนรู้สึก "ไร้ค่า" เอาง่ายๆ
พูดง่ายๆ ก็คือการเกษียณมันส่งผลทางจิตวิทยาอย่างรุนแรงมากๆ ไม่ว่าจะกับคนตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ แต่ที่มากกว่านั้นก็คือผลต่อร่างกายและชีวิตทางสังคม
การทำงาน เป็นมากกว่าแค่การหาเงิน
ถ้าใครจำได้ แค่ตอนช่วงโควิด-19 ระบาด ต้อง Work From Home กันช่วงแรกๆ คนจำนวนมากแค่ต้องทำงานอยู่บ้านอาทิตย์เดียว ไม่ต้องออกไปเจอใครยังเหวอเลย และลองคิดดูว่า การเกษียณที่เค้าไม่ต้องออกไปเจอใครอีกต่อไปจะหนักขนาดไหน
เราอาจมองว่า การทำงาน คือ การหาเงิน นั่นก็ไม่ผิด แต่ในความเป็นจริงในมิติการทำงานมันก็ยังมีอะไรหลายอย่างด้วย เช่น คนที่ปกติไม่มีใครคุยด้วยเท่าไรก็ได้คุยกับมนุษย์บ้าง หรือคนที่ปกติไม่ชอบออกไปไหน ก็ต้องขยับตัวทำโน่นนี่ ซึ่งอะไรพวกนี้จริงๆ มันเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์กับมนุษย์และเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ ซึ่งงานวิจัยซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ชี้ว่า สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอายุที่ยืนยาว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนที่หยุดทำงานไปสิ่งที่ตามมาคือ ได้พูดคุยกับผู้คนน้อยลงและขยับตัวน้อยลง ซึ่งนั่นคือสูตรสำเร็จของรูปแบบชีวิตที่ทำให้อายุสั้น
ถ้าการหยุดทำงานมันแย่ขนาดนี้? ทางออก คือ กลับไปทำงานเหรอ? คำตอบก็คือ ไม่ใช่ เพราะจริงๆ ถ้าไม่นับว่าที่ทำงานส่วนใหญ่จะไม่รับกลับเข้าไปทำงานเต็มเวลาแล้ว การทำงานไปตลอดแบบตั้งใจทำไปจนตาย ยังเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลทางกายภาพด้วย โดยเฉพาะธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ที่ทั้งสภาพสมองและแขนขาจะแย่ลงอย่างรวดเร็วหลังอายุ 75 ปี
ดังนั้น สิ่งที่คนทำส่วนใหญ่ คือ ทำงานต่อ แต่ทำแบบพาร์ทไทม์ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่บริษัทจำนวนมากเสนอมาอยู่แล้ว และข้อเสนอพวกนี้ก็มีมากขึ้นๆ ในบริษัทที่ใหญ่ หน่อยในสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป้าของการทำงานพาร์ทไทม์ ถ้าไม่เรื่องนับ "เงิน" ที่ต้องได้อยู่แล้ว หลักๆ คือ การค่อยๆ ปรับตัวเองเข้าสู่วัยที่ "ไม่ทำงาน" โดยแท้จริง เพราะร่างกายทำงานไม่ไหวอีกแล้ว ซึ่งปกติวัยที่ว่าจะอยู่ในช่วง 70-80 ปี
ทำงานพาร์ทไทม์ในวัยเกษียณ ช่วยเรื่องการปรับตัว
ในทางปฏิบัติการค่อยๆ ลดการทำงานลงจากทำเต็มเวลามาเป็นพาร์ทไทม์จะค่อยๆ ทำให้เราค่อยๆ เข้าใจมากขึ้นว่าถ้ามีเวลาว่าง เราจะอยากทำอะไรมากขึ้น ณ วัยนั้น เพราะจริงๆ กิจกรรมที่ตอนอายุ 30-40 คิดว่าตอนเกษียณจะทำให้เต็มที่ เมื่อถึงเวลาเกษียณจริงก็อาจทำไม่ได้ หรือความสนใจอาจเปลี่ยนไปแล้ว
ดังนั้น นี่เลยเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ เมื่อถึงวันเกษียณจริงๆ มันต้องลองผิดลองถูกเหมือนตอนอายุน้อยๆ แต่พร้อมกันนั้นก็คือ การยังมีงานทำ ก็ยังทำให้เรายึดโยงกับชีวิตแบบเดิมอยู่ และไม่เคว้งคว้าง
แต่ถ้าเรา "ไม่ชอบงาน" แบบไม่ชอบจริงๆ แต่ก็ไม่ชอบนอนอยู่บ้านเฉยๆ ด้วย เราก็อาจกลับมาที่ไอเดียพื้นฐานถึง 6 มิติของชีวิตมนุษย์ ซึ่งคือ
1. งาน
2. ความสัมพันธ์
3. การใช้เวลาว่าง
4. การพัฒนาตัวเอง
5. การเงิน
6. สุขภาพ
ถ้ามองแบบนี้ เราจะเห็นว่า การเกษียณคือ ชีวิตทางการงานจบเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นๆ ให้เราทำอีกมาก เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คน อย่างการกลับไปติดต่อเพื่อนสมัยเรียนที่เกษียณพร้อมๆ กัน บางคนอยากสุขภาพดีก็ออกกำลังกายจริงจัง หรือ บางคนมีทักษะที่อยากฝึกมานานแต่ไม่มีเวลา อย่างการวาดรูปและเล่นดนตรี ก็ไปฝึกได้
ประเด็น คือ มันมีอะไรให้ทำอีกมาก แต่เวลาปกติเราจะไม่คิด ซึ่งถ้าเราเกษียณเราก็ต้องคิดและมองมันใหม่ เพราะหลายสิ่งที่เราทำไม่ได้หรือไม่มีเวลาทำจนลืมมันไป บางทีก็จะได้ทำตอนเกษียณนี่แหละ และนั่นอาจเป็นเป้าหมายใหม่ของชีวิต ที่ไม่ต้องดิ้นรนเรื่องเงินทองอีกแล้ว
แต่สุดท้าย สำหรับคนบางคน ชีวิตในอุดมคติก็อาจเป็นการกินๆ นอนๆ อยู่หน้าจอจริงๆ แบบทำงานมาเกือบ 40 ปีเพื่อสิ่งนี้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นแล้วเค้ามีความสุข ไม่เคว้งคว้าง ก็ไม่ควรจะมีปัญหาอะไร แต่ประเด็นในที่นี้คือ ในความเป็นจริง คนจำนวนมากจินตนาการถึงชีวิตแบบนั้น แต่ไปเจอจริงๆ กลับไม่รู้สึกแฮปปี้เท่าไร ซึ่งไม่แฮปปี้แค่ไหน ก็ระดับที่ต้องกลับไปทำงานนี่แหละ
อ้างอิง
America is doing retirement all wrong
David Letterman, 77, says 'retirement is a myth'