4 ใน 10 ของเด็กนักเรียนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หยุดการนั่งรถไปโรงเรียน และเริ่มเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนกันมากขึ้น หลังจากนโยบายเขตอากาศบริสุทธิ์ของเมืองมีผลบังคับใช้
การจำกัดปริมาณยานพาหนะที่มีการปล่อยมลพิษสูงที่สัญจรไปมาตามท้องถนนของเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยลดมลพิษทางอากาศ ทำให้อากาศสะอาดขึ้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นๆ มีความปลอดภัยมากขึ้น และการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้คนก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
กรุงลอนดอน ออกนโยบายเขตอากาศบริสุทธิ์ โดยกำหนดให้ยานพาหนะต้องเป็นไปตามมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวด และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อการขับขี่พาหนะในเขตเมือง ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดของโลก โดยความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์ริมถนนในกรุงลอนดอนลดลงถึงร้อยละ 53
ประโยชน์อีกประการหนึ่งของนโยบายนี้ คือ การที่เด็กๆ ในพื้นที่เริ่มเดินและขี่จักรยานไปโรงเรียนกันมากขึ้น
อลิสัน แม็คเฟอร์สัน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งศึกษาเรื่องการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ระบุว่า
“การเดิน ขี่จักรยาน หรือขี่สกู๊ตเตอร์ไปโรงเรียน ส่งผลดีกับเด็กมากกว่า รวมถึงส่งผลดีกับครอบครัวของพวกเขาและสิ่งแวดล้อม มันเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่ของเด็กๆ”
การเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนช่วยให้เด็กๆ จิตใจสงบและมีสมาธิมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยทำให้ผลการเรียนของเด็กๆ ดีขึ้นกว่าเดิม และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ในช่วงเวลาที่โรคอ้วนในเด็กกำลังแพร่ระบาดทั่วโลก การเดินหรือขี่จักรยานไปกลับจากโรงเรียนก็จะสามารถช่วยให้เด็กๆ มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น มลพิษทางอากาศจากยานพาหนะยังส่่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเด็ก เนื่องจากพวกเขาอยู่ในช่วงวัยที่ปอดมีการพัฒนา การที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศที่เป็นพิษอาจทำให้เด็กๆ เป็นโรคหอบหืดได้
รถยนต์ซึ่งเจ้าของมักอาศัยอยู่ในเขตร่ำรวยของลอนดอน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยชาวลอนดอนกว่าครึ่งล้านป่วยเป็นโรคหอบหืด และทั่วประเทศอังกฤษมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 43,000 รายต่อปี ขณะที่ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยมลพิษทางอากาศประมาณ 8 ล้านคนในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ผูัปกครองส่วนใหญ่มักจะกังวลเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทางไปโรงเรียนของลูกๆ และไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่การเรียนรู้เรื่องมลพิษทางอากาศก็สามารถเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของผู้ปกครองรวมถึงเด็กๆ ได้ และนโยบายเขตอากาศบริสุทธิ์ก็ช่วยทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
“นโยบายเขตอากาศบริสุทธิ์ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องถูกนำมาใช้ร่วมกับนโยบายอื่นๆ ด้วย ทั้งการจัดให้มีการขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้มากขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินและปั่นจักรยานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น”
อ้างอิง
Children’s Health in London and Luton (CHILL) cohort: a 12-month natural experimental study of the effects of the Ultra Low Emission Zone on children’s travel to school
London saw a surprising benefit to fining high-polluting cars: More active kids
London Children Now Walk And Cycle To School More, Thanks To A Clean-Air Policy