Skip to main content

 

ในช่วงที่มีงานขายหนังสือ อย่าง งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ที่กำลังจัดอยู่ในตอนนี้ หลายคนออกไปเดินจับจ่ายซื้อหาหนังสือที่ถูกใจ และตั้งใจจะหาเวลาอ่านให้หมด เพื่อจะไม่ต้องกลายเป็น “กองดอง” หรือต้อง “อ่านกันยันโลกหน้า” การลดเวลาที่ไม่จำเป็นกับหน้าจอโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียลง อาจเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อการมีเวลาให้กับการอ่านหนังสือได้มากขึ้น

เซอร์โจนาธาน เบท ศาสตราจารย์วรรณกรรม มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวโรคสมาธิสั้นของนักศึกษาปริญญาตรีของเขา ซึ่งไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือตามที่รายชื่อหนังสือที่อาจารย์สั่งได้

“แทนที่จะอ่านนิยายได้ 3 เล่มต่อสัปดาห์ นักศึกษาจำนวนมากจะต้องดิ้นรนอย่างหนักในการอ่านนิยายหนึ่งเล่มให้จบภายใน 3 สัปดาห์” เซอร์โจนาธานกล่าว

ไม่เพียงแค่คนรุ่นหนุ่มสาวที่น้อยคนจะมีสมาธิกับหนังสือ The Reading Agency องค์กรเอกชนด้านส่งเสริมการอ่านในอังกฤษ พบว่า มีประชากรวัยผู้ใหญ่ในอังกฤษเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ยังอ่านเป็นประจำและอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลิน

ผู้ที่อยู่ในแวดวงการอ่าน และดิจิทัลดีท็อกซ์ มีวิธีที่จะช่วยให้ลดการอยู่กับหน้าจอมือถือได้

 

1. เมื่อจะอ่านหนังสือ พยายามเก็บโทรศัพท์ให้ไกลตัว

ทันยา กูดอิน นักรณรงค์ทางด้านดิจิทัลดีท็อกซ์บอกว่า 

“ถ้าคุณจะนั่งเพื่ออ่านหนังสือ ให้เอาโทรศัพท์ไปไว้ที่อื่น หมายถึงโทรศัพท์กับเราต้องไม่อยู่ในห้องเดียวกัน เพราะการคิดว่ามีโทรศัพท์อยู่ข้างๆ และเราจะควบคุมตัวเองไม่ให้ดูมันบ่อยๆ มันใช้ไม่ได้ผล”

ทันยาชี้ว่า มีงานวิจัยที่บอกว่า ถ้าเราเอาอุปกรณ์ดิจิทัลไปไว้ที่ห้องอื่น จะทำให้เรามีความสามารถอย่างเต็มที่ในการจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่

แคล นิวพอร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีคำแนะนำว่า

"ตอนอยู่ที่บ้าน ให้ชาร์จโทรศัพท์ในที่ที่กำหนดไว้เพียงที่เดียว และหากจำเป็นต้องค้นหาข้อมูลหรือเช็คข้อความ ก็ค่อยไปยังที่ที่วางโทรศัพท์เอาไว้" เขาบอกว่า ตอนที่ไม่มีโทรศัพท์อยู่ใกล้ตัว ถ้ากำลังอ่านหนังสือแล้วเกิดรู้สึกเบื่อเล็กน้อย จะง่ายกว่ามากที่เราจะฝืนอ่านต่อไปได้


2. อ่านหนังสือเล่ม และโน้ตลงไป

ดาเมียน บารร์ นักเขียนและเจ้าของ The Big Scottish Book Club บอกว่า หนังสือแพ้โซเชียลมีเดียตลอด เขาจึงต้องพกหนังสือติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอด เพื่อที่จะมีอะไรที่เป็นเล่มจับต้องได้สำหรับอ่าน นอกจากนี้ เขายังจำกัดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียด้วย

“อย่างน้อยที่สุด มันทำให้ผมตระหนักมากขึ้นว่า ผมใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียไปเท่าไหร่แล้ว” ดาเมียนกล่าว

ลารา ไฟเกล นักเขียนและศาสตรจารย์มหาวิทยาลัยคิลส์คอลเลจ ในลอนดอน มีคำแนะนำนักศึกษาของเธอว่า

“ฉันเตือนให้พวกเขาไปซื้อหนังสือเล่มจริงๆ มาอ่าน มากกว่าจะมานั่งอ่านทางออนไลน์ และให้เขียนโน้ตด้วยลายมือลงในหนังสือด้วย บางทีฉันบอกให้พวกเขาเอาหนังสือมาโขว์ให้ดูว่าขีดเส้นใต้ตรงไหนและเขียนลายมือตรงไหน”

 

3. เทรนสมองเสียใหม่

เดซี บูแคนัน ผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ You're Booked และผู้เขียนหนังสือ Read Yourself Happy บอกว่า การอ่านเหมือนกับการออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่ยังเด็ก และการอ่านเป็นเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งร้อยเมตร เธอบอกว่า ให้เริ่มต้นการอ่านด้วยเวลาที่น้อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะที่ ทันยา กูดอิน นักรณรงค์ทางด้านดิจิทัลดีท็อกซ์ แนะนำให้เริ่มต้นจากการอ่านที่ครั้งละ 10 หน้าก่อน


4. หาช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมกับการอ่าน

เดชี บูแคนัน บอกว่า การอ่านเป็นสิ่งแรกที่เธอทำในตอนเช้า

"ตอนที่ฉันตื่นนอน สมองของฉันมันตื้อไปหมด ถ้าฉันพยายามหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านก่อน แล้วไม่หยิบโทรศัพท์ การอ่านจะให้ข้อมูลที่สมองของฉันต้องการ ทำให้สมองช้าลงและเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่ต้องจดจ่ออยู่”


5. อย่าทำให้การอ่านเป็นเหมือนงานน่าเบื่อ

บูแคนันแนะนำให้เริ่มต้นด้วยหนังสือที่ให้ความเพลิดเพลินและความสุข เธอบกว่า สมองของบูแคนันถูกสมาร์ทโฟนแย่งชิงไป  เธอจะกลับไปอ่านหนังสือที่เคยชื่นชอบเมื่อตอนเด็ก เพื่อจุดประกายความรักในการอ่านให้กลับมาอีกครั้ง

ขณะที่ทันยาบอกว่า การเข้าร่วมชมรมอ่านหนังสือ ก็ช่วยเป็นแรงจูงใจในการอ่านหนังสือให้จบเล่มได้ และควรไปตามห้องสมุดต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจในการอ่าน

 

6. ใช้หนังสือเสียง

หนังสือเสียง ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่นำเรากลับมาสู่นิสัยการอ่านหนังสือได้

“ถ้าคุณไม่ได้อ่านมาสักพักแล้ว หนังสือเสียงอาจเป็นประตูที่นำเรากลับมายังนิสัยการอ่านอีกครั้ง” ทันยากล่าว

เธอบอกว่า หนังสือเสียงช่วยได้โดยเฉพาะในตอนที่เราทำหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ฟังหนังสือเสียงในตอนกำลังเดินทาง หรือขณะที่พาสุนัขไปเดินเล่น และที่สำคัญ เธอแนะนำว่า ต้องปิดการเตือนของโทรศัพท์ในตอนที่กำลังฟังด้วย


ที่มา
How to put your phone down and get back into habit of reading books