Skip to main content

 

Libertus Machinus
 

 

ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้เร็วมาก ไม่ใช่สิ่งที่ชาวโลกกังขาแล้วในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เนื้อในส่วนหนึ่งของอัตราการเติบโตขนาดนี้ ถ้าไม่นับการเข้าแทรงแซงทางเศรษฐกิจของรัฐอย่างหนักหน่วงแล้ว มันเกิดจากสิ่งที่ทางเทคนิคเรียกว่า "ปันผลทางประชากร" (population dividend) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นจากการที่คนมีลูกน้อยลง และในกรณีของจีน เกิดจาก “นโยบายลูกคนเดียว” อันลือลั่น

อย่างไรก็ดี ทุกคนต่างรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือ "ระเบิดเวลาทางประชากร" และทุกวันนี้มันเริ่มระเบิดแล้ว เมื่อคนรุ่นสร้างชาติของจีนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และคนเหล่านี้ก็มักจะมี "ลูกคนเดียว"

ลูกคนเดียวเลี้ยงพ่อแม่ไม่ไหวอยู่แล้ว หลายๆ คนก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ในระบบตลาดของจีนที่การแข่งขันสูงลิบในทุกด้าน แบบเอาแค่ตัวเองยังรอดยาก จะดูพ่อแม่ด้วยก็ยิ่งลำบาก ซึ่งก็ต้องเข้าใจอีกว่า "งาน" ของจีนทั้งหลายอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ทั้งนั้น และเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่อากงอาม่าแก่ๆ จะอยู่ตามบ้านนอก ส่วนลูกเข้ามาทำงานในเมือง และกลับมาเยี่ยมนานๆ ครั้งตามเทศกาล

แต่เมื่อเวลาผ่านไปผลก็คือ พ่อแม่ที่แก่ไปก็เริ่มลำบากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่สุขภาพและค่าใช้จ่าย และรัฐที่ไม่ได้เป็น "รัฐสวัสดิการ" อย่างจีนก็ไม่สามารถจะจัดการตรงนี้ได้

ในแง่นี้ แม้แต่ "สังคมคอมมิวนิสต์" อย่างจีนเลยกลับไปใช้ "คุณค่าดั้งเดิม" ของจีนอย่างการที่ลูกมีหน้าที่ต้องดูแลพ่อแม่ และทำให้เป็น "กฎหมาย" มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2013 ภายใต้ชื่อว่า "กฎหมายสิทธิผู้สูงอายุ"

กฎหมายนี้อธิบายง่ายๆ ระบุว่า ลูกมีหน้าที่ต้องเดินทางมาหาพ่อแม่ "บ่อยๆ" ถ้าพ่อแม่มีอายุ 60 ปี ซึ่งกฎหมายระบุว่า การที่ลูกปฏิเสธไม่รับมรดกจากพ่อแม่ ไม่ได้หมายความว่าจะรอด "ความรับผิดชอบ" นี้ และถ้าลูกมาเยี่ยมไม่ได้ ลูกอาจต้องจ่าย "ค่าดูแลพ่อแม่" ทดแทน

ตอนที่กฎหมายนี้ออกมา มีแต่คนบอกว่ามันเป็นนิยามหน้าที่ของลูกที่หลวมมาก (อะไรคือ "ไปเยี่ยมบ่อยๆ"?) และที่สำคัญคือ มันไม่มี "บทลงโทษ" กำหนดชัดในกฎหมาย เลยทำให้บังคับใช้จริงไม่น่าได้ แต่ความเป็นจริง คือ CNN รายงานว่า มีพ่อแม่ที่ฟ้องลูกด้วยกฎหมายนี้จริงๆ หลังกฎหมายออก และศาลก็เคยตัดสินคดีไปแล้วว่า ลูกต้องไปเยี่ยมพ่อแม่เดือนละ 2 ครั้ง และต้องจ่ายค่าดูแลด้วย

ทำให้กฎหมายนี้มีการบังคับใช้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละมณฑล ซึ่งในความเป็นจริง หลังกฎหมายออกมาหลายปี "บทลงโทษ" ก็ค่อนข้างชัด เช่น ในกรณีของเซี่ยงไฮ้ "ลูกๆ" ที่ไม่ทำตามกฎหมาย หลักๆ ก็จะโดนตัดคะแนน "Social Credit” อันลือลั่นของจีน ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าโดนตัดไปเยอะๆ ชีวิตก็จะเริ่มลำบาก จะจองตั๋วรถไฟความเร็วสูงยาก จะเปิดบัญชีธนาคารก็จะไม่ได้ จะซื้อบ้านหรือตั้งบริษัทก็จะทำไม่ได้ เป็นต้น

จะเห็นว่าจริงๆ ประเด็นเรื่องการ "ดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา" เป็นประเด็นร้อนในสังคมจีนพอควร และก็ไม่แปลกเลยที่หนังอย่าง "หลานม่า" จะทำให้คนจีนจำนวนมากอิน และก็ไม่แปลกอีกที่เอาเข้าจริงๆ มันอาจเป็นความพยายามของทางการจีนด้วยซ้ำ ในการผลักดันให้คนจีนอินหนังเรื่องนี้ เพราะ ระบบภาพยนตร์ในจีนนั้นมีทั้งโควต้าและการเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไปฉายได้ และทำเงินได้มหาศาลในจีน

สุดท้าย ถ้ามองในภาพใหญ่ เราจะมองว่ามาตรการบังคับลูกให้ดูแลพ่อแม่ผ่านการออกกฎหมายของจีน เป็น "มาตรการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ" แบบจีนก็พอได้ ซึ่งมาตรการนี้จะใช้ได้มากน้อยแค่ไหนก็อาจเป็นปริศนา เพราะเรายากที่จะได้สถิติ "ความล้มเหลวในการใช้กฎหมาย" จากทางการจีนอยู่แล้ว

 

อ้างอิง

New Chinese law: Visit your parents
New China law says children 'must visit parents'
In China, adults must visit their aging parents… or else
Elder Rights in China


อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน