ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 36 ล้านคน และโดยมากไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ทำให้ชายสูงวัยชาวญี่ปุ่นพากันไปสมัครเรียนทำอาหาร หลังจากภรรยาป่วยหรือเสียชีวิต หรือไม่ก็ยื่นคำขาดที่จะเลิกปรนนิบัติสามี
ตลอด 65 ปีที่ผ่านมา คุณตามาซาฮิโระ โยชิดะ ไม่เคยต้องเข้าครัวทำอาหารและทำงานบ้านเลย แต่หลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน ภรรยาของคุณตาก็ยื่นคำขาดให้คุณตาต้องช่วยงานบ้านและเตรียมอาหารสำหรับทั้งคู่ แม้จะตอบตกลงโดยไม่ลังเล แต่คุณตากลับพบว่า ตัวเองไม่มีความรู้เรื่องการทำอาหารเอาเสียเลย และการเรียนทำอาหารจากยูทูบก็ช่างยากเย็นสำหรับคนแก่แบบเขาเหลือเกิน
ดังนั้น คุณตามาซาฮิโระจึงตัดสินใจไปสมัครเรียนทำอาหารหลักสูตร 6 เดือนของ โรงเรียนสอนทำอาหาร Better Home ซึ่งครอบคลุมทักษะต่างๆ ตั้งแต่ การสับกระเทียม สับเห็ด ไปจนถึงการเลือกซื้อเนื้อ เป็นต้น
“ผมไม่เคยรู้เลยว่าการทำอาหารมีขั้นตอนซับซ้อนมากมาย” คุณตาบอก
เป็นที่รู้กันดีว่า “บทบาททางเพศ” ในสังคมญี่ปุ่นมีความเข้มงวด โดยการสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ว่่า ผู้ชายชาวญี่ปุ่นมีความรับผิดชอบเรื่องในบ้าน และการดูแลเด็กน้อยกว่าผู้ชายในประเทศที่ร่ำรวย โดยผู้ชายญี่ปุ่นจะใช้เวลาเฉลี่ยเพียงวันละ 40 นาที ในการช่วยงานบ้าน ซึ่งน้อยกว่าภรรยาของพวกเขาถึง 5 เท่า
ขณะที่มีรายงานว่า ผู้ชายชาวญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 14 เท่่านั้นที่ทำอาหารเองเป็นประจำ นั่นจึงนำไปสู่ปัญหาที่ว่า เมื่อภรรยาของพวกเขาเสียชีวิตลง ทำให้ชายชราชาวญี่ปุ่นหลายคนตระหนักว่า พวกเขาไม่สามารถทำงานบ้านแม้แต่เพียงขั้นพื้นฐานได้้เลย ขณะที่เหล่าบรรดาคุณยายต่างก็เริ่มขีดเส้นแบ่งและประกาศการเลิกปรนนิบัติรับใช้สามี
ยาสุยูกิ โทกุกูระ เจ้าหน้าที่องค์กรไม่แสวงหากำไร Fathering Japan ระบุว่า
“ปัญหาใหญ่ก็คือ ผู้ชายญี่ปุ่นไม่คิดว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบงานบ้าน แต่เมื่อพวกเขาเกษียณจากการทำงาน ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางขั้วอำนาจมากขึ้น เมื่อภรรยาเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมพวกเธอต้องทำงานบ้านทั้งหมด ในเมื่อสามีไม่สามารถหาเงินเข้าบ้านได้อีกแล้ว” ยาสุยูกิ กล่าว
หญิงสูงวัยในญี่ปุ่นจึงเริ่มดึงสามีให้เข้ามาทำงานในครัว ทำให้รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยศูนย์ชุมชนบางแห่งเปิดชั้นเรียนสอนการทำอาหาร การทำความสะอาด ซักผ้า และการรีดผ้าให้ผู้ชายญี่ปุ่นแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยชั้นเรียนเหล่านี้ ได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชายสูงวัยที่สูญเสียภรรยา หรือเพิ่งหย่าร้างกับภรรยา แต่ไม่มีความรู้เรื่องหรือทักษะในการดูแลตัวเองเลย
คุณตาทาเคชิ คาเนโกะ วัย 74 ปี ตัดสินใจสมัครเรียนหลังจากภรรยาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ คุณตากินอาหารไมโครเวฟเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังพบว่าตัวเองรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว เพราะนอกจากภรรยาจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกินให้แล้ว เธอยังดูแลชีวิตทางสังคมให้กับเขาด้วย เมื่อเธอจากไป คุณตาทาเคชิจึงตระหนักได้ว่า เขาไม่มีเพื่อนเป็นของตัวเองมากนัก
เมื่อได้เข้ามาที่ชั้นเรียน คุณตาได้เรียนรู้ทักษะการดูแลตัวเองมากมาย เช่นเดียวกับการทำอาหารเพื่อต้อนรับลูกๆ ที่มักจะมาเยี่ยมเยือน
“เวลาลูกๆ มาหา พวกเขามักจะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานและต้องการพักผ่อน ถ้าแม่ของเขายังอยู่ ก็คงจะทำอาหารให้พวกเขากิน และทำให้ลูกๆ รู้สึกเหมือนได้อยู่บ้าน ผมเลยอยากทำให้ได้แบบเดียวกับที่ภรรยาผมทำ” คุณตาทาเคชิ กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น คุณตาทาคาชิยังได้รู้จักเพื่อนใหม่สูงวัยคนอื่นๆ ที่เข้ามาเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่า พวกเขาต่างแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเคล็ดลับการทำอาหารซึ่งกันและกัน
อ้างอิง
Older Japanese men, lost in the kitchen, turn to housework school
LOOK WHO'S IN THE KITCHEN