Skip to main content

 

แพทย์เผย “การทำอาหาร” ช่วยลดความเสี่ยงจาก “ภาวะสมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุได้ เนื่องจากเป็นกิจวัตรที่ใช้การทำงานของสมองหลายส่วน รวมถึงกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำ

“ภาวะสมองเสื่อม” เป็นหนึ่งในปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งแนวโน้มของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อจิตใจและความสัมพันธ์ในครอบครัว

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจะมีปัญหาเรื่องความจำ หลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ๆ ทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ตามมา เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว ด่าทอ การคิดไม่เป็นเหตุเป็นผล รวมถึงมีอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน หากอาการรุนแรงมากขึ้น ผู้สูงอายุจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

พญ.บุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เผยว่า การทำอาหารช่วยเรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ โดยจะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุมีการรู้คิด จดจำวิธีการเตรียมอาหาร ส่วนประกอบ ขั้นตอนการประกอบอาหาร รวมถึงการปรุงรสชาติซึ่งช่วยเรื่องของการใช้ประสาทสัมผัส เช่น การมอง การรับรส และการได้กลิ่น เพื่อที่จะบอกว่าอาหารที่ปรุงมีหน้าตา รสชาติ และกลิ่นเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำให้กับผู้สูงอายุได้

พญ.บุษกรกล่าวว่า ทางสถาบันฯ มีการจัดกิจกรรมการทำอาหาร (Cooking) ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อฝึกการใช้ประสาทสัมผัส ฝึกสมองในส่วนการวางแผน และความจำ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการทำกิจวัตรประจำวันที่ซับซ้อน รวมถึงให้ความรู้ด้านโภชนาการที่เหมาะกับวัยให้กับผู้สูงอายุ และเนื่องจากเป็นการทำแบบกิจกรรมกลุ่ม จึงสามารถเพิ่มทักษะทางสังคม (social cognition) ให้แก่ผู้สูงอายุที่มักจะอยู่คนเดียวได้ด้วยเช่นกัน โดยกิจกรรมการทำอาหารจะจัดขึ้นที่อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามที่โทรศัพท์หมายเลข 0 2024 8481 - 7 ต่อ 108


ที่มา
กรมการแพทย์ เผยกิจกรรมทำอาหาร ช่วยลดความเสี่ยง "ภาวะสมองเสื่อม"