Skip to main content

 

ใครๆ ก็หาว เพราะการ “หาว” เป็นสัญชาตญาณและเป็นไปโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเกิดในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น ยีราฟ แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดในการอธิบายการหาว แต่ทว่า การหาวนั้นมีข้อดีอยู่หลายประการ

 

ทำไมเราจึง ‘หาว’ ?

 

มีเหตุผลมากมายที่ทำให้มนุษย์และเหล่าบรรดาสัตว์หาว นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ประการแรก การหาวเป็นการเพิ่มการหายใจและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ไปเลี้ยงหัวใจและปอดมากขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ แต่การหาวไม่ได้ทำให้ระดับของออกซิเจนโดยรวมในร่างกายสูงขึ้น

ประการต่อมา การหาวเป็นการกระตุ้น หรือเป็นกลไกลที่ต่อสู้กับอาการง่วงเหงาหรือความเบื่อหน่าย การหาวจะไปเพิ่มกิจกรรมให้กับสมองส่วนที่ควบคุมการรับรู้และการจดจำที่เรียกว่า precuneus

นอกจากนั้น การหาวยังเกี่ยวกับการตื่นตัวหรือสัญญาณระแวดระวังภัย ที่สัตว์ส่งให้กับสมาชิกอื่นๆ ของฝูงเพื่อเพิ่มความระมัดระวังและให้ตื่นตัว การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ในปี 2022 เผยว่า การหาวเป็นการบอกกับสมาชิกสัตว์อื่นๆ ว่า เราต้องยกระดับการเฝ้าระวังภัยแล้วนะพวก

เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ การหาวเป็นการปรับความดันภายในหูชั้นในที่เกิดขึ้น เช่น อาการหูอื้อขณะที่อยู่บนเครื่องบินที่บินในระดับความสูงกลางอากาศ หรือช่วงที่ขับรถผ่านภูเขา ซึ่งการหาวสามารถช่วยปรับความดันของหูชั้นในและทำให้เรารู้สึกสบายขึ้น

ประการสุดท้าย การหาวอาจช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและทำให้สมองเย็นลง ทฤษฎีนี้ถูกหยิบยกขึ้นขณะที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหาวมักจะเกิดขึ้นภายหลังที่อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เช่น เมื่อเกิดอาการไมเกรน หรือเกิดอาการลมชัก ซึ่งเมื่ออาการสงบลงแล้ว มักมีการหาวตามมา

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า ทำไมเมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งหาวขึ้นมา คนรอบข้างก็จะพลอยหาวตามไปด้วย และการหาวนี้ยังสามารถติดต่อไปยังสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นได้ เช่น สุนัขอาจหาวตามเมื่อเห็นว่าเจ้าของหรือเห็นว่ามีมนุษย์สักคนหนึ่งหาว

การหาวดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่สลักสำคัญและเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำทุกวัน แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นสิ่งที่เรามีร่วมกันกับสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด ซึ่งอาจคอยเตือนว่า เรามีชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย รวมทั้งอาศัยอยู่บนโลกที่ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะมนุษย์หรือว่าสรรพสัตว์สายพันธุ์ใดก็ตาม

 

ที่มา
The Benefits of Yawning According to Science