Skip to main content

‘คนเก็บขยะ’ ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อความสะอาดของเมือง แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกมองข้ามจากคนในสังคม ด้วยเหตุนี้ คนเก็บขยะในประเทศโคลอมเบียจึงต้องลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่คนเก็บขยะในเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ทำหน้าที่รวบรวม คัดแยก และรีไซเคิลชยะของเมือง ในฐานะแรงงานนอกระบบ ซึ่งนอกจากการเก็บขยะจะเป็นงานที่ยุ่งยากมากแล้ว งานนี้ยังอันตรายและเสี่ยงต่อต่อการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยจากของเสียที่สะสมอยู่ในขยะอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น อาชีพคนเก็บขยะยังเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและถูกกีดกันจากโครงสร้างนโยบายของภาครัฐ

การเลือกปฏิบัติที่คนเก็บขยะในโบโกตาต้องเผชิญสวนทางกับสิ่งที่พวกเขาทำให้กับเมืองแห่งนี้ เพราะคนเหล่านี้ช่วยทำให้โบโกตาสามารถจัดการขยะมากกว่า 1,200 ตันจากการถูกฝังกลบต่อวัน ด้วยการทำงานจัดระเบียบและรีไซเคิลขยะ พร้อมช่วยให้ธุรกิจมากมายในท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานของคนเก็บขยะในโบโกตาจะมีประโยชน์ต่อชุมชนมากแค่ไหน แต่พวกเขากลับมีได้รายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 3.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน (หรือประมาณ 125 บาท) เท่านั้น

นั่นคือ สาเหตุที่ทำให้คนเก็บขยะในโบโกตาลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิ ศักดิ์ศรี และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพวกเขา โดยรวมตัวกันก่อตั้งองค์กรสำหรับคนเก็บขยะในโบโกตา ใช้ชื่อว่า Asociación Cooperativa de Recicladores de Bogotá หรือ ARB เพื่อเป็นตัวแทนของคนเก็บขยะ ซึ่งพวกเขาประสบความสำเร็จในหลายระดับ อย่างเช่นในปี 2011 ศาลรัฐธรรมนูญของโคลอมเบียมีคำตัดสินว่า คนเก็บขยะมีสถานะการคุ้มครองพิเศษจากรัฐ หน่วยงานของรัฐจึงมีพันธกิจที่จะต้องปกป้องพวกเขา และให้การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เพื่อเอาชนะความยากจนให้ได้

เช่นเดียวกับในปี 2016 ที่รัฐบาลโคลอมเบียได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดการทำงานของคนเก็บขยะ โดยก่อตั้งโครงการ “second payment” เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับคนเก็บขยะหลายพันคน โดยนอกเหนือจากเงินที่ได้จากการขายขยะรีไซเคิลแล้ว คนเก็บขยะยังจะได้รับเงินส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียมการจัดการขยะที่เรียกเก็บจากครัวเรือน ซึ่งทำให้คนเก็บขยะได้รับเงินตั้งแต่ 50 - 170 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 1,800 - 6,200 บาท) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าของรายได้ปกติ

“เราคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากการต่อสู้ของเราเอง เราคือคนเก็บขยะรุ่นใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” คนเก็บขยะในโบโกตา กล่าว

โคลอมเบีย เป็นประเทศเดียวในละตินอเมริกาที่ให้การยอมรับเรื่องสิทธิของคนเก็บขยะอย่างเป็นทางการ นี่คือผลลัพธ์โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของคนเก็บขยะ ที่นำไปสู่การปกป้องและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ตัวเองให้ดีขึ้น


อ้างอิง
เว็บไซต์ขององค์กร ARB
HOW WASTE PICKERS IN BOGOTA FOUGHT FOR RIGHTS AND RECOGNITION
Colombian waste pickers called to re-invent themselves
How Bogotá’s Waste Pickers Reinvented Their Jobs for a Modern City