ขยะ ‘ตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง’ ในเมืองแวนคูเวอร์ที่มากกว่า 1 แสนชิ้นต่อวัน ทำให้วิศวกรหนุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองเห็นถึงปัญหาและเปลี่ยนพวกมันจากขยะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรูหรา สร้างทางเลือกในการใช้ทรัพยากรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
หลังกลับจากร้านซูชิ Felix Böck วิศวกรชาวเยอรมันก็เกิดไอเดียสุดเจ๋งที่จะเปลี่ยน “ตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง” ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก และในวันรุ่งขึ้น Böck ก็นำถังขยะรีไซเคิลไปที่ร้านอาหารในย่านที่เขาอยู่ พร้อมสัญญากับร้านอาหารเหล่านั้นว่า เขาจะมาเก็บตะเกียบที่ใช้แล้วทุกสัปดาห์ โดยวิศวกรหนุ่มเริ่มทดลองนำตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งเหล่านั้นมาสร้างเป็นที่รองแก้วและเขียง ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ChopValue บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ระดับพรีเมียมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และท้าทายบรรทัดฐานการผลิตในอุตสาหกรรมไม้แบบดั้งเดิม
ด้วยความต้องการใช้ไม้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการตัดไม้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความต้องการตะเกียบไม้ก็ยังมีอยู่ จึงทำให้หลายบริษัทเลือกใช้ที่จะไม้ไผ่มาผลิตเป็นตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง เพราะเป็นพืชที่โตเร็วและมีความแข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งเหล่านี้ก็นำมาซึ่งปัญหาขยะล้นโลกเช่นเดียวกัน และหลายครั้งจุดจบของพวกมันก็คือการถูกฝังกลบ ซึ่ง Böck ต้องการที่จะลดปัญหานั้น เขาจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจที่ยังคงไว้ซึ่งการใช้ตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้ง แต่ก็ช่วยจัดการปัญหาขยะล้นโลกด้วยเช่นกัน
“ในฐานะวิศวกร ผมอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า สิ่งไร้ค่าอย่างขยะก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เยี่ยมยอดได้เช่นกัน” Böck กล่าว
ร้านอาหารต่างๆ ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นบ้านของ Böck มีใช้ตะเกียบไม้มากกว่า 100,000 ชิ้นต่อวัน ขณะที่เมืองต่างๆ ในเอเชียมีอัตราการใช้ตะเกียบไม้อยู่ที่หลักล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขยะจำนวนมหาศาลให้กับโลก แต่การนำตะเกียบไม้เหล่านี้กลับมาผลิตใหม่ คือ การสร้างคุณค่าให้กับทรัพยากรที่ไร้ค่า โดย ChopValue นำตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์หลายชนิด เช่น ชั้นวางหนังสือ หรือโต๊ะ เป็นต้น
การนำตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้งมาทำเครื่องใช้ในบ้าน ไม่เพียงแต่เป็นการลดขยะเท่านั้น Böck บอกว่า วัสดุนี้ยังมีความสวยงามเหมือนกับเนื้อไม้จากเขตร้อน และเขาหวังว่า ความสวยงามของเฟอร์นิเจอร์จากตะเกียบใช้แล้วจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ช่างไม้คนอื่นๆ ได้พิจารณาทางเลือกที่ยั่งยืน มากกว่าการเลือกใช้ทรัพยากรไม้ที่มีกระบวนการผลิตซึ่งกระทบสิ่งแวดล้อม
“ผมหวังว่าในอนาคต ทุกเมืองจะทำแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลมาใช้แทนการขนขยะออกจากเมือง เพราะขยะไม่เคยหายไปไหน ดังนั้น หากเราสามารถสร้างวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดนิยามใหม่ให้กับวัสดุเหล่านี้มากขึ้น เราก็จะสามารถเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรใหม่ เช่นเดียวกับสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงได้เช่นกัน” Böck กล่าว
จนถึงวันนี้ ChopValue ได้รีไซเคิลตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งไปแล้วมากกว่า 150 ล้านชิ้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะออกสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 7,302,600 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกันก็มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลกกระจายอยู่ใน 9 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นไปที่การจัดหาและการผลิตในท้องถิ่น
อ้างอิง
เว็บไซต์บริษัท ChopValue
Making a Desk with 10,000 Recycled Chopsticks