Skip to main content

 

เมืองอาร์นสเบิร์ก ของเยอรมนี ถูกยกย่องว่าเป็นเมืองที่ “เป็นมิตรกับผู้สูงวัย” มากที่สุดในโลก การสร้างเมืองอาร์นสเบิร์กให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย เป็นโครงการต้นแบบของสำนักงานเพื่ออนาคตผู้สูงอายุ ที่มุ่งให้เป็นตัวอย่างกับเมืองต่างๆ ทั่วโลกในการดูแลประชากรสูงวัยของตัวเอง

ปัจจุบัน เยอรมนีกำลังเข้าสู่วัยชราเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก สัดส่วนของประชากรที่อายุ 65 ปีของเยอรมนีสูงถึงร้อยละ 14 ขณะที่ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 21.4

อาร์นสเบิร์ก ก็เป็นเช่นเดียวกับเมืองต่างๆ ของเยอรมันที่ประชากรสูงวัยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีปัญหาการเพิ่มขึ้นของโรคสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย โดยที่ร้อยละ 10 ของประชากรป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ปัจจุบันอาร์นสเบิร์กมีประชากร 73,573 คน และมีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีราว 17,000 คน และคาดว่าจะมีประชากรสูงอายุในสัดส่วนถึง 55 คนต่อประชากรหนุ่มสาว 100 คน

จุดเปลี่ยนของอาร์นสเบิร์กเริ่มต้นในปี 1995 ที่มีการสำรวจความคิดเห็นประชากรของเมืองที่อายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 28,000 คน ถึงความคาดหวังและความต้องการในช่วงชีวิตวัยชรา ผลสำรวจนี้ต่อมาได้กลายเป็นวิสัยทัศน์และตัวกำหนดทิศทางอนาคตที่สำคัญของเมืองอาร์นสเบิร์ก

การสำรวจในปี 1995 พบว่า หลังเกษียณอายุแล้ว ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปไม่ต้องการเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน พวกเขายังต้องการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม ยังต้องการที่จะเรียนรู้ต่อไป และอยากทำประโยชน์ให้กับสังคม ที่สำคัญ คือ พวกเขาไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยวตัวคนเดียวในช่วงอัสดงของชีวิต

สิ่งนี้เองที่เปลี่ยนแปลงมุมมองของเมืองไปโดยสิ้นเชิง จากที่เคยมองว่าผู้สูงอายุไม่ควรทำอะไร หรือไม่ก็สร้างสถานที่ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มาเป็นว่า เมืองควรจะทำอะไรและควรสร้างโครงการใหม่ๆ อะไรบ้างเพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น

หลังการสำรวจความเห็นของประชากรสูงอายุ ฮานส์ โจเซฟ โวเกล ผู้บริหารเมืองอาร์นสเบิร์ก ก็ตั้ง สำนักงานเพื่ออนาคตผู้สูงวัย ขึ้นในปี 2004

“แต่ก่อน ผู้สูงวัยต่างเก็บตัวเพราะความแก่ กลายเป็นคนที่ไร้ค่า ก็เลยอยู่แต่ในสถานดูแลคนชรา แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถปรากฏตัวตามถนนหนทางในเมือง ในงานเทศกาล แม้แต่ในงานปาร์ตี้ต่างๆ” อาสาสมัครที่ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมที่บ้านกล่าว

สาธารณูโภคต่างๆ ของเมืองถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นมิตรกับผู้สูงวัยมากขึ้นและใช้การได้ดี มีการปรับปรุงทางเดินเท้าให้กว้างขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวก และกิจกรรมต่างๆ ในเมือง

มาร์ติน โปแลนซ์ ผู้บริหารสำนักงานเพื่ออนาคตผู้สูงวัยเมืองอาร์นสเบิร์ก บอกว่า ทางหน่วยงานมีโครงการสนับสนุนผู้สูงอายุมากกว่า 200 โครงการ รวมทั้งยังคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานอื่นๆ ของเมือง

บางโครงการเป็นการเพิ่มม้านั่งพักผ่อนใต้ร่มเงาทุกๆ 200 เมตร เพื่อรองรับการเดินเล่นของผู้สูงวัยในเมือง หากเกิดหลงทาง ผู้สูงอายุสามารถขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครที่จะคอยพาไปส่งยังสถานที่ที่ต้องการจะไป ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้พร้อมจะนั่งรถบัสไปกับผู้สูงอายุ รวมทั้งพาไปชอปปิ้งข้าวของ และช่วยถือถุงสัมภาระพาผู้สูงอายุกลับไปส่งถึงบ้านอย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่อาศัยบนตึกสูงในราคาที่ผู้สูงอายุสามารถจ่ายไหว ซึ่งปรับปรุงตามความต้องการของผู้สูงอายุ แต่สิ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ แล็ปการเรียนรู้เรื่องโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติของชาวเมืองที่มีต่อโรคสมองเสื่อม โดยมีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับโรค เพื่อลดความหวาดกลัวของผู้คนต่อโรคนี้ซึ่งเกิดกับผู้สูงอายุ โดยในตอนนี้ชาวเมืองเริ่มเปลี่ยนความคิดและมีความเห็นอกเห็นใจผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งร้านกาแฟชื่อ Café Zeitlos หรือคาเฟ่ไร้เวลา ไว้เป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและผู้ดูแลเข้ามาผ่อนคลาย และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณตาวอลเตอร์ รูเพิร์ต อายุ 98 ปี บอกว่า เขาเคยพาภรรยาซึ่งป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมาเป็นประจำ และแม้ว่าภรรยาของคุณตาจะจากไปแล้ว แต่คุณตาก็ยังมาที่นี่อยู่ทุกสัปดาห์

“มันเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้ทรัพยากรและความสามารถในการรองรับ การทำให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ได้หรือไม่ก็กลายเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว เราไม่ต้องการให้ผู้สูงอายุของเรามีชีวิตโดดเดี่ยวอยู่ตามชายขอบของเมือง” โปแลนซ์กล่าว


อ้างอิง
Discover the World’s Most Aging-Friendly Town
Is This the World’s Most Aging-Friendly City?
The Top 50 Countries With the Largest Percentage of Population Aged 65 and Up