โครงการจับคู่ติวเตอร์หลังวัยเกษียณกับนักเรียนประถมในสหรัฐ เป็นคู่หูช่วยพัฒนาการอ่านเขียน และการคำนวณ ช่วยเติมเต็มทักษะวิชาการให้กับเด็กๆ ที่ขาดหายไปในช่วงการระบาดของโควิด ส่งผลดีต่อการเรียนของเด็กๆ ทั้งทำให้ผู้สูงวัยให้ยังคงแอ็คทีฟ และได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม
ฮาร์ลัน นักเรียนชั้นประถม 1 โรงเรียนเบย์เลส ในเมืองเซนต์หลุยส์ กับ คุณยาย มาร์กี้ มานเจลสดอร์ฟ ‘ติวเตอร์’ คู่หูวัย 72 ปี กำลังทบทวนเรื่องราวและตัวละครในหนังสือเด็กยอดนิยมเรื่อง “ไฮ! ฟลายกาย” ที่ทั้งคู่เพิ่งอ่านจบ
“ในตอนเริ่มเรื่อง มีแมลงหนึ่งตัว จากนั้นเขาก็จับมันได้และใส่ไว้ในขวดโหล จากนั้นเกิดอะไรขึ้น” คุณยายมาร์กี้ถาม ขณะที่ฮาร์ลันจับปากกาและเริ่มเขียนบรรยาย การจับคู่แบบนี้ช่วยให้คำศัพท์ของฮาร์ลันพัฒนาดีขึ้น แม้จะยังไม่มั่นใจกับการที่ต้องเขียนแบบทันทีทันใดแบบนี้
คุณยายมาร์กี้ จะใช้เวลาสองสามวันต่อสัปดาห์มาเป็นติวเตอร์ให้กับเด็กๆ ผ่านโครงการชื่อ Oasis Intergenerational Tutoring ซึ่งเป็นโครงการจับคู่อาสาสมัครกับเด็กนักเรียน โดยใช้เวลา 30-45 นาทีต่อสัปดาห์ โครงการนี้ดูแลโดย สถาบันโอเอซิส องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์หลุยส์ ซึ่งทำเรื่องการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุผ่านการร่วมกิจกรรมกับชุมชน และทำเรื่องของการศึกษาต่อเนื่อง
เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะอยู่ระหว่างชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมสาม โดยครูจะคัดเลือกว่าเป็นเด็กคนไหนมีความจำเป็นต้องส่งเสริมทักษะด้านวิชาการและต้องการการพัฒนาด้านทักษะทางอารมณ์และสังคม ขณะที่ติวเตอร์อาสามัครอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 72 ปี ซึ่งคุณยายมาร์กี้ หนึ่งในอาสาสมัครเคยสอนที่โรงเรียนประถมเบย์เลสมาเป็นเวลา 22 ปี
การจัดทำบริการการศึกษารูปแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตด้านการศึกษาจากการที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 ซึ่งผลการทดสอบมาตรฐานการศึกษาในอีก 4 ปีต่อมา พบว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนประถมทั่วสหรัฐ สูญเสียการเรียนไปเท่ากับปีที่โควิดระบาด โดยเด็กนักเรียนในเมืองเซ็นต์หลุยส์มีทักษะการอ่านและทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นพยายามจัดทำโครงการติวของตัวเอง หรือประสานกับกลุ่มที่ทำงานด้านนี้ โดยเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนจำนวนหลายล้านดอลลาร์
พอล ไวส์ ประธานของโอเอซิสกล่าวว่า โครงการคู่ติวเตอร์สองวัยนี้มีอยู่ใน 15 รัฐของสหรัฐ โดยเริ่มต้นก่อนที่รัฐมิสซูรีตั้งแต่ 35 ปีก่อน เขากล่าวว่า โมเดลของโอเอซิสนั้นแตกต่างจากที่อื่นๆ เนื่องจากคนที่มาเป็นติวเตอร์อาสาสมัครเป็นคนวัยเกษียณแล้ว และมีค่าตอบแทนให้ไม่มากนัก จึงทำให้โครงการสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องและยั่งยืนกว่า แม้ว่าเงินสนับสนุนเพื่อการฟื้นฟูหลังโควิดจะสิ้นสุดลงในปีนี้
ประธานของโอเอซิสกล่าว ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ นอกจากช่วยเรื่องการพัฒนาทักษะทางวิชาการให้กับเด็กๆ แล้ว ยังทำให้ตัวติวเตอร์อาสาสมัครสูงวัยยังได้เชื่อมต่อกับโลกกว้างแทนที่การอยู่เฉยๆ กับบ้าน อาสาสมัครบางคนทำงานในโครงการนี้มานานกว่าสิบปี ได้สร้างมิตรภาพกับครูและบุคลากรในโรงเรียน รวมถึงเพื่อนๆ ติวเตอร์ด้วยกัน
“แก่นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ เราจะเชื่อมผู้สูงอายุกับคนอื่นๆ ยังไง ความคิดและกิจกรรมต่างๆ จึงอยู่ในวิถีที่จะเพิ่มร่องรอยของการมีชีวิตอยู่ของพวกเรา เราจะวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้สูงอายุยังไงให้มากกว่าการเป็นกลุ่มคนแก่ที่ต้องได้รับการดูแล แต่เราทำให้พวกเขากลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนอเมริกัน” พอลกล่าว
สำหรับคุณยายมาร์กี้ เธอเห็นว่า สิ่งที่ทำนี้มีคุณค่า และเป็นโอกาสในการได้เฝ้าดูเด็กๆ เติบโตผ่านปีการศึกษา และเนื่องจากฮาร์ลันมีพัฒนาการด้านการอ่านที่ดี เธอจึงอยากขอให้ครูประจำชั้นของฮาร์ลันเพิ่มระดับความยากของหนังสือที่เขาจะอ่านให้มากขึ้น
คุณยายมาร์กี้ และติวเตอร์อาสาสูงวัยอีกหลายพันคนมีส่วนร่วมในโครงการทดลองติวเด็กเล็กทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มความหวังให้กับครอบครัว รวมถึงผู้กำหนดนโยบายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาที่การเรียนการสอนหยุดชะงักไป
สเตซี บัทซ์ ผู้ประสานงานโครงการโอเอซิสกล่าวว่า ในเวลาครึ่งชั่วโมง ก็ทำให้เด็กๆ ได้เพิ่มทักษะการอ่าน การเขียน และการสื่อสารเพิ่มขึ้น และพัฒนาความสัมพันธ์อันสวยงามร่วมกับคุณตาคุณยายที่เป็นติวเตอร์อาสาสมัครด้วย
อ้างอิง
เฟสบุ๊ก St. Louis Oasis
Why Schools Are Welcoming Intergenerational Tutoring