"ริว" จบการศึกษาทางด้าน Computer Science จาก National University of Singapore (NUS) เขาเป็นอดีตประธานสมาคมนักเรียนไทยในสิงคโปร์ หรือ ATSIS (Association of Thai Student in Singapore) และจะพาทุกท่านไปสัมผัสชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงเส้นทางที่นักศึกษาต่างชาติต้องเผชิญหลังจากที่ได้ใบปริญญา
อ่าน นักศึกษาไทยในสนามชิงชัยชื่อสิงคโปร์ ตอน 1
เครือข่ายนักเรียนไทยในสิงคโปร์
ริว เคยเป็นประธาน สมาคมนักเรียนไทยในสิงคโปร์ หรือ ATSIS (Association of Thai Student in Singapore) แหล่งรวมตัวนักเรียนไทยทุกระดับ ทุกสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย ป.ตรี โท เอก นักเรียนที่มาแลกเปลี่ยนหรือมาทำโปรเจ็คที่สิงคโปร์ก็สามารถเข้าร่วมได้ จากข้อมูลของ ATSIS พบว่า มีนักเรียนไทยในสิงคโปร์มากกว่า 200 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในระดับปริญญาตรีนิยมมาเรียน การเงิน การตลาด เศรษฐศาสตร์ Business Analytics, Animation, Graphic Design, Integrated Sustainable Design, Public Policy, วิศวกรรมศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น Data Science, Computer Science, Computer Engineering, Life Science (Biology), Chemistry, Physics เป็นต้น
ATSIS มีขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของนักเรียนไทยในสิงคโปร์ ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสังสรรค์ร่วมกันในบางโอกาส บ้างก็หาตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินไทยที่มาแสดงที่สิงคโปร์มาแจก บ้างก็รวมตัวทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียอย่างสนุกสนาน บ้างก็จัดแนะแนวเรียนต่อให้นักเรียนไทยทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์ บ้างก็จัด Career Fair ร่วมกับบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ
ล่าสุดเพิ่งจัด Career Fair ร่วมกับ JobTopGun Thailand เพื่อบริษัทไทยที่สนใจจ้างนักเรียนนอกเข้าทำงาน อาจกล่าวได้ว่า ATSIS เป็นกลุ่มเพื่อนที่อยู่เคียงข้างเด็กนักเรียนไทยตั้งแต่วันแรกที่มาเหยียบเกาะสิงคโปร์เลยทีเดียว
“หากเด็กไทยต้องการความช่วยเหลืออะไร หรือมีเรื่องไม่สบายใจ เรื่องเครียด เรื่องการเรียน หรืออยาก join community ก็สามารถติดต่อ ATSIS ได้เลยนะครับ” ริวกล่าว
นอกจากนี้ ATSIS ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สมาคมไทย สิงคโปร์ และ สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ ที่ร่วมกันจัดงานสงกรานต์ งานวันลอยกระทง และงานเลี้ยงสังสรรค์กับนักเรียนไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่ก่อนคนไทยก็จะพากันไป Golden Mile Complex ศูนย์การค้าที่มีร้านค้าไทยและร้านอาหารไทยมากมาย และเป็นแหล่งรวมตัวของคนไทยขนาดใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนริวและเพื่อน ๆ มักมากินอาหารไทยที่นี่ แต่น่าเสียดายที่ศูนย์การค้าแห่งนี้ต้องปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ทำให้ร้านค้าต่างกระจัดกระจายไปยังที่ต่าง ๆ ตอนนี้ริวชอบไปกินหมูกระทะและอาหารไทยอื่น ๆ ที่ Folks Collective และ Warm Up Cafe ร้านอาหารและบาร์ไทยย่าน CBD แทน
● สมาคมไทย สิงคโปร์ หรือ Thai Association Singapore เป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ที่ช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนชาวไทยพร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของไทยให้กับประชาชนทั่วไป
ย่อมาจาก Central Business District ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากมาย |
‘Kiasu Culture’ เมืองเจริญ คนกระด้าง
Kiasu เป็นคำศัพท์ภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง พฤติกรรมหรือความรู้สึกที่ไม่อยากแพ้คนอื่น พยายามเอาชนะ ไม่ใช่แค่ทำให้ดีกว่าคนอื่น แต่บางครั้งถึงขั้นกดคนอื่นให้ต่ำกว่าในบางครั้ง อันนำไปสู่นิสัยที่ชอบการแข่งขันและมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นลดน้อยลง
วัฒนธรรม Kiasu สอดแทรกอยู่ในทุกแง่มุมชีวิตของสังคมสิงคโปร์ เช่น การสอบ PSLE ของเด็ก ป.6 เพื่อเข้า ม.1, การสอบ O-level ตอน ม. 4 และ A-level ตอน ม.6 ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับชาติที่เคร่งเครียดและกดดันทั้งเด็กและผู้ปกครอง หรือการแข่งกันสะสมแต้มเพื่อแย่งเข้าหอพักของมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวไปข้างต้น
แต่ข้อดีของวัฒนธรรม Kiasu คือ ความเจริญก้าวหน้าของสังคมในมิติต่าง ๆ เพราะผู้คนต่างก็แข่งกันเป็นที่หนึ่ง แข่งกันสร้างและพัฒนา ผลลัพธ์จึงเป็นบ้านเมืองที่สวยงามและเจริญรุ่งเรืองอย่างสิงคโปร์ในปัจจุบัน แต่ก็แลกมากับความเครียดในการใช้ชีวิต ถึงชัยชนะจะหอมหวาน แต่ความพ่ายแพ้ก็บั่นทอนจิตใจขนาดหนัก
“ผมไม่ค่อยชอบ Kiasu Culture เพราะถ้าเราไม่ระวังมันจะ destructive มากกว่า constructive แต่ผมเองก็ชอบ Meritocratic Culture ของสิงคโปร์นะ เราควรพิจารณาเหรียญทั้ง 2 ด้านจะได้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของมัน” ริวกล่าว
● Destructive แปลว่า บ่อนทำลาย ● Constructive แปลว่า สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ ● Meritocratic Culture คือ วัฒนธรรมการให้คุณค่าคนจากความสามารถ ไม่ใช่สถานะหรือทรัพย์สิน |
ในรั้วมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ก็มีวัฒนธรรม Kiasu แทรกอยู่อย่างเข้มข้น นักศึกษาต่างแข่งกันเรียน ซุ่มอ่านหนังสือ ต่างคนต่างอยู่
“คนไทยเราก็จะถามเพื่อนว่าไหวไหม เป็นอะไรหรือเปล่า แต่คนที่นี่ถ้าไม่สนิทกันจริง ๆ เขาก็อาจจะไม่ได้ยื่นมือมาช่วยกันขนาดนั้น” ริวเล่า
ริวเป็นห่วงนักเรียนไทยที่ไม่มีภูมิคุ้นกันจากสังคมที่มีการแข่งขันสูงมาก่อน ซึ่งจะต้องปรับตัวอย่างหนักหน่วง
“ระวังโดน Kiasu กลืน ถ้าติด Kiasu แล้วชีวิตจะเครียดมาก ความท็อกซิกอาจก่อตัวขึ้นในใจโดยที่เราไม่รู้ตัวแล้วเอาออกยาก ไม่ต้องไปแข่งกับเขา แต่แข่งกับตัวเองให้ทุก ๆ วันของเราดีขึ้น เดินไปข้างหน้าในจังหวะของตัวเองและอย่ายอมแพ้ แค่นี้ก็พอแล้ว” ข้อคิดที่ริวฝากถึงทุกคน
ส่วนบรรยากาศการเรียนในห้อง ริวเล่าว่าประชากรของ Computer Science ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเนิร์ด ไม่ค่อยคุยกันมากเท่าคณะอื่น เพื่อนร่วมคลาสนอกจากจะเป็นอัจริยะ ซึ่งบางคนเลือกเรียนภาควิชานี้แทนที่จะเลือกเรียนแพทย์หรือกฎหมาย ยังมีนักเรียนทุนต่างประเทศที่ย้ายมาจากคณะอื่น ทำให้มีกลิ่นอายการแข่งขันเข้มข้นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเรียน จึงค่อนข้างกดดันพอสมควร
แต่เมื่อไปเรียนต่างคณะก็จะมีบรรยากาศที่ต่างออกไปแล้วแต่คาแรคเตอร์ของผู้เรียน เช่น Business ก็จะเข้าถึงง่าย คนไทยส่วนมากไม่มีปัญหากับการเข้าหาคนสิงคโปร์ เพราะคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่มักจะชอบคนไทย (และอาหารไทย) แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เป็น Xenophobia หรือโรคเกลียดกลัวคนต่างชาติโดยที่ไม่ได้เจาะจงที่ชาติใดเป็นหลัก ซึ่งริวบอกว่า เราและเขาก็พยายามไม่ข้องเกี่ยวกัน
เด็กจบใหม่ประสบการณ์ 4 ปี มีจริงที่สิงคโปร์
การฝึกงาน ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความเข้มข้นและแข่งขันสูงของนักเรียนและนักศึกษาในสิงคโปร์ได้ดี เพราะที่นี่สามารถฝึกงานและทำงานในบริษัทต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ชั้นมัธยม หรือช่วงเวลาระหว่างปิดเทอม ม.6 รอขึ้นปี 1 ก็มีนักเรียนสิงคโปร์จำนวนมากเริ่มต้นชีวิตทำงานก่อนชีวิตมหาวิทยาลัยเสียอีก เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วก็นิยมฝึกงานกัน 5-7 ที่ มากที่สุด 12 ที่ ในระยะเวลา 4 ปี โดยฝึกงานช่วงปิดเทอม หรือระหว่างเรียน หรือทั้งคู่ บริษัทหรือองค์กรที่ไปฝึกงานก็มีหลากหลายประเภท หลายขนาด หลากระดับ ทั้งนักศึกษาติดต่อฝึกงานด้วยตัวเอง และมหาวิทยาลัยช่วยหาให้
● ที่สิงคโปร์ นักเรียนและนักศึกษาจากบางสถาบันที่รัฐกำหนดสามารถถูกว่าจ้างให้ทำงานในบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย |
ที่ NUS มีโครงการฝึกงานมากมาย ตามสาขาและหลักสูตร บางโครงการก็ได้ร่วมงานกับบริษัทชั้นนำระดับโลกทั้งในและนอกประเทศ การบินไปต่างประเทศเพื่อฝึกงานหลาย ๆ เดือนเป็นเรื่องปกติของนักเรียนที่นี่ นอกจากนี้ NUS ยังสร้าง Job Portal ที่เรียกว่า NUS TalentConnect หรือช่องทางหางานหรือที่ฝึกงาน ให้บริษัทที่ต้องการว่างจ้างนักศึกษา NUS มาประกาศรับสมัครงานโดยเฉพาะ
ริวยังเสริมอีกด้วยว่า NUS มีโครงการ Experiential Learning ที่ไปทำงานกับ Start Up ต่างประเทศที่มีชื่อเรียกว่า NOC ส่วนริวไม่ร่วมโครงการฝึกงานต่างประเทศนี้ของมหาวิทยาลัยเพราะริวมองว่ายังมี “การตีกรอบ” ที่มากเกินไปสำหรับการเป็นผู้ประกอบการที่ดี ผู้ประกอบการควรสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ไม่ใช่ยื่นใบสมัครบนโต๊ะที่มีคนเอามาตั้งเอาไว้แล้วทำตามเกณฑ์ 1, 2, 3, 4… (เช่น บังคับว่าต้องเรียนวิชานี้ ลงคอร์สนี้แล้วจะต้องไปเรียนคอร์สสัมนาเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ และมีสอบวัดผลอีกทีว่าควรทำอะไร อย่างไร) ริวจึงอยากออกนอกกรอบและพิสูจน์ว่าแม้ไม่ได้เดินตามเส้นทางที่สังคมกำหนดไว้ เขาก็สามารถไปถึงเป้าหมายได้เช่นกัน ริวหาบริษัทที่อยากร่วมงานด้วยตนเอง และปัจจุบันทำงานที่นั่นมาร่วม 2 ปีแล้ว
ด้วยประสบการณ์ฝึกงานที่โชกโชน ทำให้วลี “เด็กจบใหม่ประสบการณ์ x ปี” เป็นเรื่องปกติสามัญในสิงคโปร์ ความเหนือมนุษย์ ความทะเยอะทะยานที่ตั้งเป้าหมายชัดเจน วางแผนรอบคอบรัดกุมเป็นระบบระเบียบ เป็นจุดแข็งที่นำพาให้สิงคโปร์พัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ริวก็ไม่ค่อยชอบความเป็นระบบ มีแบบแผนและเส้นทางที่เป็น “สูตรสำเร็จ” นี้มากนัก
เขามองว่านวัตกรรมต่าง ๆ ในประเทศนี้แม้จะล้ำสมัยแต่ก็ยังถูกสร้างอยู่ในกรอบ ยังไม่มี “Wow Factor” เหมือนในสหรัฐ หรือแม้กระทั่งในไทย
“สมมติว่าคุณอยากสร้างบริษัท Start-Up คนไทยก็จะมีวิธีสร้างที่แตกต่างหลากหลาย อาจเกิดจากการรวบรวมคอนเนคชัน ทำงานมาสักพัก มีประสบการณ์มากพอ รู้จักคนมากพอ ก็พอจะเริ่มทำได้ แต่ที่สิงคโปร์ เขาจะทำ To do list ขึ้นมา แล้วลงมือทำตามนั้น ถ้าไม่มี list ก็ไม่ทำ หรืออย่างสายครีเอทีฟ งานโฆษณาที่นี่ก็มีสูตรในการทำ มี KPI ทุกขั้นตอน แต่พอเขามาเห็นโฆษณาไทยที่มีจิ้งจกกอดกันก็จะว้าวกันมาก” ริวเล่า
เปิดประตูใจ ค้นพบสิ่งใหม่ที่สิงคโปร์
ด้วยตำแหน่งประธาน ATSIS และอัธยาศัยที่ดีของริว ทำให้เขามีเพื่อนมากมายหลายกลุ่ม ทั้งเพื่อนนักเรียนไทย นักเรียนแลกเปลี่ยน นักเรียนสิงคโปร์ เพื่อนกลุ่มเด็กเรียน กลุ่มทำกิจกรรม แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนเรียนเก่ง ทุกคนอ่านหนังสือ พอทุกคนมีความคล้ายกัน ก็ทำให้เราค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น
“เมื่อก่อนเราก็เป็นเด็กเรียน แต่พอเจอทุกคนเป็นเด็กเรียน อีโก้เราก็จะลดลงเพราะเราไม่ใช่คนพิเศษอีกต่อไป เรารู้จักตัวเองมากขึ้นหลังจากที่เห็นทุกคนอ่านหนังสือ ทำให้เราอยากออกไปค้นหาตัวเองมากขึ้น” ริวเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เขาได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ และพบว่าชีวิตยังมีสิ่งให้ค้นหาอีกมากนอกจากการเรียน หากลดอัตตาของตัวเองลง และเป็นตัวเองให้มากขึ้น
นอกจากเพื่อนนักเรียนไทย ริวก็มีเพื่อนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเพื่อนคนสิงคโปร์ที่พาไปเปิดโลกคริสตศาสนาในสิงคโปร์ที่โบสถ์ Heart of God Church ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ “มันส์” ในรูปแบบเวทีคอนเสิร์ต บทเพลงสรรเสริญพระเจ้าในทำนองร็อค ผู้คนกระโดดโลดเต้นตะโกนร้องเพลงสุดพลัง ทำให้เขาได้เห็นสิงคโปร์ด้านที่สนุกสนาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และต้อนรับคนที่หลากหลาย
“ผมเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่ได้ปิดกั้นคำสอนของศาสนาอื่น ๆ และแม้ผมจะใช้ชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุและผลเนื่องจากเรียนสายวิทย์มาตลอด แต่ผมก็เชื่อและศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธ คริสต์ ซิกข์ และ เซนญี่ปุ่น ผมว่ามันมีอะไรหลายอย่างให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางความคิดและความเชื่อ” ริวเล่า
ความหนักใจมากับใบปริญญา
ทุนที่รัฐบาลมอบให้นักเรียนต่างชาตินั้น พ่วงมาด้วยเงื่อนไขว่าจะต้องทำงานในสิงคโปร์ต่ออีก 3 ปี หลังเรียนจบ คล้ายกับการ “ใช้ทุน” ในวงการแพทย์ของไทย หากผู้รับทุนไม่ต้องการใช้ทุน (อาจจะเพราะต้องการไปทำงานต่างประเทศ หรือ หางานในสิงคโปร์ไม่ได้) จะต้องชดใช้ทุนเป็นค่าเทอมตลอดการศึกษาพร้อมดอกเบี้ย
ริวเองก็กำลังอยู่ระหว่างการต่อรองกับบริษัทเพื่อขอทำงานที่ไทย ซึ่งการทำงานกับบริษัทสิงคโปร์หรือบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ เช่น Microsoft, Google สามารถทำงานนอกสิงคโปร์ได้โดยไม่ผิดสัญญาการใช้ทุน อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะออก EP Eligibiltiy Letter คล้ายกับจดหมายแนะนำให้กับผู้รับทุนไปยื่นกับนายจ้างเพื่อสมัครงาน เพิ่มโอกาสภาครัฐในการออกใบอนุญาตทำงานเพื่อให้ได้งานแรกในสิงคโปร์หลังจบการศึกษา
● EP Eligibility Letter คือ จดหมายรับรองคุณสมบัติโดยมหาลัยเพื่อส่งให้รัฐบาล ละเว้นเงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับผู้ที่ต้องการสมัคร EP (Employment Pass) ซึ่งโดยปกติจะต้องมีเงินเดือน 5,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นไป (นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป) เพื่อช่วยให้ผู้ถือจดหมายได้รับการจ้างงาน โดยที่นายจ้างสามารถออก EP ให้ได้ แม้เงินเดือนจะไม่ถึง 5,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ |
สถานะ PR หรือ Permanent Residency ของสิงคโปร์ ก็เป็นสิ่งที่นักเรียนต่างชาติและชาวต่างชาติในสิงคโปร์หลายคนต้องการ เนื่องจากผู้ถือ PR สามารถสมัครงานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง โควตาการจ้างชาวต่างชาติ ของบริษัทต่าง ๆ หากชายต่างชาติสมัคร PR ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยจะมีสิทธิ์ได้รับสูงมาก เพราะจะต้องไป รับใช้ชาติ เป็นทหาร, ตำรวจ หรือข้าราชการพลเรือนของสิงคโปร์ (National Service) ซึ่งชายสิงคโปร์ทุกคนต้องทำเป็นระยะเวลา 2 ปี นั่นเอง
นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ชายสิงคโปร์นิยมแต่งงานไวดังที่กล่าวไปข้างต้น เพราะพวกเขามองว่า การรับใช้ชาติเป็นเวลา 2 ปีแรกหลังเรียนจบนั้นเป็นการเสียโอกาสและเวลาไปมากแล้ว แต่หากผู้ชายต่างชาติสมัคร PR หลังเรียนจบ ถ้าได้ก็ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร แต่โอกาสในการได้ก็ต่ำมาก การไม่สมัคร PR ตั้งแต่ยังเรียนอยู่จึงเป็นการปล่อยโอกาสที่ใหญ่ที่สุดให้หลุดมือไป แต่การไปเป็นทหารถึง 2 ปี ก็เป็นเรื่องหนักใจสำหรับชายชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานพอสมควร
● โควตาการจ้างชาวต่างชาติ สิงคโปร์มีกฎหมายให้แต่ละบริษัทจ้างพนักงานสิงคโปร์และพนักงานต่างชาติ ในอัตราส่วน 3:1 (ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ) ทำให้บริษัทดังมักสงวนโควตาไว้สำหรับผู้ที่มีความสามารถสูง การแข่งขันจึงสูงมาก
|
สำหรับริวแล้ว เขาเลือกที่จะทำงานใช้ทุนจนครบ 3 ปีก่อน หลังจากนั้นเขาวางแผนจะไปประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ตามคำแนะนำของผู้บริหาร Google ท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 20 ปีที่สนิทสนมด้วย ริวอยากลองไปใช้ชีวิตที่นั่นดูสักครั้ง ไปค้นหาสิ่งใหม่ ๆ สำรวจโลกที่กว้างกว่าเดิม
อยู่ต่อหรือไปต่อ
นักเรียนต่างชาติที่มาเรียนที่สิงคโปร์ต่างก็มีเป้าหมายในการศึกษาในสถาบันชั้นนำระดับโลก เพื่อโอกาสในการทำงานที่ดี ทั้งในสิงคโปร์และทั่วโลก แม้จะต้องเผชิญความกดดันและความเครียดจากสังคมที่มีการแข่งขันสูง ยิ่งมีทุนมอบให้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธหากต้องการทำงานในสิงคโปร์ต่อหลังเรียนจบ แต่เส้นทางหลังจากนั้นไม่อาจคาดเดาได้ หลายคนเลือกที่จะปักหลัก สร้างเนื้อสร้างตัวที่นี่ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ก้าวสู่บันไดขั้นต่อไปในต่างประเทศ
รัฐบาลสิงคโปร์ฉลาดในการ “ปั้น” คน ทั้งดูแลและสนับสนุนพลเมืองอย่างดี ดึงดูดคนมีความสามารถจากทั่วโลกมาช่วยกันพัฒนาประเทศด้วยความเจริญและคุณภาพชีวิตที่ดี แต่บางครั้งผู้คนก็พบจุดหมายปลายทางที่ดีกว่าและพร้อมจะโบยบินไปจากสิงคโปร์
สุดท้ายแล้วทุกคนล้วนมีเส้นทางของตัวเอง จึงเป็นโจทย์อันท้าทายของทุกรัฐ ทุกสังคม ที่จะต้องมอบพื้นที่และโอกาสให้คนอยากมาสร้างเส้นทางเพื่อเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
อ่าน นักศึกษาไทยในสนามชิงชัยชื่อสิงคโปร์ ตอน 1
เอกสารอ้างอิง
● 4 Key Differences: Singapore PR vs. LTVP. Accessed 15 May 2024.
● ASEAN Scholarships for Thailand. Accessed 16 May 2024
● ATSIS Association of Thai Students in Singapore . Accessed 16 May 2024.
● Cambridge International as & a Levels. Cambridgeinternational.org, 2019,
● HDB Introduces the Build-To-Order System.
● Postgraduate Student Career Services. Accessed 16 May 2024.
● Thai Association Singapore - สมาคมไทย สิงคโปร์