ไกด์พาเที่ยวสิงคโปร์วันนี้คือ ริว/ ริวจิ หรือ กันต์ จิตต์ภักดี นักศึกษาจบใหม่ ที่เริ่มทำงานได้ไม่นาน
"ริว" จบการศึกษาทางด้าน Computer Science จาก National University of Singapore (NUS) เขาเป็นอดีตประธานสมาคมนักเรียนไทยในสิงคโปร์ หรือ ATSIS (Association of Thai Student in Singapore) และจะพาทุกท่านไปสัมผัสชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงเส้นทางที่นักศึกษาต่างชาติต้องเผชิญหลังจากที่ได้ใบปริญญา
กันต์ จิตต์ภักดี (ริว/ ริวจิ)
จุดเริ่มต้นสู่เกาะสิงคโปร์
ก่อนโควิดจะมา “ริว” เรียนโรงเรียนนานาชาติ ควบคู่กับเรียนพิเศษหลักสูตรไทย และสอบ A-Level ของอังกฤษ (Cambridge Assessment International Examination) ได้เกรด A* ถึง 4 วิชา เขาเลือกเรียนต่อด้าน Robotics and AI Engineering ในคณะวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตรอินเตอร์ที่ไทย แต่เรียนไปเรียนมาก็พบว่า การศึกษาไทยยังไม่ใช่คำตอบ ณ ตอนนั้น ประกอบกับ สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างจีนและสหรัฐอันดุเดือดในปี 2019 เขาจึงเริ่มหาจุดตรงกลางระหว่าง 2 ประเทศนี้ และพบว่า “สิงคโปร์” คือสิ่งที่ตามหา
● A-Level (GCE Advanced Level School Leaving Qualification from the UK) คือ หลักสูตรการเรียนและการสอบวัดผลมีทั้งหมด 55 วิชา เพื่อนำคะแนนสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร มีเกรดสูงสุดและต่ำสุดคือ A*, A, B, C, D and E โดยปกติแล้วนั้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษจะใช้จำนวนคะแนนทั้งหมด 3 วิชา
|
ริวสมัครเรียนสาขา Computer Science and Statistics (Double Major with Specialisation in AI and Database systems) ที่ NUS เพราะอยากเรียนรู้ทฤษฎีและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เขามองว่าจำเป็นอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต ด้วยคะแนน A-Level ที่สูงลิ่ว ริวจึงได้เป็นนักศึกษาหน้าใหม่ร่วมกับอัจฉริยะทั่วทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะจาก จีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์
ขณะที่ก็มีนักเรียนจากไทยอยู่บ้าง ส่วนมากคือนักเรียนโครงการโอลิมปิกต่าง ๆ และนักเรียนเหรียญโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ จาก 3 โรงเรียนดัง; มหิดลวิทยานุสรณ์, เตรียมอุดมศึกษา และกำเนิดวิทย์ มีบางส่วนมาจากโรงเรียนไทย, โรงเรียนนานาชาติ, Junior College และ Polytechnic ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากวิชาเอกที่เข้มข้นแล้ว เขายังลงเรียนวิชาการบัญชี การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ ตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยระดับโลก “ได้มาทั้งทีก็เรียนให้คุ้ม” ริวกล่าว
● Junior College หรือโรงเรียนมัธยมปลาย เทียบเท่ากับมัธยมปลายสายสามัญของไทย ● Polytechnic หรือโรงเรียนสายอาชีพ เทียบเท่ากับ ปวช. ของไทย |
ริวบอกด้วยว่า ทางสิงคโปร์มีทุนการศึกษามากมาย เช่น MOE Tuition Grant และ ASEAN Scholarship สำหรับนักเรียนต่างชาติที่โดดเด่นอีกด้วย สะท้อนการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของสิงคโปร์ที่ พยายามพัฒนาคนในประเทศและคนต่างชาติที่เข้ามาเรียนและทำงาน แต่ก็พ่วงมากับข้อผูกมัดอีกมากมายที่จะกล่าวต่อไป
● ASEAN Scholarship ทุนการศึกษาของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มอบให้นักเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว เมียนมาร์ เป็นต้น การที่จะได้ ASEAN Scholarship นั้นจะต้องตกลงรับ MOE Tuition Grant ด้วย
|
ชีวิตเด็กหอ
ในสิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่ง มีนักศึกษาเดินทางมาเรียนจากทั่วโลก บ้างก็พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย บ้างก็เช่าห้องพักข้างนอกซึ่งราคาแพงกว่ามาก โดยนักศึกษา NUS ส่วนมากจะพักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ระบบ Hall และ House System “คล้ายๆ บ้านในแฮร์รี พอตเตอร์ครับ” ริวกล่าว บางบ้านหรือบาง hall เป็นแหล่งรวมนักกีฬา
บางบ้านก็รวมสายปาร์ตี้หรือสายกิจกรรม บางบ้านก็รวมตัวผู้รักสงบ เน้นเรียน เช่น Pioneer House บ้านที่ริวอยู่ตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 4 มีธีมประจำบ้านคือ Frugality & Sustainable Living ทั้งนี้ทุกบ้านนั้นมี facility ที่สะดวกสบาย สนับสนุนคุณภาพชีวิตของเหล่าอนาคตของชาติอย่างเต็มที่
● House System คือ ระบบที่มีต้นกำเนิดจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ มักมีโรงเรียนละ 3-4 บ้าน โดยในบ้านแต่ละหลังจะมีเด็กนักเรียนในทุกชั้นเรียนมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้าน มีทั้งพี่ทั้งน้อง ทั้งเพื่อน กินข้าว แลกเปลี่ยนพูดคุย ดูแลกัน ได้ฝึกการทำงานกันเป็นทีมผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแข่งกีฬา แข่งดนตรี วิชาการ ฯลฯ โดย House และ Hall ที่ NUS มีจำนวนมากกว่า 20 บ้าน ความต่างระหว่าง House กับ Hall คือ House ขนาดเล็กกว่า และมีวัฒนธรรมที่เข้มข้นน้อยกว่า Hall |
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้อยู่หอพักของมหาวิทยาลัยและเลือกบ้านได้ตามต้องการ บ้านต่าง ๆ ใน NUS มีระบบทำกิจกรรมสะสมแต้มเพื่อสมัครเข้าอยู่หอพักในปีถัดไป หรือรักษาที่นั่งของตัวเองไว้ บางบ้านก็มีคณะกรรมการเป็นนักศึกษาด้วยกันรีวิวการสมัครเข้าบ้าน ผู้ที่อยากอยู่บ้านนั้น ๆ จึงต้องพยายามสร้างและรักษาภาพลักษณ์และความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น เพื่อที่สิ้นปีจะได้มีโอกาสอยู่ต่อ
นอกจากจะเรียนหนักแล้ว นักศึกษาหลายคนยังพยายามทำกิจกรรม ตั้งชมรม สร้างแคมเปญ เล่นดนตรี และอีกสารพัดอย่างเพื่อสะสมแต้ม ส่วนนักศึกษาต่างชาติมีสิทธิ์อยู่หอใน 2 ปีโดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร
“ก็ช่วยได้มาก แต่หลังจากนั้นเราจะกลายเป็นพลเมืองชั้น 3 ถ้าหากเราไม่เคยคิดจะช่วยเหลืออะไรเขาเลย ดังนั้น เราเองก็ควร contribute และช่วยเหลือ hall และ house ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ผมมักจะบอกน้อง ๆ ปี 1 ที่พึ่งเข้ามาใหม่” ริวเล่าด้วยเสียงหัวเราะ ซึ่งริวก็รักษาห้องมาได้จนปีที่ 4 ด้วยการเข้าร่วมโครงการ ปลูกผักรณรงค์สิ่งแวดล้อม สอดรับกับธีมของบ้าน
ริวยังเผยอีกว่ามีนักเรียนไทยจำนวนมากที่เป็น “ช้างเผือก” คือ เก่งมาก ๆ แต่ที่บ้านไม่มีกำลังสนับสนุน เมื่อได้มาเรียนที่นี่ก็ต้องพยายามรักษาระดับผลการเรียน ขอทุน และทำกิจกรรมอย่างหนักหน่วง เพื่อให้ได้อยู่หอพักของมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่มีกำลังเช่าหอพักข้างนอก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่การดิ้นรน แข่งขันกันพิสูจน์ตนเองเพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานที่มีจำกัดนั้นมีอยู่ทุกที่ ยิ่งในประเทศที่ค่าครองชีพสูงอย่างสิงคโปร์ ก็ทำให้เหตุการณ์ลักษณะนี้ยิ่งน่าเศร้าเข้าไปอีก
โซนมหาวิทยาลัยและหอพักอยู่ฝั่งตะวันตกของเกาะสิงคโปร์ ค่อนข้างห่างไกลจากเมือง อย่าง NTU อยู่ติดกับป่า มักมีข่าวว่า ลิงเข้ามาในห้องพักอยู่บ่อย ๆ แต่แคมปัสก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เด็กหอที่สิงคโปร์ก็มีชีวิตปกติธรรมดาเท่าที่จะจินตนาการได้ เรียน อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย แข่งกีฬา ปั่นจักรยาน เล่นเกม ไปห้องเพื่อน ไปเที่ยวด้วยกัน เลิกเรียนหรือวันหยุดก็ไปปาร์ตี้บาร์บีคิวริมหาด West Coast Park, East Coast Park และปาร์ตี้สังสรรค์ตอนกลางคืน ระหว่างการสัมภาษณ์ริวผ่าน Google Meet ในคืนวันศุกร์ ก็ได้ยินเสียงเพลงและเสียงพูดคุยเฮฮาจากห้องข้าง ๆ ดังเล็ดลอดออกมานอกจอเลยทีเดียว
ด้านความรักในรั้วมหาวิทยาลัย คนสิงคโปร์นิยมแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย (21 - 27 ปี) เพื่อสมัครโครงการ BTO (Build to order) ที่อยู่อาศัยของรัฐบาล เนื่องจากพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยในสิงคโปร์มีจำกัดและราคาสูง โครงการนี้จึงมีขึ้นเพื่อช่วยให้คู่บ่าวสาวสามารถมีสิทธิที่จะมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง
คนสิงคโปร์จึงนิยมร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อมองหาคู่ชีวิตในอนาคต ซึ่งนักเรียนสาวไทยค่อนข้างเนื้อหอม เนื่องจากหน้าตาสวยคม อัธยาศัยดี ยิ้มง่าย มีน้ำใจ ดูแลเอาใจใส่ ริวเสริมว่านักศึกษาไทยที่นี่หลาย ๆ ครั้งนิยมคบหากันเอง และชอบตกหลุมรักนักเรียนแลกเปลี่ยนจากไทย ซึ่งเป็น “ความรักต้องห้าม” เพราะเดทกันได้ไม่นานก็ต้องแยกจากกัน (แต่ก็มีหลายคู่ที่สมหวัง :))
อ่าน นักศึกษาไทยในสนามชิงชัยชื่อสิงคโปร์ ตอน 2