Skip to main content

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก พัฒนาพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่จากข้าวบาร์เลย์และหัวชูการ์บีท ย่อยสลายเองได้ 100% ใน 2 เดือน และไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ขยะพลาสติกทั่วโลก มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 91 หากไม่ถูกนำไปเผา ก็ถูกเอาไปกลบฝังในหลุมฝังกลบขยะ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน จึงพัฒนาพลาสติกชีวภาพรุ่นใหม่ที่ย่อยสลายได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทำมาจากผงแป้งข้าวบาร์เลย์ผสมกับหัวชูการ์บีทที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการทำน้ำตาล ซึ่งชูการ์บีทเป็นพืชตระกูลผักกาดที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีน้ำตาลสะสมอยู่ภายในหัวถึงร้อยละ 80

ศาสตราจารย์ แอนเดรียส เบลนนาว จากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวว่า 
“เรามีปัญหาที่ฉกาจฉกรรจ์จากขยะพลาสติก ซึ่งดูเหมือนว่าการรีไซเคิลจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้”

ศาสตราจารย์ แอนเดรียส ระบุว่า พลาสติกชีวภาพที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ไม่สามารถย่อยสลายได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีข้อจำกัดว่าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ คือ ต้องย่อยในโรงย่อยสลายเท่านั้น

“กระบวนการย่อยสลายในธรรมชาติอาจกินเวลาหลายปี และอาจทำให้เกิดมลพิษอย่างเช่น ไมโครพลาสติก ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีพิเศษเพื่อย่อยสลายพลาสติกชีวภาพได้ง่ายขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม มีส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้อยู่น้อยมากๆ และส่วนที่เหลือก็จะกลายเป็นขยะ” ศาสตราจารย์ แอนเดรียส กล่าว

พลาสติกชีวภาพที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมาใหม่นี้ สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติภายในเวลาเพียง 2 เดือนด้วยจุลชีพแม้จะถูกทิ้งที่นอกถังขยะ โดยสามารถใช้บรรจุอาหารและสิ่งของต่างๆ ได้ตามปรกติ ทั้งยังมีความทนทานมากกว่า และทนน้ำได้ดีกว่าและไม่เหนียวเหนอะเหมือนพลาสติกชีวภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ส่วนประกอบหลักของพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่ คือ อะมิโลส และเซลลูโลส ซึ่งพบทั่วไปในพืช เซลลูโลส เป็นคาร์โบไฮเดรตที่พบอยู่ในพืชทั้งหลาย สามารถนำไปผลิตผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และกระดาษ แต่เซลลูโลสที่นักวิจัยนำมาใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดนี้ทำขึ้นจากของเสียจากโรงงานผลิตน้ำตาล โดยเรียกมันว่า “นาโนเซลลูโลส” ซึ่งขนาดเส้นใที่เล็กกว่าเส้นใยของผ้าลินินและผ้าฝ้ายถึง 1 พันเท่า มีสายโมเลกุลที่เล็กและยาว ทำให้มีความแข็งแรงมากกว่า

“ผมยังหาชื่อเรียกที่เหมาะสมให้กับพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่นี้ไม่ได้ เพราะพลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่ไม่ได้เสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่อถูกทิ้งสู่ธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ แอนเดรียส กล่าว


ที่มา
100% biodegradable plastic made from barley, decomposes in just 2 months