Skip to main content

เทรนด์การซื้อสินค้าไม่สวยหรือไม่สมบูรณ์ 100% ช่วยลดการทิ้งขยะที่ไม่จำเป็น ถือเป็นเทรนด์ที่เริ่มจากสินค้าสดใหม่ และค่อยๆ ขยายไปสู่การคืนชีวิตใหม่ให้กับของเล่น เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง และอื่นๆ อีกมากมายในราคาที่เกือบจะได้มาฟรีๆ

การซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่เน่าเสียง่าย อย่างเช่น ชา คุกกี้ ช็อกโกแลต และสบู่ จากเว็บไซต์ออนไลน์ในสหราชอาณาจักรอย่าง Love Health, Hate Waste ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักช็อปอย่าง ซิลเวีย ทิลล์แมน ประหยัดเงินได้กว่า 320 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยังทำให้เธอรู้สึกสบายใจที่ได้ช่วยลดขยะให้กับโลกใบนี้

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Love Health, Hate Waste จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เขียนบนบรรจุภัณฑ์ว่า “ควรบริโภคก่อน” แต่ยังไม่ถือว่าหมดอายุและยังคงปลอดภัยต่อการบริโภค โดยลดราคาสูงสุดถึง 90% จากราคาขายปลีกเดิม ขณะที่บรรจุภัณฑ์บางส่วนได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่สินค้านั้นๆ ยังไม่มีการแกะหรือเปิดบรรจุภัณฑ์

การซื้อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์หีบห่อมีข้อบกพร่อง ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นต่อจากการซื้อสินค้าสด อย่างผักและผลไม้ ที่ไม่สมบูรณ์ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรได้เปิดตัวโปรโมชั่นดังกล่าวตั้งแต่ในปี 2015 และคำว่า “Wonky” ก็กลายเป็นคำที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่อง ไม่สวย ไม่สมบูรณ์ แต่ยังสามารถบริโภคได้ ไม่มีปัญหา

ปัจจุบันนี้ การซื้อผักและผลไม้ Wonky กลายเป็นเรื่องปกติในสหราชอาณาจักร เพราะถือเป็นแนวทางในการลดขยะอาหารสำหรับเกษตรกรและผู้ค้าปลีก ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็สามารถประหยัดเงินจากการซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้

การสำรวจของ YouGov เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พบว่า ผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรมากกว่า 77% ระบุว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ Wonky ในครั้งต่อไปที่พวกเขาไปซื้อของ โดย 72% ระบุว่าราคาที่ลดลงกว่าเดิมมากๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาอยากซื้อผลิตภัณฑ์ Wonky ขณะที่ 63% ระบุว่าพวกเขาอยากช่วยลดขยะอาหาร ซึ่งรายงานของ WWF ชี้ว่า ในแต่ละปี สหราชอาณาจักรมีขยะอาหารมากถึง 2.9 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม กระแสการซื้อผลิตภัณฑ์ Wonky ในปัจจุบันนี้ได้ขยายไปสู่การคืนชีวิตให้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากผักและผลไม้อีกด้วย  โดยอาจเป็นสินค้าที่บรรจุภัณฑ์ถูกกระแทกหรือมีตำหนิแต่ไม่ได้ทำให้สินค้าด้านในเสียหาย ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Boop ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2023 และจำหน่ายเครื่องสำอางที่ตกเทรนด์ไปแล้ว ไม่สมบูรณ์ หรือไม่เป็นที่ต้องการในตลาดแล้ว ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม 50%

ผลิตภัณฑ์ Wonky Coffee ที่จัดหาและจำหน่ายพ็อดกาแฟที่มีตำหนิจากแบรนด์ใหญ่ๆ ซึ่งพวกเขาระบุว่าได้ช่วยลดขยะกาแฟได้มากถึง 1 ล้านชิ้นในปี 2021 และพวกเขามีแผนที่จะเพิ่มจำนวนเป็น 50 ล้านชิ้นภายในปี 2025

Curlicue แบรนด์กระดาษห่อรีไซเคิลในลอนดอน ได้เปิดตัวชุดห่อของขวัญสุดเก๋ในปี 2019 ซึ่งเป็นกระดาษห่อของขวัญที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อยหลังจากการขนส่งและพวกเขาจำหน่ายในราคาถูกลงกว่าเดิมถึง 60% โดยชุดห่อของขวัญดังกล่าวประกอบไปด้วยกระดาษห่อของขวัญ การ์ด และเชือก ที่ล้วนแล้วแต่มีตำหนิหรือได้รับความเสียหายเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ชุดห่อของขวัญนี้สามารถขายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายทั้งหมดของแบรนด์

“เทรนด์ดังกล่าวมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของของคน หลายคนกลับไปสู่แนวคิดการหยิบของมาใช้ซ้ำ และต้องการที่จะใช้งานสิ่งของต่างๆ ให้นานขึ้น” เฮม่า สจ๊วต ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Curlicue กล่าว

เจนนิเฟอร์ วอน วัลเดอร์ดอร์ฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริโภคแบบยั่งยืน ยืนยันว่าการซื้อของ Wonky ช่วยให้เปิดใจยอมรับ “ความไม่สมบูรณ์แบบที่สมบูรณ์แบบ” และถอยห่างการใช้โซเชียลมีเดียที่ทำให้รู้สึกต้องการซื้อของใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เหมือนอินฟลูเอนเซอร์

“เทรนด์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด ทั้งยังได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” วัลเดอร์ดอร์ฟ กล่าว


อ้างอิง
เว็บไซต์ Love Health, Hate Waste
เว็บไซต์ Wonky Coffee
เว็บไซต์ Curlicue 
Shopping ‘Wonky’ Keeps Imperfect Goods From Going to Waste