Skip to main content

เทรนด์ ‘การเดินเป็นกลุ่ม’ กำลังเป็นกิจกรรมยอดฮิตในเหล่าบรรดาผู้สูงอายุของสิงคโปร์ โดยชมรมการเดินที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิกมากกว่า 60,000 คน เช่นเดียวกับที่มีกรุ๊ปเฟสบุ๊กเกี่ยวกับการเดินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 กลุ่ม

โอลิเวีย วัย 55 ปี เป็นผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในผู้ที่ตั้งกลุ่มเดินขึ้น โดยปรกติเธอจะพากรุ๊ปทัวร์ไปท่องเที่ยวที่ยุโรปราวปีละ 10 กลุ่ม แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิดไปทั่วโลก การเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศถูกระงับ เธอตั้งกลุ่มเดินขึ้น หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

“ระหว่างที่โควิดระบาด ฉันเริ่มตระหนักว่า มีคนจำนวนมากรู้สึกกดดัน เพราะออกนอกบ้านไม่ได้ แต่คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ตัวคนเดียว กิจกรรมการเดินของฉันจึงกลายมาเป็นการทำให้เพื่อนๆ ได้กลับมาเจอกัน” โอลิเวีย กล่าว

โอลิเวียเปิดกรุ๊ปบนเฟสบุ๊ก ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกแล้วมากกว่า 700 คน โดยเธอจะแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเดินครั้งต่อไปให้กับสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงคลาสออกกำลังกายที่เธอเป็นคนนำ และโปรแกรมท่องเที่ยวต่างประเทศที่เธอเป็นคนจัด

“พวกเราแค่เป็นเพื่อนที่จะไปเดินด้วยกัน เราอยากจะออกกำลังกลางแจ้งบ้าง และช่วยทุกคนรักษาหุ่นหลังจากถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้านมายาวนาน” โอลิเวีย กล่าว

เช่นเดียวกับ ตัน ฮง เซ่ง ในวัย 65 ปี ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง โดยนิสัยเขาเป็นคนบ้างาน เสพติดการทำงานหนัก สูบบุหรี่จัด และไม่ออกกำลังกายเลย

ในปี 2018 เขามีอาการเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ส่งผลให้ร่างกายซีกซ้ายเป็นอัมพาต และสูญเสียการมองเห็นกับการได้ยินทางฝั่งซ้ายไป สาเหตุน่าจะเกิดจากคลอเรสเตอรอลที่สูง และการสูบบุหรี่จัด

ตันเริ่มการเดินตามคำแนะนำของเพื่อนที่หายป่วยจากโรคมะเร็ง โดยเดินเป็นระยะทางสั้นๆ และเริ่มเดินระยะทางไกลขึ้น ในเดือนเมษายน 2023 ตันเข้าร่วมการเดินไกลกับกลุ่มที่จัดโดย Won Tzyy-ya วัย 65 ปี ซึ่งชักชวนให้คนเข้าร่วมการเดินไกลกับกลุ่ม LongwalkSG ของเขา นับแต่นั้น ตันไม่เคยพลาดการเดินกับกลุ่มในทุกวันอาทิตย์เลย ซึ่งแต่ละครั้งจะเดินเป็นระยะทาง 25-30 กม. การเดินจนเป็นกิจวัตรปรกติ ควบคู่กับการทานยา และควบคุมอาหาร ทำให้ระดับคลอเรสเตอรอลของเขาดีขึ้นอย่างมากจนน่าพอใจ

ดร.ลิม เหลียง นักจิตวิทยาจาก ศูนย์ BL Lim เพื่อสุขภาพจิตที่ดี ระบุว่า การเดินเป็นกลุ่มที่กำลังนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุของสิงคโปร์นั้น มีทั้งกิจกรรมทางกายภาพและกิจกรรมทางสังคมที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ตระหนักถึงสุขภาพกายและใจ

“การเดินเป็นกลุ่มของผู้สูงอายุ ช่วยทำให้ไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉงยังคงอยู่ และการพบปะเพื่อนๆ เป็นการต่อสู้กับความเหงา โครงสร้างและกิจวัตรที่กลุ่มจัดขึ้นสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีเป้าหมายและได้เข้าสังคมในชีวิตประจำวัน” ดร.ลิม กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของสิงคโปร์กล่าวว่า การเดินเป็นกลุ่มยังช่วยลดปัญหาเรื่องความเหงาและความโดดเดี่ยวของผู้สูงวัยได้ การศึกษาในปี 2015 โดยโรงเรียนศูนย์การแพทย์สำหรับการศึกษาวิจัยผู้สูงวัย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ พบว่า 2 ใน 5 ของชาวสิงคโปร์ที่อายุ 62 ปีขึ้นไปนั้นมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว

“ความเหงาและการแยกตัวจากสังคมในหมู่คนสูงวัย สามารถทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรงตามมา การแยกตัวนำไปสู่การขาดเป้าหมายและยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า” ดร.ลิม กล่าว

ในกลุ่มคนที่โดดเดี่ยวจากสังคมยังพบว่า มีอัตราการเสียชีวิตสูง และมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่ออาการวิกลจริต และการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ขณะที่การขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทำให้เกิดอาการเครียดที่รุนแรง ที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพโดยรวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

เช่นกรณีของ มาดามสันดากุมารี วัย 73 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ลำพังนับตั้งแต่สามีเสียชีวิตไปเมื่อ 18 ปีก่อน เธอมีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ออสเตรเลีย ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่ในสิงคโปร์ จะมีบางครั้งที่หลานๆ มาค้างด้วย แต่ส่วนใหญ่เธอจะอยู่คนเดียว

มาดามสันดากุมารีบอกว่า เธอไม่รู้สึกเป็นสุขเลยนับจากที่สามีได้จากไป เธอรู้สึกเศร้า แต่ก็บอกตัวเองว่า ไม่ควรอยู่แบบนี้ จะต้องก้าวต่อไป

ในปี 2021 เพื่อนๆ ชักชวนเธอมาร่วมชมรมเดินที่ชื่อ The North West Brisk Walking Club นับแต่นั้นมา มาดามสันดากุมารีใช้เวลาทุกเช้าวันเสาร์ร่วมกับเพื่อนๆ ชมรมที่มีมากกว่า 20 คน เดินเป็นเวลา 1-2 ชม.รอบๆ ย่านใกล้กับที่เธออยู่อาศัย

“พวกเราไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เพราะว่าเราเดินไปคุยไป เราคุยกันว่าจะไปกินมื้อเช้าที่ไหน เราจะทำอะไรกันหลังจากเดินเสร็จ ก่อนที่จะรู้ตัว ว้าว พวกเราก็เดินได้ 3.3 กม.แล้ว” มาดามสันดากุมารีบอก

The North West Brisk Walking Club เป็นชมรมเดินที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ปัจจุบันมีสมาชิกซึ่งเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 60 และ 70 ปี

สมาชิกแต่ละคนจะได้รับบัตรประจำตัว ซึ่งจะได้รับคะแนนทุกครั้งที่เข้าร่วมการเดินกลุ่ม เมื่อถึงสิ้นปีก็จะได้รับบัตรกำนัลสำหรับซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตตามจำนวนคะแนนที่สะสมได้ เช่น ทุก 25 คะแนนจะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หากสะสะมได้ 45 คะแนน จะได้รับบัตรกำนัลมูลค่า 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น

ดร.รดี มเหนทราน จากคลินิกมายด์แคร์ ซึ่งทำงานวิจัยด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า การเดินเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง และมีหลักฐานว่าช่วยรักษาอาการซึมเศร้าได้

เช่นเดียวกับ ดร.คเณช รามาลิงกัม ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารอธิบายว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เผยว่า การเดินช้าๆ แบบไม่หักโหม มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก และการเดินยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งทรวงอก  

“การเดินแบบไม่หักโหมเป็นระยะไกลๆ ช่วยป้องกันการบาดเจ็บและช่วยให้อายุยืนยาว ด้วยการไปแบบช้าๆ เพิ่มระยะทางแบบค่อยเป็นค่อยไป เดินเป็นเวลานานขึ้น” ดร.คเณช กล่าว

ขณะที่ ดร.จูน เค นักกายภาพบำบัดอาวุโส ประจำโรงพยาบาลสิงคโปร์เจเนรัล แนะนำว่า การเดินระยะทางไกลๆ ควรเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรหักโหมโดยทันที เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดทรมานจากการบาดเจ็บ

“การเดินแบบไหนก็ตาม เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมสำหรับทุกคน เป็นการออกกำลังกายที่ง่าย ไม่ต้องเสียเงิน แค่คุณมีรองเท้าหนึ่งคู่ ก็ออกเดินได้แล้ว” ดร.จูนกล่าว

 

ที่มา
Steps and the city: How the walking trend is making strides in Singapore