เวลาเราพูดถึง "สังคมผู้สูงอายุ" จริงๆ มันเป็นปรากฏการณ์แบบ "ตะวันตก" ซะเยอะ และจริงๆ โลกคุยกันเรื่องนี้ ก็เพราะ "ชาวยุโรป" ประสบปัญหานี้ พล็อตเรื่องที่เราคุ้นเคยก็คือ คนรุ่นใหม่มีลูกน้อยลงและช้าลงกว่าในอดีต ทำให้โครงสร้างประชากรวัยทำงานกับวัยที่รับสวัสดิการไม่สมดุลกันอย่างต่อเนื่อง
พอคนวัยทำงานน้อย รัฐก็เก็บภาษีและเงินประกันสังคมได้น้อย ทำให้จำนวนเงินสวัสดิการรัฐที่ต้องเอามาจ่ายคนวัยเกษียณเริ่มร่อยหรอหรือกระทั่งไม่พอ รัฐเริ่มปวดหัว และสุดท้ายก็ต้อง "ยืดวัยทำงาน" ผ่านการยกเพเดนอายุการเกษียณให้สูงขึ้น ทำให้รัฐสามารถเริ่มจ่ายเงินบำนาญได้ช้าลง เพื่อให้เงินที่มีอยู่พอจ่ายคนเกษียณที่มีจำนวนน้อยลงตามเกณฑ์อายุเกษียณที่เพิ่มขึ้น วนกันไป
ดังนั้น ข้อถกเถียงนี้ก็เลยวนอยู่กับบทบาทของรัฐที่ "ควรจะ" เลี้ยงดูประชาชนยามแก่ให้ได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่รัฐก็เจ้าเล่ห์พอที่จะ "เปลี่ยนนิยาม" ของความแก่และวัยเกษียณเพื่อให้ตัวเองปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
ประเทศที่ไม่มีสวัสดิการ คน ‘แก่’ ต้องดูแลตัวเอง
เราก็รู้เช่นกันว่าประเทศที่รัฐคิดว่าตัวเองมีหน้าที่แบบแค่หยิบมือ รัฐประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมากก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีหน้าที่แบบนั้น (รวมทั้งไทย) แต่ประเด็นคือ สังคมผู้สูงอายุและจำนวนคนแก่ขยายตัวไปในประเทศจำนวนมากที่ "ไม่มีสวัสดิการ" สำหรับคนแก่ในเซนส์แบบโลกตะวันตกแน่ๆ
คำถามคือ แล้วคนแก่พวกนี้ทำอะไรกิน? บางคนอาจคิดว่าลูกหลานก็เลี้ยงดูไง ประเด็นคือ มันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะลูกหลานก็ต้องทำงาน ดังนั้น คนแก่ก็ต้องทำงานเช่นกัน ในจีนจะมีคำว่า "เหล่าเพียวจู๋" (老漂族) ใช้เรียกคนแก่บ้านนอกที่ย้ายไปอยู่กับลูกหลานในเมืองใหญ่ และมีบทบาทเหมือนคนใช้และพี่เลี้ยงในบ้าน
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นแค่สังคมจีน สังคมอื่นๆ ไม่มีวัฒนธรรมครอบครัวขยายแบบเดียวกัน ลูกหลานโต ก็แยกครอบครัวแบบค่อนข้างจะเด็ดขาด ทำให้คนแก่ต้อง "ดูแลตัวเอง" ในวัยเกษียณ แต่เมื่อไม่มีเงินแล้วจะอยู่ยังไง?
‘ขับแกร็บ’ ทางออกของ คนแก่ที่ไม่มีเงินพอจะเกษียณ
ภาคธุรกิจของประเทศที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำจำนวนมาก มักจะมีอคติกับแรงงานผู้สูงอายุในแบบที่ไม่ต้องการผู้สูงอายุทำอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น ถึงคนแก่จะอยากทำงาน แต่บริษัททั่วๆ ไปก็ไม่รับคนเแก่เข้าทำงานอยู่ดี
คำตอบก็เลยมาอยู่ที่การทำงานรับจ้างต่างๆ ผ่าน "แอปสำหรับการรับจ้างทำงานระยะสั้น" หรือ "แอปสำหรับงานฟรีแลนซ์" ต่างๆ ของ Startup ทุนนิยมข้ามชาติ
สิ่งนี้ "สื่อฝรั่ง" เรียกกันหลวมๆ ว่า Gig Economy ซึ่งในไทยมีศัพท์กึ่งวิชาการเรียกรวมๆ คนทำงานแบบนี้ว่า "แรงงานแพลตฟอร์ม" แต่เนื่องจากรูปแบบของแรงงานลักษณะนี้ในไทย คือ แรงงานขับมอเตอร์ไซค์รับส่งผู้คน อาหาร และสิ่งของ คนไทยทั่วไปจะคุ้นกับแรงงานแบบนี้ในนามของการ "ขับแกร็บ" ตามชื่อแพลตฟอร์มที่เด่นเรื่องนี้ที่สุดในไทย
แต่นี่แหละครับ การ "ขับแกร็บ" นี่แหละทางออกของ "คนแก่ที่ไม่มีเงินพอจะเกษียณ" ทั่วโลก
ปัจจุบัน สถิติคนแก่ที่ทำงานแบบนี้ทั่วโลกไม่ได้เยอะ แต่เค้าคาดการณ์ว่ามันจะมากขึ้นๆ ซึ่งเหตุผลอย่างหนึ่งที่บ้านเราไม่ค่อยเห็นคนแก่ทำงานพวกนี้ เพราะคนแก่ใช้แอปไม่เป็น แต่ถ้าเราเคยขึ้นแท็กซี่แล้วเห็นคนขับเป็น "วัยเกษียณ" ก็นั่นแหละ ปรากฎการณ์เดียวกันเป๊ะ แค่ประเทศอื่นมันเกิดผ่านแอป
เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมเราเห็นคนวัยเกษียณมา "ขับแท็กซี่" กันเยอะ คำตอบง่ายๆ เร็วๆ คือ นี่ไม่ใช่ "อาชีพ" ที่มีอคติกับคนแก่ซึ่งแทบจะเป็นสากลทั่วโลกเลย เดิมทีแล้วในบางประเทศมีการจำกัดอายุขั้นต่ำของคนที่จะขับแท็กซี่ด้วยซ้ำ (เช่น สิงคโปร์ห้ามคนอายุต่ำกว่า 30 ปีขับแท็กซี่) ดังนั้น พอเศรษฐกิจออฟไลน์ย้ายไปออนไลน์ การ "ไม่มีอคติ" แบบนี้ก็ย้ายตามมา
นี่เลยเป็นทางออกของคนแก่วัยเกษียณที่ไม่มีเงินเกษียณเลย หรือมีเงินเกษียณน้อยจนไม่พอใช้ ซึ่งก็เป็นภาวะปกติของคนในประเทศที่ฐานะปานกลางถึงยากจน ที่ไม่สามารถใช้เงินเกษียณอันน้อยนิดในประเทศตัวเอง เอามาอยู่ในประเทศค่าครองชีพต่ำกว่าแบบเมืองไทยได้ และอย่างน้อยๆ มีบันทึกว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดในเวียดนาม บราซิล เวเนซุเอลา และแอฟริกาใต้
‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ ทางออกของคนวัยเกษียณที่เงินเก็บไม่พอ
ทั้งนี้ "แรงงานแพลตฟอร์ม" ไม่ได้มีแค่ "ขับแกร็บ" ปรากฎการณ์นี้เกิดได้ในประเทศที่เศรษฐกิจพอถูไถ และมีนักท่องเที่ยวเยอะๆ เท่านั้น ประเทศที่เศรษฐกิจพัง ไม่มีคนไปเที่ยวมันทำไม่ได้ แต่แรงงานก็สามารถหางานแบบ "นานาชาติ" ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นงานแปล หรืองานช่วยเทรน AI ผ่านการช่วยจำแนกหมวดหมู่ข้อมูล เพราะงานพวกนี้ถ้ารู้ว่ามีแพลตฟอร์มไหนที่จะมีงานมาเรื่อยๆ คนแก่ก็จะเข้าไปทำงานได้ เพราะงานกลุ่มพวกนี้ก็ไม่เคยรังเกียจคนแก่เหมือนกัน
ที่เล่ามาทั้งหมด อยากจะชี้ให้เห็นว่า "มีทางออก" สำหรับคนแก่ที่มีเงินเกษียณไม่พอและทำงานปกติไม่ได้อยู่ เพราะในระยะยาว ว่ากันตรงๆ "แอปตัวกลางการจ้างงานระยะสั้น" พวกนี้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยอมให้คนแก่ในวัยเกษียณมาทำงาน เพราะแอปพวกนี้ไม่ได้มีภาระในการทำประกันสุขภาพให้ "ลูกจ้างชั่วคราว" อยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือ "ต้นทุน" ในการจ้างคนแก่ไม่ได้ต่างจากคนหนุ่มสาวตราบที่ทั้งหมดทำงานได้เหมือน ดังนั้นแอปพวกนี้จึงไม่มีอคติ
สุดท้าย อย่าคิดว่าจะ "แฮปปี้เอ็นดิ้ง" นะครับ เพราะ "ปัญหา" ก็มี การไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ "แรงงาน" ของแอปพวกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนด่ามานานและด่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ซึ่งการต่อสู้จนมีประกันก็อาจส่งผลกับขอบเขตการจ้างงานแน่ๆ อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าแอปพวกนี้ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ เค้าก็ไม่อยากจะจ้างคนแก่ เพราะเงินค่าประกันจะแพง เป็นต้น หรือถ้าทำงานพวกนี้ในประเทศที่อัตราการเกิดอาชญากรรมสูง ตัวอาชญากรก็อาจมุ่งปล้นแรงงานที่เป็นคนแก่โดยเฉพาะก็ได้ เช่น แบบในแอฟริกาใต้
สุดท้าย ถามว่าแอปพวกนี้ ปัจจุบันมันมี "ข้อจำกัดด้านอายุ" หรือไม่ จริงๆ คือ “มี” แต่ไม่ใช่มาตรฐานโลก ข้อจำกัดของคนทำงานบนแอปได้มีตั้งแต่การบอกว่าอายุต้องไม่เกิน 55-70 ปี แต่บางประเทศอย่างไทยก็ไม่มีข้อจำกัด (ไม่งั้นปี 2016 คงไม่มีโครงการชื่อ “แกร็บวัยเก๋า”) อย่างไรก็ดีในหลายๆ ประเทศ ระเบียบด้านอายุก็ไม่เคร่งครัด ถ้าคนอายุเกินมาทำงานเค้าก็หยวนๆ เพราะสุดท้ายก็อย่างที่บอก เค้าไม่ได้สนหรอกว่าคุณอายุเท่าไร ตราบที่คุณสร้างผลกำไรให้เค้าได้ ทำไมเค้าจะไม่รับคุณทำงานกันล่ะ
ดังนั้น ถ้าแก่ไปแล้วยังทำงานได้ ซึ่ง "ที่ทำงานปกติ" ไม่รับแล้ว ก็คาดได้เลยว่า จะมี "แอป" พวกนี้โผล่มาสร้างช่องทางให้คุณทำงาน ไปจนกว่าคุณจะทำงานไม่ไหวน่ะแหละ
ที่มา
Forget retirement. Older people are turning to gig work to survive
Happy birthday! You’re too old to work
Amid economic collapse, older Venezuelans turn to gig work
Criminals are targeting older Uber drivers