นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า เด็กผู้หญิง ‘เจนซี’ เข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าคนรุ่นก่อนหน้า โดยมีประจำเดือนครั้งแรกในอายุที่น้อยลง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว
การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า เด็กผู้หญิงปัจจุบันเริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ และมีรอบของการมีประจำเดือนที่ไม่ปรกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัย เช่น น้ำหนักตัวที่มาก รวมถึงการอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี
งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ JAMA Network Open โดยใช้ข้อมูลจากผู้หญิง 71,341 คน พบว่า อายุเฉลี่ยของเด็กผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาที่เกิดระหว่างปี 1950 – 1969 เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุ 12.5 ปี ขณะที่เด็กผู้หญิงที่เกิดระหว่างปี 2000 – 2005 เริ่มมีประจำเดือนในอายุเฉลี่ยที่น้อยลง คือ 11.9 ปี
นักวิจัยพบด้วยว่า ช่วงเวลาของรอบประจำเดือนยังยาวนานขึ้น และมีเด็กผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่สามารถกลับมามีรอบเดือนเป็นปรกติภายใน 2 ปี แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลานาน 3 -4 ปี หรือไม่ก็ไม่สามารถกลับมามีรอบเดือนแบบปรกติได้อีกเลย
ในการวิจัยพบว่า วัคซีนป้องกันโควิด อาจส่งผลต่อการมีประจำเดือนในระยะสั้น และพบอีกว่า เด็กผู้หญิงที่เป็นคนเอเชีย คนผิวดำ คนเชื้อสายสเปน และคนหลากหลายเชื้อชาติ จะมีอายุเฉลี่ยของการมีประจำเดือนครั้งแรกเร็วกว่าเด็กผู้หญิงผิวขาว
หวัง ซีเฟิง หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การมีประจำเดือนเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่าในการที่จะมีสุขภาพไม่ดี เช่น การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง
งานวิจัยเผยถึงปัจจัยที่นำมาสู่การมีประจำเดือนเร็วขึ้นของเด็กผู้หญิงรุ่นหลังว่า การที่มีน้ำหนักตัวเกินในวัยเด็ก เป็นปัจจัยเสี่ยงอาจส่งผลต่อเด็กผู้หญิงให้มีประจำเดือนเร็ว แต่ทั้งนี้ การลดลงของอายุที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นก่อนที่ภาวะน้ำหนักตัวเกินจะแพร่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งชี้ว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อปรากฎการณ์นี้
การศึกษาในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1997 พบว่า เด็กผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้น หรือเข้าสู่วัยสาวด้วยอายุที่น้อยลง ขณะที่การศึกษาในประเทศอื่นๆ ก็แสดงถึงการเข้าสู่วัยสาวของเด็กผู้หญิงที่เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า มีปัจจัยอื่นที่ควบคู่ไปกับเรื่องน้ำหนักตัวที่อาจทำให้เด็กผู้หญิงเข้าสู่วัยสาวได้เร็วขึ้นโดยปัจจัยหลักที่ทีมวิจัยพิจารณา คือ ผลกระทบจาก ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemicals) ซึ่งได้แก่สารเคมีกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ซึ่งมีความทนทานสูงและอยู่ได้นานนับร้อยปี อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกิน และเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงในเด็ก
นักวิจัยกล่าวว่า สารเคมีตลอดกาล จะไปขัดขวางกระบวนการทางเคมีของต่อมไร้ท่อ เมื่อผสมผสานไปกับโลหะหนักและมลพิษทางอากาศ ก็อาจส่งผลทำให้เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนเร็วขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนหน้า
ที่มา
Girls are getting their periods at younger ages compared to past generations, study finds