ในโลกนี้เวลาพูดถึง รัฐสวัสดิการ ไปๆ มาๆ มันเป็นปรากฎการณ์ของ "โลกตะวันตก" หรือพูดให้ตรงก็คือ ภาคพื้นทวีปยุโรปเท่านั้น ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเพราะประเทศเหล่านี้ "ร่ำรวย" อย่างมหาศาล จึงมีรายได้จากภาษีมาสร้าง “รัฐสวัสดิการ”
ถ้ามองในกรอบนี้ สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการก็คือ “ความร่ำรวย” เรียกว่าไปปั่น "รายได้ต่อหัว" ของประเทศมาก่อน เดี๋ยวค่อยคุยกันเรื่องรัฐสวัสดิการ
หลายชาติในเอเชีย รวยไม่แพ้ตะวันตก แต่ทำไมรัฐสวัสดิการไม่โต
แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่า จนถึงทุกวันนี้ประเทศเอเชียรวยๆ แบบที่รวยไม่ด้อยกว่าชาติตะวันตกแน่ๆ ก็ไม่ได้มีรัฐสวัสดิการ รายได้ต่อหัว ณ ปี 2024 ของสิงคโปร์สูง Top 5 ของโลก ซึ่งสูงกว่าพวกนอร์ดิกทุกชาติ ยกเว้น นอร์เวย์ และสูงกว่าสหรัฐอเมริกา ฮ่องกงก็รายได้ต่อหัวสูงกว่าอังกฤษ ส่วนไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รายได้ต่อหัวสูงพอๆ กับสเปน
ชาติเอเชียเหล่านี้ร่ำรวยเป็น "เสือเศรษฐกิจ" ช่วงปลายสงครามเย็น และรวยต่อมาเรื่อยๆ แต่ประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้พัฒนารัฐสวัสดิการขึ้นมาแบบโลกตะวันตก ถ้าจะถามว่าเป็นเพราะ "บริบทโลก" ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ทำให้ประเทศพวกนี้ร่ำรวยจัดๆ และภายใต้แนวคิด "เสรีนิยมใหม่" ทำให้รังเกียจรัฐสวัสดิการหรือเปล่า? ก็อาจใช่
แต่ในความเป็นจริงประเทศเหล่านี้ ก็มีการขยายสวัสดิการสังคมช่วงที่รวยๆ น่ะแหละ แต่ประเด็นคือ มันมี "ขีดจำกัด" ของการขยายสวัสดิการ ไม่เหมือนชาติตะวันตกทั้งๆ ที่ก็รวยพอๆ กัน คำถามคือทำไม?
รัฐสวัสดิการแบบเอเชียภายใต้แนวคิด ‘ขงจื่อ’
บางคนอธิบายว่า เพราะประเทศพวกนี้คือ "รัฐสวัสดิการแบบขงจื่อ" ที่มี "ค่านิยม" เฉพาะ แต่อธิบายแบบนี้ก็ดูจะตีขลุมไป เพราะแนวคิดขงจื่อก็มีของเขตที่กว้างมาก คำถามที่ตรงกว่าก็คือ แล้วค่านิยมอะไรที่มัน "กีดขวาง" การเกิดรัฐสวัสดิการ
คำตอบเร็วๆ น่าจะมีสองเรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องสถาบันครอบครัว อีกเรื่อง คือ เรื่องการพึ่งพาตัวเอง ซึ่งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นๆ ที่แตกไปยังเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด
แนวคิดรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกที่โตมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การเปลี่ยนบทบาทของรัฐให้ดูแลผู้คนตลอดชีวิต เลยทำให้คนตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปมองว่า บริการต่างๆ ของรัฐเป็น "สิทธิ" ที่ประชาชนพึงได้ อย่างไรก็ดี "สังคมตะวันออก" ไม่ได้คิดแบบนั้น
คำตอบที่ดีมากๆ คือคำตอบที่ ‘ลีกวนยู’ ผู้นำสิงคโปร์ตอบคำถามว่า สิงคโปร์รวยล้นฟ้า แต่ทำไมถึงไม่ทำรัฐสวัสดิการ? สิ่งที่ผู้นำสิงคโปร์ตอบ ก็คือ แนวคิดรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกนั้นเข้ากับวัฒธรรมขงจื่อไม่ได้ เพราะชาวเอเชียให้คุณค่ากับการพึ่งพาตัวเอง ดังนั้น การให้รัฐมาช่วยเหลือคนมากเกินไป คนจะสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตัวเองไป
เวลาพูดถึงการ "พึ่งพาตัวเอง" ในบริบทแบบนี้ มันไม่ได้หมายถึงการพึ่งพาตัวเองของ "ปัจเจก" แต่เป็น "ครอบครัว" ที่ยังเป็นสถาบันพื้นฐานสุดในเอเชีย
ประเด็นก็คือ สังคมเอเชียแต่ดั้งเดิมมา มีการแบ่งงานระหว่างเพศในครอบครัวอย่างชัดเจน ผู้ชายมีหน้าที่ออกไปทำงานหาเงิน ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลเด็กและคนแก่ ซึ่งการให้รัฐสวัสดิการมาทำหน้าที่ดูแลเด็กและคนแก่แทน เป็นการแย่งงานดั้งเดิมของผู้หญิงทำ และส่งผลให้ระบบครอบครัวแบบเดิมรวนไปหมด
แน่นอน สำหรับคน "หัวสมัยใหม่" การเห็นแนวคิดแบบนี้ก็คงจะเริ่มเกาหัว แต่ถ้ามองย้อนลงไป เราก็จะเห็นแพตเทิร์นแบบเดียวกันหมดในบรรดา "เสือเศรษฐกิจเอเชีย" ซึ่งประเทศพวกนี้ "การลงทุนของรัฐ" มักจะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแทบจะอย่างเดียว งบทางด้าน "สังคม" จะต่ำมากถ้าเทียบกับชาติตะวันตก และภายใต้การจัดสรรค์งบประมาณแบบนี้ ความคาดหวังของทุกประเทศก็คือ ต้องการให้สมาชิกครอบครัวในวัยทำงานจัดการดูและเด็กและคนแก่ให้ได้ โดยถ้าไม่ไหวจริงๆ รัฐจะมีโครงการช่วยเหลือตามความเหมาะสม
แต่จะไม่มีโครงการดูแลเด็กและคนแก่ทั้งหมดอย่างเท่าเทียมแบบไม่มีเงื่อนไข ดังที่เป็นเรื่องปกติมากๆ ในรัฐสวัสดิการชาติตะวันตก และสิ่งเดียวที่ "รัฐสวัสดิการ" โลกตะวันออกจะจัดการให้ คือ การบังคับให้ประชาชนออมเงินผ่านพวกระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันว่าตอนแก่จะมีเงินใช้เท่านั้นเอง
รัฐสวัสดิการตะวันตก การดูแล ‘คนแก่’ เป็นหน้าที่ของรัฐ ส่วนแบบตะวันออกเป็นหน้าที่ของครอบครัว
สำหรับเมืองไทย เราจะมองว่าอะไรพวกนี้ก็ดู "เยอะ" แล้ว แต่จริงๆ ไอเดียของรัฐสวัสดิการแบบตะวันตก รัฐต้องบริการมากกว่านี้เยอะ และจะพยายามจะจัดการกับ "เด็กที่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหา" ก่อนปัญหาจะเกิด เช่น เด็กในครอบครัวยากจนและมีแม่เลี้ยงเดี่ยว รัฐสวัสดิการสไตล์ตะวันตกจะมองว่า ต้องช่วยเหลือไม่งั้นเด็กโตมาจะเหลื่อมล้ำกับคนอื่น หรือกระทั่งเป็นอาชญากร แต่รัฐสวัสดิการในเอเชียจะงงด้วยซ้ำว่า ทำไมเราต้องไปช่วยเหลือคนเหล่านี้เป็นพิเศษ เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นเรื่อง "คนแก่" ถ้าเกิดภาวะคนแก่ดูแลตัวเองไม่ได้เยอะๆ ในโลกตะวันตก เค้าก็จะด่ารัฐ มองว่าทำไมรัฐดูแลคนที่จ่ายภาษีมาทั้งชีวิตไม่ได้? ส่วนในเอเชีย ถ้าเจอคนแก่แบบเดียวกัน ถ้าคนแก่ไม่โดนด่าว่า ทำไมไม่เก็บออมเงินเอง คนที่จะถูกด่าก็คือครอบครัวและลูกหลานที่ปล่อยให้คนแก่มาตกระกำลำบาก
ตรงนี้จะเห็นเลยว่า ใน "ปัญหาสังคม" แบบเดียวกัน สังคมตะวันตกกับสังคมเอเชียมองไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะมีฐานะเศรษฐกิจเท่าๆ กันก็มองไม่เหมือนกัน ดังนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องทาง "เศรษฐกิจ" แต่เป็นเรื่องทาง "วัฒนธรรม"
นี่แหละครับ สิ่งที่ "น่าคิด" ว่า ถ้าสักวันหนึ่งประเทศไทยเกิดรวยขึ้นมามากๆ และรายได้มันกระจายแบบไม่เหลื่อมล้ำ ถึงตรงนั้นประเทศไทยเราจะมี "รัฐสวัสดิการ" แบบตะวันตกได้จริงหรือ?
เพราะสุดท้าย ในกรอบคิดแบบเอเชีย หน้าที่ปกติหลายๆ อย่างของ "รัฐสวัสดิการ" ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนและ "ครอบครัว" ต้องจัดการตัวเองให้ได้ และการที่รัฐเข้าไปแทรกแซง นอกจากมันไม่ใช่ "หน้าที่" แล้ว ยังเป็นการ “บ่อนทำลาย” สถาบันครอบครัว และความสามารถในการพึ่งพาตัวเองของประชาชนอีกต่างหาก
อ้างอิง
Alan Walker and Chack-kie Wong, "Introduction: East Asian welfare regimes" in East Asian Welfare Regimes in Transition: From Confucianism to Globalisation, Edited by Alan Walker and Chack-kie Wong, (Bristol, The Policy Press: 2005), pp. 3-20
Yunmin Nam, "The divergent evolution of East Asian welfare states: Japan, South Korea, Taiwan, and Singapore" Asian Politics & Policy, Vol. 12, No. 4, (2020), pp. 559-574
Alan Walker and Chack-kie Wong, "Conclusion: from Confucianism to globalisation" in East Asian Welfare Regimes in Transition: Fro'm Confucianism to Globalisation, Edited by Alan Walker and Chack-kie Wong, (Bristol, The Policy Press: 2005), pp. 213-224