Skip to main content

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

อินโดนีเซียกำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างหนักหน่วงไม่แพ้ชาติใดในอาเซียน มลพิษทางอากาศที่กำลังส่งผลกระทบต่อพื้นที่จาการ์ตาและบริเวณโดยรอบ ส่งผลให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนเกิดความวิตกกังวล เพราะผลกระทบของมลพิษนี้ไม่สามารถประเมินได้ และไม่เพียงแต่คุกคามชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ยังคุกคามสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืชพรรณต่างๆ ด้วย

ปัจจุบันนี้ สื่อต่างนำเสนอรายงานเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศว่าสามารถคุกคามชีวิตมนุษย์ได้ โดยเฉพาะ PM2.5 และ ไนโตรเจนไดออกไซด์ มีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ

ไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์เท่านั้น แต่มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อพืชอาหารในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย อย่างที่เราทราบกันดีว่าพืชผลิตออกซิเจน ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง พืชจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศแล้วปล่อยออกซิเจนที่มนุษย์และสัตว์ต้องใช้หายใจ 

การเพิ่มขึ้นของมลพิษอย่างเฉียบพลันทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง เนื่องจากมลพิษทางอากาศสามารถเปลี่ยนลักษณะทางสรีรวิทยาของพืชได้ ทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชหยุดชะงัก เนื่องจากการดูดซับอากาศสกปรกนำไปสู่การปิดรูพรุนของใบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสังเคราะห์แสง

จากผลการวิจัย หลายคนกล่าวว่าพืชส่วนใหญ่สามารถกำจัดมลพิษออกจากสิ่งแวดล้อมได้ ตัวอย่างเช่น Cotoneaster Franchetii ซึ่งเป็นไม้พุ่มป่าดิบหนาแน่นที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับมลพิษมากกว่า 20% อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพืชและระบบนิเวศทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบที่มีต่อผลผลิตทางการเกษตรและการผลิตอาหาร เช่นเดียวกับที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

การวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อพืชพรรณและการอภิปรายถึงผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อสองปีที่แล้ว (2565) ผู้เชี่ยวชาญ 135 คนจาก 35 ประเทศได้ประชุมออนไลน์ ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าพืชบางชนิดมีความไวต่อมลพิษทางอากาศบางประเภทเป็นพิเศษ เมื่อมีการปล่อยมลพิษ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์จากรถยนต์และแหล่งกำเนิดอื่นๆ มันจะทำปฏิกิริยากับมลพิษอื่นๆ ในแสงแดด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช และเชื่อว่าจะทำให้สูญเสียพืชผลที่เป็นอาหารหลักทั่วโลก

การวิจัยโดย Vegetation Programme Coordination Centre และ Centre for Ecology and Hydrology เรื่อง Air Pollution and Vegetation ประมาณการณ์ว่า มลพิษทำให้ผลผลิตทั่วโลกลดลง ถั่วเหลืองจะได้รับผลกระทบ ผลผลิตลดลงราว 6-16% ข้าวสาลีประมาณ 7-12% และข้าวโพดประมาณ 3-5% ผลการวิจัยครั้งนี้ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับอินโดนีเซียอย่างแน่นอน เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบหลักในเต้าหู้และเต็มเป้ซึ่งเป็นอาหารที่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่บริโภคเป็นประจำ หากมลพิษทั่วโลกแย่ลง การผลิตถั่วเหลืองอาจลดลงต่อไป ทำให้เต้าหู้และเทมเป้ผลิตได้ยากขึ้น


การประมาณการการสูญเสียอาหารหลักทั่วโลก

สินค้าโภคภัณฑ์การสูญเสียพืชผลทั่วโลก
ถั่วเหลือง6-16%
ข้าวสาลี 7-12%
ข้าวโพด3-5%

 

การวิจัยคาดการณ์ว่า การสูญเสียทางเศรษฐกิจในยุโรปเนื่องจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อโรงงาน 23 แห่งมีมูลค่า 6.7 พันล้านยูโร หรือประมาณ 111.53 ล้านล้านรูเปียห์ และการสูญเสียทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 397.25 ล้านล้านรูเปียห์ (1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 15,279 รูเปียห์) นักวิทยาศาสตร์ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับผลกระทบระหว่างมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบระหว่างโอโซนและมลพิษทางอากาศอื่นๆ เช่น ไนโตรเจนต่อพืชผัก รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับความหลากหลายทางชีวภาพ


อันตรายจากโอโซน

โอโซน ระดับพื้นดินเป็นหนึ่งในมลพิษที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และทำลายพืชพรรณ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของอุตสาหกรรมและชีวมวล ทำปฏิกิริยาร่วมกับแสงแดด ระดับความเข้มข้นอาจสูงมากในพื้นที่เกษตรกรรมที่ตั้งอยู่ในทิศทางตรงข้ามกับทิศทางลมของเมืองใหญ่

 

ข่าวร้ายสำหรับเกษตรกร

มลภาวะโอโซน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระดับสูงสุดจะเกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย เนื่องจากโอโซนระดับพื้นดินที่มีความเข้มข้นสูงอาจส่งผลเสียต่อผลผลิตพืชผล พืชจะเผชิญกับโรคต่างๆ เช่น คลอโรซีส (ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) เนื้อเยื่อพืชตาย มีจุดด่างบนต้น และผลผลิตพืชลดลง ดังนั้นโรคต่างๆ ที่เกิดจากอากาศสกปรกอาจทำให้พืชตายได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลแก่เกษตรกรซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ปัญหาได้ในระดับประชาชน ในที่สุดระบบนิเวศทางการเกษตรจะหยุดชะงักจากมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น

ดังที่ทราบกันดีว่า ฤดูแล้งในภาคเกษตรกรรมไม่ได้ส่งผลต่อการขาดน้ำสำหรับพืชเท่านั้น แต่ความแห้งยังทำให้อากาศนิ่ง แดดจัด อุณหภูมิที่สูง และความเร็วลมต่ำ ทำให้มลพิษทางอากาศยังคงลอยอยู่ในอากาศและส่งผลให้ความเข้มข้นของมลพิษสูงขึ้น


ที่มา
Awas! Tahu dan Tempe Bisa Punah Karena Polusi Udara.

 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน