Skip to main content

Libertus Machinus

 

ปัจจุบัน เวลาพูดถึง "รัฐสวัสดิการ" ก็มักจะนึกถึงประเทศกลุ่มนอร์ดิกกัน ซึ่งประเด็นก็จะวนๆ ว่า "พร้อมจะจ่ายภาษีเท่าเค้ามั้ยล่ะ?” ซึ่งในเมืองไทยแม้แต่คนที่อยากได้คุณภาพชีวิตขนาดนั้น ก็มีน้อยคนที่จะสู้การจ่ายภาษีในอัตราแบบพวกประเทศนอร์ดิกไหว

อย่างไรก็ดี มันมีประเทศหนึ่งที่จริงๆ "ขั้นภาษีสูงสุด" พอๆ กับเมืองไทยเลย (36% ของไทย 35%) ก็คือ สวิตเซอร์แลนด์  ซึ่งรัฐสวัสดิการรวมๆ อยู่ในขั้นดีมาก "คุณภาพชีวิตแบบสวิส" นี่เป็นตำนานอยู่แล้ว และอันดับใน World Happiness Index ที่แทบไม่ตกจาก Top 10 ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคุณภาพชีวิตเค้าดีจริง


ทำไมคนถึงอยากเป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ แบบสวีเดนมากกว่าสวิสเซอร์แลนด์?

 

เบื้องต้นเลย ว่ากันตรงๆ การพยายามอยากเป็น "รัฐสวัสดิการนอร์ดิก" เป็นแนวคิดของคนที่มีแนวคิด "เอียงซ้าย" ในโลกภาษาอังกฤษ หรือพูดตรงๆ ง่ายๆ มันเป็นอุดมคติของพวกฝ่ายซ้ายอเมริกา ซึ่งมันก็ปกติมากที่บ้านเราจะรับแนวคิดฝ่ายซ้ายมาจากอเมริกาอีกที

ในกรอบแบบนี้ สวิส มีข้อด้อยที่ฝ่ายซ้ายรับไม่ได้อยู่อย่างหนึ่ง คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งความเหลื่อมล้ำของสวิสไม่ได้ดีเท่าพวกนอร์ดิกแน่ๆ แต่เทียบกับมาตรฐานยุโรป คือ ไม่ได้แย่ อยู่ในระดับกลางๆ

แต่ประเด็นคือ สวิสเป็นประเทศที่มี "รัฐสวัสดิการ" ชั้นเยี่ยมแบบไม่ด้อยกว่าพวกนอร์ดิกแน่ๆ และรายได้ต่อหัวของคนสวิสมากกว่าคนนอร์ดิกราวๆ 25% แต่ถ้ามาดูพวก "สินทรัพย์ครัวเรือน" เราก็จะเห็นว่าสวิสมีสินทรัพย์ครัวเรือนเป็น 2 เท่าตัวของพวกนอร์ดิก

พูดอีกแบบคือ สวิสรวยมาก รวยจัดๆ และระดับรายได้แบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้เค้าไม่ต้องเก็บภาษีในอัตราเยอะแยะอะไร ก็สร้างรัฐสวัสดิการชั้นดีได้ ซึ่งถ้าบริการพื้นฐานของรัฐไม่ดี ก็บอกเลยว่าคุณภาพชีวิตรวมๆ มันไม่สูงหรอกครับ คนมันไม่มีความสุขหรอกครับ

ดังนั้นตอบแบบกำปั้นทุบดิน สวิสมีรัฐสวัสดิการที่ดีมาก เพราะสวิสรวยครับ จบ


ทำไม ‘สวิส’ จึงรวย ?

 

บางคนจะบอกว่า สวิสรวย เพราะเป็นแหล่งฟอกเงิน ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่ผิด ตอนเด็กๆ  เราคงเคยดูหนังสายลับ ที่คนในหนังชอบบอก "ให้โอนเงินไปสวิส" เหตุผลคือ ตั้งแต่สวิสมี Bank Act of 1934 ถ้าธนาคารสวิสเปิดเผยข้อมูลลูกค้าให้บุคคลภายนอกจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น คนก็เลยชอบเอาเงินไป "ซ่อน" ที่สวิส เพราะนั่นหมายถึง จะไม่มีใครรู้

นี่ทำให้อุตสาหธรรมธนาคารในสวิสรุ่งเรืองมาตลอดศตวรรษที่ 20 เพราะที่ไหนคนเอาเงินไปกองกันเยอะๆ มันก็มีเงินเอาไปทำโน่นนี่เยอะ อย่างไร "การเก็บความลับ" นี้ก็เพิ่งจบไปในปี 2015 หลังจากอเมริกากดดันให้สวิสเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของธนาคารได้สำเร็จ เพราะอเมริกาจริงจังมากกับการยกระดับปราบปรามการฟอกเงินของกลุ่มก่อการร้าย

แน่นอน สวิสรวยมาส่วนหนึ่งด้วยการนี้ แต่บอกเลยว่า ถ้ามันแค่นี้ ทุกประเทศที่เป็น "แหล่งฟอกเงิน" ป่านนี้ก็รวยไม่รู้เรื่องกันหมดแล้ว สวัสดิการดีกันหมดไปแล้ว แต่มันไม่เป็นแบบนั้นไงครับ ดังนั้นมันไม่ใช่แค่นี้หรอก

ความแข็งแกร่งของสวิสอีกอย่างที่เค้าว่ากันก็คือ "เศรษฐกิจ" สวิสเจอวิกฤติเศรษฐกิจน้อยมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเพราะในอดีต "ความเป็นกลางทางการเมือง" ของสวิสที่ทำให้ประเทศนี้ไม่เคย "พังเพราะสงคราม" เลย ดังนั้น จึงไม่มี "จังหวะล้ม" แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวแบบชาติอื่น จึงพัฒนามาได้ต่อเนื่อง และนี่ก็ยังไม่ต้องพูดว่าสวิสนี้ก็ไม่มีประท้วงอะไรใหญ่ๆ เลยด้วย

ระบบเลือกตั้งของสวิส ให้ประชาชนทำประชามติกันปีละ 4 รอบ ดังนั้น นักการเมืองจะได้ยิน "เสียงประชาชน" เสมอ นักการเมืองจะรู้ว่าประชาชนคิดอะไรตรงๆ ในประเด็นหนึ่งๆ ผ่านทางประชามติ แล้วก็จะทำตาม

ซึ่งก็คงไม่ต้องพูดว่า เอาจริงๆ มันก็มีประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามอะไรจริงจังกับเค้า สงครามกลางเมืองก็ไม่มีมาตลอดศตวรรษที่ 20 หลายๆ ประเทศก็ไม่ได้มีการประท้วง หรือวิกฤติการเมืองอะไรด้วย แต่ก็ไม่เจริญเหมือนสวิส ดังนั้น "เสถียรภาพทางการเมือง" ก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด

 

สวิสรวยมาก รวยจัดๆ และระดับรายได้แบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้เค้าไม่ต้องเก็บภาษีในอัตราเยอะแยะอะไร ก็สร้างรัฐสวัสดิการชั้นดีได้ ซึ่งถ้าบริการพื้นฐานของรัฐไม่ดี ก็บอกเลยว่าคุณภาพชีวิตรวมๆ มันไม่สูงหรอกครับ คนมันไม่มีความสุขหรอกครับ


ปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้ สวิส ‘รวย’

 

เอาจริงๆ ก็เป็นเรื่องพื้นๆ อย่างเช่น มีการกระจายรายได้ที่ดี และมีแรงงานที่มีคุณภาพสูง แต่คำถามคือสวิสทำได้ยังไง?

สำหรับการกระจายรายได้ของสวิส ถ้าจะอธิบายแบบไม่ต้องลงลึกถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่ดีของสวิสมีพื้นฐานจากการที่สวิสเป็นสหพันธรัฐไม่รวมศูนย์มาช้านาน ดังนั้นพวก "รัฐ" (สวิสจะเรียกว่า Canton) ย่อยๆ ต่างๆ จะมีความเป็นเอกเทศสูง ไม่มีการดูดทรัพยากรมารวมศูนย์แบบหลายๆ ประเทศ ซึ่งนั่นคือตัวการสำคัญของความเหลื่อมล้ำเลย

ความเหลื่อมล้ำพื้นฐาน คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเหมืองหลวงศูนย์กลางกับพื้นที่ชายขอบ แต่สวิสไม่เป็นแบบนั้น พวกบริษัทใหญ่ๆ ระดับนานาชาติของสวิสกระจายอยู่ทั่วประเทศเลย ไม่ได้ไปกองกันที่เมืองใดเมืองหนึ่ง และพอบริษัทใหญ่ๆ กระจายอยู่ทั่ว พวกตำแหน่งงานรายได้สูงก็อยู่ทั่วประเทศตามไปด้วย ทำให้ไม่มี "พื้นที่ชายขอบ" ที่ยากจน


ทำไมสวิสถึงมีแรงงานคุณภาพสูง?

 

อย่างแรก คือ ระบบการศึกษาของสวิสอยู่ในระดับดีแบบตามมาตรฐานยุโรปน่ะแหละ ก็มีการสนับสนุนสาขาที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจพอควร แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ระบบการคัดเลือกแรงงาน

การคัดเลือกแรงงานของสวิสนั้นถ้าจะให้เทียบ แบบที่คนไทยคุ้นก็จะคล้ายๆ พวกแคนาดาและออสเตรเลีย สิ่งที่ประเทศพวกนี้เหมือนกันคือเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ ทำให้เข้าประเทศมาไม่ได้ง่ายๆ ดังนั้น พวกผู้อพยพทางการเมือง ไปจนถึงแรงงานเถื่อนเข้ามายากมาก ซึ่งเมื่อไม่มีคนพวกนี้เข้ามา ประเทศก็ไม่ได้ "นำเข้าคนจน" มาเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

แต่กลับกันสิ่งที่สวิสทำก็คือ คัดเลือกแรงงานระดับหัวกะทิมา และคนก็อยากไปทำงานสวิสอยู่แล้ว เพราะนี่ไม่ใช่แค่ประเทศที่ค่าแรงสูงระดับโลกเท่านั้น (ค่าแรงสวิสติด Top 3 ของโลกแน่ๆ แพงกว่าพวกนอร์ดิก) แต่อัตราภาษียังต่ำอีก มันเหมาะกับ "คนเก่ง" ที่คิดว่าตัวเองอยากได้ผลตอบแทนดีๆ กับผลงานตัวเอง หรือพูดง่ายๆ มันคือ "อเมริกา" ของยุโรปน่ะแหละในแง่นี้

เอาง่ายๆ ถ้าให้คนเลือกไปทำงานที่สวิสกับสวีเดน ไปสวิสทำงานได้เงินเยอะกว่าภาษีต่ำกว่า ดังนั้น มันก็เลยดึงพวก "หัวกะทิ" มาทำได้ และจริงๆ การไปทำงานที่สวิสนี่น่าจะได้ค่าแรงหลังหักภาษีสูงที่สุดในโลกแล้ว ไม่ต้องอธิบายว่าทำไมคนถึงอยากไปทำงานสวิส นี่แหละเหตุผลที่แรงงานทุกด้านในสวิสคุณภาพสูงมาก

ที่ตลกร้ายก็คือ มันนำเรากลับมาเรื่องภาษีครับ ซึ่งตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่า อัตราภาษีเงินได้ของสวิสแทบไม่ต่างจากไทยเลย หรือจริงๆ เค้าเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเยอะ? คำตอบ คือ “ไม่ครับ” ภาษีมูลค่าเพิ่มสวิสอยู่ที่ราวๆ 8% แทบไม่ได้ต่างจากไทยเลย และนั่นคือคนละโลกกับประเทศอย่างสวีเดนที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไป 25%

และถ้าจะถามถึงพวกภาษีกำไรของบริษัท สวิสเก็บแค่ 15% ครับ น้อยกว่าไทยที่เก็บ 20% อีก (สวีเดนเก็บ 20% เท่าไทยนะครับ)

ซึ่งก็ใช่อีกครับ สวิสเซอร์แลนด์ภาษีต่ำมากๆ ในทุกมิติ เค้าถือหลักการนี้มายาวนานว่าทำแบบนี้มันจะดึงเงินดึงคนเข้ามา เพราะถ้าบริษัทมาตั้งในประเทศ แล้วคนเก่งๆ ตามเงินมาทำงานในประเทศ ประเทศก็จะเจริญ แล้วเค้าก็ดึงมาได้จริงๆ ซึ่งพอแรงงานมีคุณภาพสูงจัดๆ ค่าแรงมันก็ขึ้นตาม ซึ่งพอค่าแรงมันขึ้นไปเยอะจริงๆ ราคาของต่างๆ ก็ย่อมสูง ซึ่งนี่ทำให้เงินพวกนี้มันก็จะกลับมาที่ระบบภาษีเอง เพราะภาษีมันก็เก็บตามสัดส่วนของรายได้และราคาสินค้า หรือพูดง่ายๆ คนยิ่งรายได้เยอะ ของยิ่งแพง รัฐก็ยิ่งเก็บภาษีได้เยอะนั่นเอง

 

บางคนอาจสงสัยว่า อัตราภาษีเงินได้ของสวิสแทบไม่ต่างจากไทยเลย หรือจริงๆ เค้าเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเยอะ? คำตอบ คือ “ไม่ครับ” ภาษีมูลค่าเพิ่มสวิสอยู่ที่ราวๆ 8% แทบไม่ได้ต่างจากไทยเลย และนั่นคือคนละโลกกับประเทศอย่างสวีเดนที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไป 25%

 

ดังนั้น ถ้าถามว่าสวิสสร้างรัฐสวัสดิการมาได้ยังไง เราก็ต้องเริ่มจากพวกแรงจูงใจทางภาษีที่ทำให้ทั้งบริษัทและคนมากองกันที่นี่ แต่ถามว่าจบแค่นี้มั้ย ก็ “ไม่” อย่างแน่นอน เพราะสวิสมีการสะสมทุนผ่านนโยบายธนาคารที่ทำให้เงินทั่วโลกไหลมากองรวมกัน และพวกธนาคารพวกนี้ก็เอาเงินไปปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจของสวิสให้ขยายตัวไปได้ ซึ่งทั้งหมดทำในบริบทที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงมากๆ และผลออกมาก็คือ ประเทศที่โคตรรวย

ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าสวิสไม่ได้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือ "ความเป็นเคียงบ่าเคียงไหล่กัน" (solidarity) อะไรทั้งนั้น เค้าก็แค่รวยมากๆ และมีรัฐสวัสดิการสไตล์ยุโรปที่พัฒนาไปตามระดับความร่ำรวยเท่านั้น ซึ่งนั่นคือ เค้ามีรัฐสวัสดิการดีจัดๆ เพราะเค้ารวยน่ะแหละ

ก็แน่นอนว่า กลับไปประเด็นที่ว่ามาตอนแรก ความเหลื่อมล้ำเค้าไม่ใช่ไม่มี ระดับความเหลื่อมล้ำเค้ากลางๆ เพียงแต่คนจนสุดของเค้าก็น่าจะมีคุณภาพชีวิตดีกว่าคนทีมีฐานะกลางๆ ในประเทศยุโรปหลายๆ ประเทศอีก

ที่เล่ามาทั้งหมด ประเด็นคือ "สวิสโมเดล" ก็อาจเป็นโมเดลหนึ่งในการพัฒนาประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการที่ดีได้ แต่นี่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะคำถามว่าจะทำยังไงให้ประเทศๆ หนึ่งร่ำรวย หรือกระทั่งแค่ "รวยขึ้น" เป็น คำถามแบบปราบเซียนมากๆ ในเชิงนโยบาย และในทางกลับกัน การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการ "เก็บภาษีคนรวย" ก็เป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องใช้ความคิดเลย แต่ปัญหาคือมันจะยังไงต่อ

เพราะประเทศที่อัตราภาษีสูง แน่นอนต่างชาติจะไม่อยากลงทุน คนระดับหัวกะทิก็ไม่อยากมาทำงาน และจริงๆ คือ คนรวยๆ ในประเทศก็อาจหอบเงินหนีไปอยู่ประเทศอื่นด้วยซ้ำ ดังนั้น คำถามคือถ้าจะเก็บภาษีแบบนี้ทุนของเราจะเหลือพอพัฒนาประเทศหรือไม่? คนของเราที่เหลืออยู่มีคุณภาพพอจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจพอหรือไม่?

ถ้าคำตอบ คือ “ไม่” การเพิ่มอัตราภาษีมันก็เป็นการฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นอาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยอิ่มเอมกับความยากจนอย่างเท่าเทียม เพราะนั่นอาจเป็น "ความเท่าเทียม" เดียวที่มีใด้ ในประเทศที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร

 

ที่มา
The Happy, Healthy Capitalists of Switzerland

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน