Skip to main content

องค์การสหประชาชาติ (UN) ยกระดับการเล่นของเด็กๆ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 11 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันแห่งการเล่นสากล” เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิในการเล่นของเด็กๆ ทุกคนบนโลกใบนี้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำการสำรวจเรื่อง “การเล่น” ในเด็กมากกว่า 25,000 คนจาก 36 ประเทศทั่วโลก และพบว่า เด็กมากกว่า 73% ไม่เชื่อว่าผู้ใหญ่มีความเข้าใจว่า การเล่นสำคัญกับการเรียนรู้ของพวกเขา ขณะที่มีผู้ใหญ่เพียง 30% เท่านั้นที่ตระหนักว่า การเล่นเป็นสิทธิโดยกำเนิดที่องค์การสหประชาชาติ นำมาใช้ในปี 1989 และพวกเขาระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้อง “นำการเล่นกลับเข้าสู่วาระการประชุมอีกครั้ง”

เพื่อทำให้ “การเล่น” กลับมามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั่วโลกอีกครั้ง เครือข่ายองค์กรระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่น และเด็กๆ จากทั่วโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของ UN สนับสนุนมติให้มีการกำหนด “วันแห่งการเล่นสากล” ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และปกป้องสิทธิของเด็กๆ ที่จะได้เล่นอย่างสนุกสนาน

ขณะที่ UN ได้ประกาศให้วันที่ 11 มิถุนายนเป็น “วันแห่งการเล่นสากล” โดยจะมีการเฉลิมฉลองวันแห่งการเล่นสากลเป็นครั้งแรกในปี 2024 นี้

นีลส์ บี.คริสเตียนเซน ซีอีโอของบริษัท LEGO Group หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าเด็กทุกคนควรได้รับประโยชน์จากพลังแห่งการเล่น  

“เป็นเวลามากกว่า 90 ปีที่พวกเขาสนับสนุนสิทธิการเล่นของเด็ก  เนื่องจากเรารู้ว่า การเล่นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของของเด็กๆ ได้ การเล่นช่วยเสริมสร้างความผูกพันในครอบครัวและช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็น และเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของพวกเขา” ซีอีโอ LEGO กล่าว

ด้าน แนนซี โมเลนดา กรรมการบริหารมูลนิธิเด็ก Mattel ซึ่งเป็นพันธมิตรในการเรียกร้องให้เกิด “วันแห่งการเล่นสากล” ระบุว่า “โครงการนี้ตอกย้ำความเชื่อของเราว่า การเล่นเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตของเด็กๆ และพวกเราก็มุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนรุ่นต่อไปสามารถเข้าถึงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และรับประกันว่าเด็กๆ ทุกคนจะมีโอกาสได้เล่นและเติบโต”

การเล่นเป็นกิจกรรมของเด็กทุกคนเหมือนๆ กัน พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากความกระตือรือร้นและความรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของตัวเอง ซึ่งการเล่นจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักสำรวจ สงสัย เชื่อมโยงความคิดและประสบการณ์ พร้อมกับทำความเข้าใจโลกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อเด็กๆ ได้เล่นสนุก พวกเขาจะได้พัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นซึ่งเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าของตัวเด็กๆ เองและของสังคมด้วยเช่นกัน

“การเล่นไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น มันเป็นส่วนสำคัญของธรรมชาติมนุษย์ การเล่นทำให่เราเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาทักษะที่จะกำหนดอนาคตของเรา” อมิเนะ สมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาเด็กและเยาวชนประเทศฝรั่งเศส กล่าว

ยูนิเซฟ ประเมินว่า มีเด็กราว 160 ล้านคนทั่วโลก ที่ต้อง “ทำงาน” แทนที่จะได้เล่นหรือเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด เด็กๆ ก็ยังสามารถมองหาความหวัง สุขภาพ และความสุขของตัวเองผ่านการเล่นได้  เพราะการเล่นไม่ใช่แค่การเล่น แต่การเล่นมีพลัง และพลังแห่งการเล่นก็ช่วยปลดล็อกศักยภาพของเด็กๆ พร้อมกับปลูกฝังความมั่นใจ ช่วยชีวิต เยียวยา และสร้างโลกแห่งความเป็นไปได้ให้กับพวกเขา

มติของ UN ที่ประกาศให้วันที่ 11 มิถุนายนเป็น “วันแห่งการเล่นสากล” ได้เน้นเรื่อง ‘การเล่น’ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสิทธิเด็กไปอีกขั้น  พร้อมสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าการเล่นมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กๆ ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเวลาในการเล่น พื้นที่ในการเล่น และสนับสนุนการเล่นที่มีคุณภาพให้กับเด็กทุกคน

 

อ้างอิง:
เว็บไซต์ทางการของวันแห่งการเล่นสากล
UN elevates the importance of play by adopting an official International Day of Play
UN Signals Importance of Play by Adopting Official International Day of Play
UNCRC Simplified Articles