Skip to main content

รายงานของ IQAir เผยว่า ปัจจุบันมีเพียง 7 ประเทศในโลก ที่สามารถหายใจเอาอากาศสะอาดเข้าปอดได้ตลอดทั้งปี โดยที่ 3 ใน 7 ของประเทศเหล่านั้นอยู่ในยุโรป

“มลพิษทางอากาศ” กลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและสำคัญของโลก ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างยกให้มลพิษทางอากาศเป็น “หายนะทางด้านสุขภาพทั่วโลก” ที่เป็นสาเหตุของการล้มป่วยและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเป็นจำนวนมาก

รายงานคุณภาพอากาศโลกล่าสุดที่จัดทำโดย IQAir ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศของสวิสเซอร์แลนด์ เผยว่า ในปี 2023 มีเพียง 7 ประเทศในโลกเท่านั้นที่มีระดับมลพิษทางอากาศอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งมีปริมาณ PM2.5 อยู่ที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เอสโตเนีย เกรเนดา ไอซ์แลนด์ มอริเชียส และนิวซีแลนด์

รายงานดังกล่าว ดึงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศมากกว่า 30,000 แห่งใน 134 ประเทศ ซึ่งพบว่า มี 124 พื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูงที่เกินกว่าที่ระดับที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนด ซึ่ง PM2.5  คือ อนุภาคขนาดจิ๋วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน จึงสามารถผ่านเข้าไปในปอดและกระแสเลือดของมนุษย์ได้ และความเชื่อมโยงกับการป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคปอด และโรคความดันโลหิตสูง เช่นเดียวกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สำหรับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดนั้น กระจุกตัวอยู่ในแถบเอเชียใต้และเอเชียกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองที่ติด 10 อันดับแรกของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก และในปี 2023  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่มีมลพิษมากเป็นอันดับ 1 ของอเมริกาเหนือ และเป็น 1 ใน 13 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในภูมิภาค

ส่วนประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 36 ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายมากที่สุดในโลกในปี 2023 ซึ่งค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 ในประเทศไทยมีมากกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลกถึง 4.7 เท่า

“สภาพอากาศที่สะอาดและดีต่อสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งหลายพื้นที่ของโลกยังขาดข้อมูลคุณภาพอากาศ จึงทำให้การรับมือและจัดการปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องทุกข์ทรมานโดยไม่ที่จำเป็น” แฟรงค์ แฮมเมส ซีอีโอ IQAir กล่าว

ไอดาน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านคุณภาพอากาศของกรีนพีซ ระบุว่า จำเป็นต้องมีความพยายามอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับสาเหตุของหมอกควันข้ามพรมแดน และลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ต้องใช้การเผาไหม้

“มลพิษทางอากาศในปี 2023 ยังคงเป็นหายนะด้านสุขภาพทั่วโลก ชุดข้อมูลมลพิษทางอากาศจึงเป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องนำแนวทางที่มีมากมายมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหานี้” ฟาร์โรว์กล่าว


อ้างอิง:
Only seven countries in the world breathe safe air. Three of them are in Europe
2023 World Air Quality Report 
Air quality in Thailand