Skip to main content

องค์กรไม่แสวงผลกำไรในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวแคมเปญ “ตู้เย็นส่วนรวม” สำหรับรับ-ส่งมอบอาหารเหลือใช้ หรือใกล้หมดให้กับคนอื่นที่ต้องการ เพื่อขยะจากอาหารและช่วยให้ผู้บริโภคใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หลายคนคงเคยโยนอาหารสดที่ซื้อมาทิ้งไป เพราะไม่มีเวลาที่นำมาปรุงอาหาร ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นปัญหา ‘อาหารเหลือทิ้ง’ ที่คนทั่วโลกเผชิญและกำลังร่วมกันหาทางออก

‘Free-Go’ องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดแคมเปญ “ตู้เย็นส่วนรวม” เพื่อให้ผู้คนทั่วไปมาหยิบผักผลไม้ ขนมปัง และอาหารอื่นๆ ได้ฟรี ขณะเดียวกันคนที่มีอาหารเหลือหรือใช้ไม่หมดแต่ใกล้หมดอายุ  ก็สามารถนำมาไว้ที่ตู้เย็นส่วนรวมนี้ได้ แคมเปญนี้เป็นส่วนหนึ่งของชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่พยายามรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง

 

 

Free-Go เป็นการเล่นคำ มาจากคำว่า “Frigo” ซึ่งแปลว่า “ตู้เย็น” ในภาษาฝรั่งเศส แคมเปญนี้ใช้เงินในการดำเนินการราว 40,000 ยูโรต่อปี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มการองค์กรกุศล ภาคเอกชน และรัฐบาลของเมือง แคมเปญ “ตู้เย็นส่วนรวม” เปิดตัวเมื่อปี 2022 เริ่มจากตู้เย็นเพียงเครื่องเดียว ก่อนจะเพิ่มจำนวนเป็น 5 เครื่องและกระจายอยู่ทั่วเมืองเจนีวา

มารีน เดลโวซ์ ผู้อำนวยการโครงการ เล่าว่า โดยทั่วไปอาหารที่ถูกนำมาใส่ไว้ในตู้เย็นส่วนรวมจะมีคนมาหยิบไปภายใน 1-2 ชั่วโมง และด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ จึงไม่อนุญาตให้นำอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใส่ไว้ในตู้เย็นนี้

นอกจากนี้ Free-Go ยังทดลองการบริการรับอาหารเหลือทิ้งจากอพาร์ทเมนต์ เพื่อทำให้การลดขยะจากอาหารเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายสำหรับประชาชนที่อยากเข้าร่วม และยังจัดทำสายด่วนให้กับร้านอาหารอีกด้วย

“เมื่ออาหารที่เราไปรวบรวมจากร้านอาหารมาถึงตู้เย็นส่วนรวมในตอนเช้า ก็มีคนมายืนรอเพื่อหยิบอาหารแล้ว” มารีนบอก

มารีนบอกว่า ปีที่แล้วมีอาหารในตู้เย็นส่วนรวมที่ไม่มีใครต้องการและถูกนำไปทิ้ง มีเพียง 3% เท่านั้น

ร้านอาหารหรือคนขายอาหารที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ จำเป็นต้องทำข้อตกลงกับองค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่พวกเขาบริจาคนั้นมีความปลอดภัยสำหรับการรับประทาน ขณะที่กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า อาหารที่ยังไม่ได้เปิด เช่น อาหารกระป๋อง หรือแคร็กเกอร์ที่มีอายุเลยฉลากวัน “ควรบริโภคก่อน” ยังสามารถนำมาบริโภคได้ภายใน 1 ปีหลังจากนั้น

 

 

เซเวอรีน คิวเอนเดต์ คุณครูวัย 54 ปี เป็นอีกคนที่มักจะเอาอาหารสดมาใส่ในตู้เย็นส่วนรวมเสมอ โดยเฉพาะมะเขือเทศ “เรามีมะเขือเทศเยอะมากเลยค่ะ และการทำโครงการนี้ก็ยอดเยี่ยมมากๆ เพราะมันเป็นที่ต้องการของคนในย่านนี้”

“มันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เลยค่ะ ฉันมักจะหยิบสตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ อะไรพวกนั้น แล้วเหตุผลที่ว่าอาหารเหล่านี้ไม่ต้องเสียเงินด้วย ก็เป็นสิ่งที่ฉันชอบเหมือนกัน” ชาลา โมราดี แม่บ้านวัย 65 ปี จากอิหร่านกล่าว

รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ประเมินว่า เกือบ 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่มีไว้เพื่อการบริโภค ถูกทิ้งไปโดยไม่จำเป็น หรือคิดเป็นปริมาณขยะอาหารประมาณ 330 กิโลกรัมต่อประชากรต่อคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้ ประมาณ 100 กิโลกรัมเป็นขยะอาหารเหลือทิ้งจากครัวเรือน

Free-Go กล่าวว่าในทุกๆ ปี อาหารเกือบ 1 พันล้านเมตริกตันจะถูกทิ้งเป็นให้ขยะทั่วโลก โดยในกระบวนการผลิตอาหารเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นๆ อย่างมหาศาล ทั้งภาคเกษตรกรรมและการขนส่ง

“การทิ้งอาหารไม่เพียงแต่เป็นปัญหาด้านจริยธรรมและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำลายสภาพแวดล้อมซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดอีกด้วย” คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรปกล่าว

 

อ้างอิง:
Free food: Geneva’s community pantries use the sharing economy to prevent food waste
To Cut Food Waste, Switzerland Tries Public Refrigerators
Free food fridges take off in parts of Europe in eco-friendly bid to fight waste