Skip to main content

รสมือแม่ที่แท้ทรู! ร้านอาหารในนิวยอร์กผุดไอเดียดึงผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ด้วยการจ้าง “คุณยาย” หลากหลายเชื้อชาติมากกว่า 40 คน มาเข้าครัวทำอาหารสไตล์โฮมเมดให้ลูกค้า จนร้านปัง มียอดจองโต๊ะเต็มตลอด

เชื่อว่าอาหารจานโปรดของใครหลายคนคงเป็นอาหาร 'โฮมเมด' รสมือคุณยายคุณย่าที่แสนอร่อย เช่นเดียวกับ จอดี้ สคาราเวลล่า เจ้าของร้านอาหาร Enoteca Maria ในเกาะสแตเทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทว่า จอดี้สูญเสียคุณย่าหรือที่เขาเรียกว่า “นอนน่า” (nonna) ไปตั้งแต่ปี 1999 และจอดี้ก็คิดถึงอาหารอิตาเลียนดั้งเดิมฝีมือนอนน่าของเขาแบบสุดๆ

เพื่อนำอาหารรสชาติแสนคุ้นเคยจากปลายจวักของคุณย่าคุณยายที่หลานๆ หลายคนคงคิดถึงมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร จอดี้ตัดสินใจเปิดร้าน Enoteca Maria ในปี 2007 และเขาก็ปิ๊งไอเดียที่จะจ้างคุณยายคุณย่ามาทำหน้าที่เป็น “เชฟ” ปรุงอาหารโฮมเมดแบบฉบับของตัวเองให้คนทั่วไปได้ลองชิมกัน

แต่แทนที่จะเป็นนอนน่าชาวอิตาลีมาปรุงอาหารอิตาเลียนแสนอร่อยที่จอดี้คุ้นเคย เขาตัดสินจ้างนอนน่าหลากหลายเชื้อชาติ เพื่อมาทำอาหารหลากสไตล์หลายรสชาติให้ลูกค้าได้ลิ้มลอง ภายใต้โปรเจ็กต์ “Nonnas of the World” และจนถึงวันนี้ ร้านอาหารของเขาก็มีเชฟกิตติมศักดิ์ อายุตั้งแต่ 50 - 91 ปี มากกว่า 40 คน จากหลายชาติทั่วโลก เช่น เปรู, ศรีลังกา, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, เม็กซิโก, อิตาลี, กรีซ, อุซเบกิสถาน และตุรกี เป็นต้น

 

นอนน่า มารัล จากอาเซอร์ไบจาน (ที่มา เฟซบุ๊ก Enoteca Maria)

 

อาหารฝีมือ นอนน่า ชีรีน จากบังคลาเทศ (ที่มา เฟซบุ๊ก Enoteca Maria)

 

“ตอนแรกผมเริ่มจากให้นอนน่าจากหลายๆ ภูมิภาคในอิตาลีมาทำอาหารก่อน แต่วินาทีนั้นผมก็ได้เรียนรู้ว่า เราไม่สามารถให้คุณยายสองคนที่มาจากวัฒนธรรมเดียวกันมาอยู่ในครัวเดียวกันได้ เพราะมันเป็นเหมือนการแข่งขันกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีสูตรอาหารที่อร่อยที่สุดของตัวเองอยู่ ผมเลยจ้างนอนน่าเชื้อชาติอื่นๆ มาด้วย แล้วก็เวิร์กเสียด้วยที่ให้คุณยายจากต่างวัฒนธรรมมาทำอาหารร่วมกัน เพราะพวกเธอไม่ค่อยรู้ว่าคุณยายอีกคนกำลังทำอะไรอยู่” จอดี้กล่าว

จอดี้เล่าว่า อาหาร คือ ภาษาสากลที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน และอาหารจากคุณย่าคุณยายหลากหลายเชื้อชาติก็ทำให้คนกินรู้สึกได้ถึงการถูกโอบกอด เหมือนได้อยู่ในอ้อมกอดของหญิงที่รักและห่วงใยพวกเขามากๆ

“คนทั่วไปมักจะพูดถึงคุณแม่และคุณย่าคุณยายของเขา และบรรยายว่าอาหารของพวกเธอนั้นวิเศษมากแค่ไหน เพราะอาหารโฮมเมดช่วยดึงความทรงจำวัยเด็กของเราได้ให้กลับมาได้อย่างง่ายดาย” จอดี้กล่าว

ร้านอาหารของจอดี้ไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้ลูกค้าได้เข้ามาชิมรสมือของนอนน่าจากหลากหลายเชื้อชาติเท่านั้น แต่โปรเจ็กต์ของจอดี้ยังเป็นการช่วยเหลือหญิงชราให้ได้กลับมามีอาชีพ มีรายได้ และมีชีวิตของตัวเอง โดยจอดี้ระบุว่า

“นอนน่าส่วนใหญ่มักจะสูญเสียสามีไปแล้ว ขณะที่ลูกๆ ก็เติบโตและย้ายออกจากบ้านไป แต่พวกเธอยังมีองค์ความรู้เรื่องอาหาร และเข้าใจวัฒนธรรมของตัวเองเป็นอย่างดี พวกเราจึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้พวกเธอได้ปล่อยของ แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตัวเอง”

คุณยาย เมย์ ดอลลี่ โจเซฟ วัย 71 จากศรีลังกา หนึ่งในเชฟของร้าน Enoteca Maria ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ PEOPLE ระบุว่า “ทุกคนชมว่า ‘อาหารอร่อยมากเลย’ มันทำให้ฉันรู้สึกมีความสุขมากที่สุดในโลกเลยค่ะ” เช่นเดียวกับ คุณยายมารัล จากอาเซอร์ไบจาน ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News เธอเล่าว่าการมาทำอาหารที่ร้านแห่งนี้ช่วยนำความสุขมาให้กับเธอได้อย่างเหลือล้น ขณะที่คำชมของลูกค้าก็ทำให้เธอรู้สึกดีใจ

“ไม่ค่อยมีใครบ่นว่าไม่อร่อยนะคะ ทุกคนชอบกินอาหารของฉันทั้งนั้น” คุณยายมารัลบอก

 

นอนน่า เมย์ ดอลลี่ โจเซฟ วัย 71 จากศรีลังกา (ที่มา เฟซบุ๊ก Enoteca Maria)

 

คลาสสอนทำอาหารแบบตัวต่อตัว กับ นอนน่า เฮเลนา จากอิยิปต์ (ที่มา เฟซบุ๊ก Enoteca Maria)

 

นอกจากเสิร์ฟอาหารแสนอร่อยแล้ว โปรเจ็กต์ Nonns of the World ยังเปิดคลาสสอนทำอาหาร ซึ่งลูกค้าสามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำอาหารแบบตัวต่อตัวกับนอนน่าที่ตัวเองสนใจ และยังมีการจำหน่ายถึงผ้า รวมถึงซอสโฮมเมดของนอนน่าอีกด้วย

“ผมไม่ได้อยากทำร้านอาหารครับ แล้วสิ่งที่เราทำอยู่ก็อาจจะไม่ใช่ร้านอาหารเสียทีเดียว แต่เป็นโปรเจ็กต์ที่มีผลพลอยได้คืออาหาร คนทั่วไปเข้ามากิน จ่ายเงินให้กับเรา และเราก็ใช้เงินตรงนั้นมาทำโปรเจ็กต์ต่อ” จอดี้กล่าวปิดท้าย 
   

ที่มา
เฟสบุ๊กร้าน Enoteca Maria
เว็บไซต์ Enoteca Maria
Inside the N.Y.C. Restaurant Where Grandmas Rule the Kitchen: 'They're So Full of Love'
This NYC Restaurant’s Food Is Cooked With Love by Grandmas From Around the World
Different grandmas from around the world cook at Enoteca Maria on Staten Island
This restaurant only hires grandmothers from around the world and we need to go