Skip to main content

Libertus Machinus

 

รู้มั้ยว่าเมื่อ 20 ปีก่อน เวลาคุยเรื่อง ‘Work-Life Balance’ ในชาติตะวันตก คือ การคุยกันเรื่อง "ผู้หญิงออกไปทำงาน แล้วไม่มีเวลาทำงานบ้านเพียงพอ"

ปัจจุบันนี้ ในสังคมไทย ประเด็นเรื่อง Work-Life Balance เป็นประเด็นที่ถูกจุดประเด็นขึ้นมาทีก็พูดคุยเถียงกันที แล้วก็จบไป เหมือนทุกคนบ่นไปพอเป็นพิธีว่ามันมีปัญหา แต่ทางแก้ก็ไม่ชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัดด้วยซ้ำว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง

เราเลยอยากพาไปดูว่าในชาติยุโรปตะวันตกยันพวก "รัฐสวัสดิการ" เค้าคุยกันยังไง

 

 

ผู้หญิงมี Work-Life Conflict สูง จึงต้องมี Work-Life Balance 

 

จริงๆ แล้วบทสนทนาเรื่อง Work-Life Balance เป็นสิ่งที่แทบไม่มีเลยในโลกตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 20 เพราะโดยพื้นฐาน หลังจากการต่อสู้ของขบวนงานแรงงานจนได้มาตรการจำกัดชั่วโมงทำงานและวันหยุดที่เหมาะสมแล้ว มันก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพูดคุยเรื่อง "สมดุล" อะไรต่ออีก

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่อง Work-Life Balance ก็ปรากฏเป็นบทสนทนาที่สำคัญในทางนโยบายในช่วงต้นทศวรรษ 2000 โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งนี่ก็เป็นบทสนทนาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชีวิตร่วมกันของผู้คนในประชาคมยุโรปที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้

แล้วอะไรคือ "ปัญหา" Work-Life Balance ในยุคนั้น? นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะในปัจจุบันการพูดถึง Work-Life Balance นัยมันคือ “คนทำงานหนักเกินไป” ไม่มีเวลา "ใช้ชีวิต" ซึ่งการ "ใช้ชีวิต" ในแง่นี้ก็มีหลากหลาย

แต่ย้อนไป 20 ปีก่อน ประเด็น Work-Life Balance นั้นยังคิดบนฐานของ "ครอบครัวตามจารีต" อยู่ หรือพูดให้ตรง ปัญหา Work-Life Balance คือ การที่คนไม่มีเวลาให้ครอบครัวมากพอ หรือให้ตรงกว่านั้น คือ มีปัญหาการ "ทำงานบ้าน" ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซื้อของชำ ทำกับข้าว ซักผ้า ตากผ้า ทำความสะอาดบ้าน หรือ เลี้ยงลูก

 

 

นี่คือ "Life” ที่เสียไปจากการทำงานเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นเค้าก็ศึกษาจริงจังเทียบกันระหว่างประเทศต่างๆ ว่า อะไรเป็นตัวที่ทำให้คนมี Work-Life Balance ต่ำ หรือถ้าเป็นภาษายุคนั้นก็คือ มี “Work-Life Conflict” สูง

ซึ่งถ้าจะอธิบายสั้นๆ เร็วๆ คนในสังคมที่มี Work-Life Balance ต่ำ คือ ‘ผู้หญิง’ เพราะตอนต้นศตวรรษที่ 21 บทบาทของผู้หญิงที่สังคมยุโรปคาดหวังไม่ใช่ "แม่บ้าน" อีกต่อไปแล้ว สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านกันเป็นปกติ แต่ในทำนองเดียวกัน ถ้าในครอบครัวไม่มีการเกิด คนไม่มีลูก สังคมมันก็ไปต่อไม่ได้

ดังนั้น ผู้หญิงก็เลยต้องมีลูกและดูแลลูก ซึ่งพออยู่เป็นครอบครัว "งานบ้าน" ต่างๆ ก็มีมากขึ้น และ "ตามจารีต" ถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของผู้หญิง เพราะอย่างน้อยในสังคมยุโรปปกติ แม้ว่าคนจะมีเครื่องซักผ้าและเครื่องดูดฝุ่นช่วยงานบ้านแล้ว แต่สิ่งที่ยังต้องทำแบบ "ดั้งเดิม" ก็คือ อาหาร ดังนั้น งานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การออกไปซื้อวัตถุดิบ ทำกับข้าว และเครื่องมือทำอาหารต่างๆ รวมถึงล้างจานด้วย

จะเห็นได้ว่าไปๆ มาๆ สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงออกไปทำงานบ้านยังไม่พอ แต่ผู้หญิงยังต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกและทำงานบ้านแบบสากกะเบือยันเรือรบไปด้วย และนี่ทำให้ "เวลาว่าง" ของผู้หญิงและผู้ชายไม่เท่ากัน แม้ว่าจะอยู่ใต้กฎหมายแรงงานเดียวกัน เลยทำให้ปัญหา Work-Life Balance เป็นปัญหาของผู้หญิงเป็นหลัก เพราะถึงผู้ชายจะมีปัญหาเวลาว่างไม่พอ ปัญหานี้ก็ถือว่าเล็กน้อยกว่าผู้หญิงมาก เพราะผู้หญิงมีภาระหน้าที่ตามจารีตที่ต้องทำงานบ้านด้วย จึงทำให้ยังไงๆ เวลาว่างของผู้หญิงก็น้อยกว่าผู้ชาย

 

 

Work-Life Balance เป็นเรื่องวัฒนธรรมมากกว่านโยบาย

 

น่าสนใจว่า ในยุคนั้น เค้าก็มองว่าพวก "รัฐสวัสดิการ" กลุ่มนอร์ดิกทั้งหลายนั้นผู้หญิงมี Work-Life Balance ดีกว่าที่อื่นๆ จริง แต่พอมาไล่ดูจริงๆ นโยบายของพวกนี้ไม่ได้พิเศษกว่ารัฐอื่นๆ ในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ และเอาเข้าจริงๆ บางประเทศมีชั่วโมงทำงานหนักกว่าประเทศที่ผู้หญิง Work-Life Balance แย่กว่าด้วยซ้ำ เช่น นอร์เวย์มีชั่วโมงทำงานมากกว่าฝรั่งเศส แต่ผู้หญิงนอร์เวย์กลับมี Work-Life Balance ดีกว่าฝรั่งเศส

นี่เลยทำให้ประเด็นเรื่อง Work-Life Balance วิ่งกลับมาว่า มันอาจไม่ใช่เรื่องของจำนวนชั่วโมงทำงาน หรือนโยบาย แต่เป็นเรื่องของความคาดหวังให้ผู้หญิงมีบทบาท "ทำงานบ้าน" ตามจารีตมากน้อยแค่ไหนมากกว่า หรือพูดอีกแบบก็คือ ไม่ใช่เรื่องของ "นโยบาย" รัฐ แต่อยู่ที่ "วัฒนธรรม" กำหนดในคนแต่ละประเทศแบ่งงานในบ้านระหว่างผู้หญิงและผู้ชายยังไงมากกว่า ซึ่งในแง่นี้พวกกลุ่มนอร์ดิกมีวัฒนธรรมแบ่งการทำงานบ้านระหว่างเพศที่ดีกว่าเพื่อนบ้านยุโรปตอนล่าง ผู้หญิงประเทศพวกเค้าเลยมี Work-Life Balance ที่ดีกว่า

 

 

Work-Life Balance ท่ามกลางความท้าทาย

 

อย่างไรก็ดี บางคนก็อาจสงสัยว่า ผ่านมา 20 ปีแล้ว พวกเค้ายังคุยกันเรื่องเดิมอยู่มั้ย? คำตอบ คือ ไม่ใช่ แต่มันมีความเกี่ยวเนื่องกัน

เมื่อ 20 ปีก่อน พวกชาติยุโรปพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ผู้หญิงมี Work-Life Balance ที่ดีไปพร้อมๆ กับที่จะให้พวกเธอเข้าร่วมในตลาดแรงงาน เพราะเศรษฐกิจชาติยุโรปเริ่มมีอัตราการพัฒนาต่ำแล้ว อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา คือ หลังจากผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น มีหน้าที่การงานดีขึ้น พวกเธอก็ไม่ต้องการจะให้ภาระครอบครัวมาขัดขวางหน้าที่การงานอีก พวกเธอแต่งงานช้าลงไปจนถึงไม่แต่งงานเลย บางคนก็มีคู่ชีวิตแต่ไม่คิดจะมีลูก เพราะอะไรพวกนี้ล้วนแต่เป็นการเพิ่ม "งานบ้าน" ให้กับพวกเธอทั้งนั้น และเป็นการทำลาย Work-Life Balance ที่เธอมีมา

ดังนั้น สิ่งที่เกิดในปัจจุบันนี้ ไปๆ มาๆ ก็เป็นผลที่เกิดจากการพยายามแก้ปัญหาเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบัน โดยรวมผู้หญิงยุโรปมี Work-Life Balance ดีขึ้นมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมมีอัตราการเกิดต่ำ แต่พร้อมกันนั้นมีคนแก่ที่ต้องการเงินสวัสดิการมากขึ้นเรื่อยๆ จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทำให้คนอายุยืนขึ้น คำถาม คือ “แล้วใครจะจ่าภาษี?” ดังนั้น ปัญหาเลยไม่ใช่การพยายามหาสมดุล Work-Life Balance อีกแล้ว แต่ปัญหาคือทำยังไงทำให้ GDP เยอะขึ้นและเก็บภาษีได้เพียงพอให้ระบบสวัสดิการต่างๆ ดำเนินต่อไปได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านก็คือ ผลิตภาพของเศรษฐกิจยุโรปถูกท้าทายอย่างร้ายแรงด้วย Globalization ของแรงงาน ในยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่ใช่แค่แรงงานอุตสาหกรรมราคาถูกจะส่งของไปขายได้ทั่วโลกเท่านั้น แต่แรงงานภาคการบริการราคาถูกก็ทำงานได้ทั่วโลกด้วย ภาวะพวกนี้ท้าทายสถานการณ์แรงงานในยุโรปสุดๆ เพราะก็ต้องเข้าใจว่าในยุคที่สหภาพแรงงานทรงพลังและดันค่าแรงในยุโรปขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ "แรงงาน" ไม่ได้ถูกท้าทายจาก "แรงงานราคาถูกนานาชาติ" แบบทุกวันนี้

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในยุคที่คุณจ้างงานคนได้จากทั่วโลกและทักษะไม่ได้ต่างกันมาก ถ้าต้องจ่ายเงินเท่ากัน คุณจะอยากจ้างแรงงานชาติยุโรปที่มีชั่วโมงทำงานน้อย มีวันหยุดเยอะ และมี Work-Life Balance ที่ดี หรือคุณอยากจะจ้างแรงงานชั้นดีจากประเทศกำลังพัฒนาที่ยินดีมีชั่วโมงทำงานมาก มีวันหยุดน้อย และทำงานโดยไม่สน Work-Life Balance? 

สำหรับฝั่งนายจ้าง คำตอบก็น่าจะชัดว่าเลือกจ้างฝ่ายหลังดีกว่า "ถ้าจ่ายเงินเท่ากัน" ซึ่งในความเป็นจริงก็คือค่าจ้างฝ่ายหลังที่พร้อมจะทำงานหนักกว่านั้นกลับต่ำกว่าผ่ายแรกที่ชินกับการทำงานน้อยและได้ผลตอบแทนมาก อันเนื่องมาจากกฎหมายแรงงานท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

ผลรวมของภาวะแบบนี้ก็คือ มันทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมซบเซา เพราะสุดท้าย ค่าจ้างที่สูง คุณภาพชีวิตที่ดีมี Work-Life Balance กลับเป็นสิ่งที่ทำให้แรงงานยุโรปไม่มีศักยภาพในการแข่งขันในยุคที่จ้างงานกันได้แบบ "ไร้พรมแดน"

นี่ทำให้รัฐสวัสดิการปวดหัวมาก และเป็นเหตุผลที่เรื่อง Work-Life Balance ไม่ใช่ "ปัญหา" เพราะมัน "ไม่มี" หรือ "มีไม่เพียงพอ" แบบสมัยก่อน แต่ปัญหาตอนนี้คือ สังคมมี Work-Life Balance แล้ว จะเอาออกไปไหนก็ไม่ได้ด้วย แล้วรัฐจะทำยังไงให้เกิดผลิตภาพและความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยที่ไม่ลดทอน Work-Life Balance ในสังคม?

ทั้งหมดนี้ก็อยากจะชี้ให้เห็นว่า สังคมที่มี Work-Life Balance ที่ดีมันก็มีอีกด้านที่มีปัญหา เพราะสุดท้ายระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้มันไม่ใช่ "ระบบปิด" แล้ว คุณต้องแข่งขันกับคนทั้งโลก และคุณไม่มีทางจะมี Work-Life Balance ที่ดีกว่าชาวบ้านโดยที่ไม่เสียอะไรเลย


ที่มา
Rosemary Crompton and Clare Lyonette, "Work-Life 'Balance' in Europe", Acta Sociologica, Vol. 49, No. 4 (Dec., 2006), pp. 379-393

Sally Khallash and Martin Kruse, "The future of work and work-life balance 2025", Futures, Vol. 44 (2012), pp. 678–686


อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
ทำไม ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ทำให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ในสแกนดิเนเวียมีความสุข
‘รัฐสวัสดิการ’ ทำให้การ ‘หย่าร้าง’ เพิ่มขึ้นจริง แต่นั่น...ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด
ประเทศที่มี ‘สวัสดิการแปลงเพศฟรี’ แต่ทำไมคนกลับหนีมาทำที่ไทย?
รู้มั้ยทุกวันนี้ ‘คนมาเก๊า’ ได้เงินจากรัฐปีละกว่าสี่หมื่นบาท