งานวิจัยชิ้นใหม่เผยว่า มนุษย์มีความสามารถในการ ‘รับกลิ่นอารมณ์’ ของมนุษย์ด้วยกันได้ และมักเลือกคบคนที่มีกลิ่นกายคล้ายกัน ซึ่งมีแนวโน้มคุยกันถูกคอและสนุกสนานกว่า ทั้งยังสามารถรับรู้กลิ่นของความสุขที่ล่องลอยออกมาจากคนอื่น และพบด้วยว่าผู้หญิงสามารถรับกลิ่นความกังวลของผู้ชายได้ดี ทำให้เป็นผู้ปกป้องดูแลผู้อ่อนแอ
โดยปรกติ เราจะให้ความสำคัญกับประสาทการรับกลิ่นน้อยกว่าประสาทสัมผัสอื่น เบตตินา เพาเซอ นักชีวจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยไฮน์ริช ไฮน์ ดุสเซลดอร์ฟ ในเยอรมนี อธิบายว่า หนึ่งในเหตุผลนั้นอาจเป็นเพราะการรับกลิ่นในทางสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือการรับรู้ของสมอง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนมักจะเผลอลูบจมูกข้างขวาโดยไม่รู้ตัว หลังจากจับมือกับคนเพศเดียวกัน โดยลูบจมูกถี่ขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับตอนก่อนทักทาย ซึ่งเบตตินาชี้ว่า ดูเหมือนมนุษย์จะสามารถรับรู้กลิ่นกายของผู้อื่นได้ดี
งานวิจัยจากยุโรปเมื่อปี 2023 พบว่า เราสามารถรับรู้ ‘กลิ่นความกลัว’ หรือ ‘กลิ่นความกังวล’ ของผู้อื่นได้ โดยที่อารมณ์เหล่านั้นส่งผลต่อความรู้สึกของเราด้วย และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากจีนเผยว่า ผู้ที่มีประสาทรับกลิ่นดีกว่ามักมีเพื่อนมากกว่า
งานวิจัยรวบรวมข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการดมกลิ่นกายผู้คนรอบข้างพบว่า เราสามารถจำแนกญาติพี่น้องว่า ใครมีพันธุกรรมใกล้ชิดกัน และมักเลือกคบเพื่อนที่มีพันธุกรรมคล้ายคลึงและมีกลิ่นกายคล้ายกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เผยว่า แม่มือใหม่ส่วนใหญ่สามารถระบุตัวลูกน้อยของตนเองจากกลิ่น แม้จะใช้เวลาร่วมกันเพียง 10 นาที ขณะที่ทารกแรกเกิดก็สามารถจำกลิ่นของแม่ได้เช่นกัน
ชานี แอครอน นักประสาทชีววิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวส์มานน์ ในอิสราเอล เผยว่า ผู้ที่เชี่ยวชาญการดมกลิ่นสามารถจับคู่ฝาแฝดได้จากกลิ่นกาย แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ขณะที่งานวิจัยปี 2022 ของสถาบันวิทยาศาสตร์ไวส์มานน์ สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาสาสมัครคนไหนจะสนิทกันได้จากการเปรียบเทียบกลิ่นกาย นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ที่มีกลิ่นกายคล้ายกันมีแนวโน้มที่จะคุยกันถูกคอมากกว่า และรู้สึกถึงเคมีที่เข้ากัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า เราเลือกคบเพื่อนจากการมียีนบางชุดที่เหมือนกันโดยที่เราไม่รู้ตัว
งานวิจัยพบด้วยว่า หากเราสนทนากับคนที่กำลังมีความสุข เราสามารถรับรู้อารมณ์ของคู่สนทนาได้ผ่านกลิ่นที่ลอยมาแตะจมูก การทดลองในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทดลองให้อาสาสมัครดูวิดีโอตลกขณะที่เหน็บแผ่นซับเหงื่อไว้ที่ใต้รักแร้ จากนั้น นำแผ่นซับเหงื่อไปให้อาสาสมัครอีกกลุ่มดม พบว่า อารมณ์ของพวกเขาดีขึ้น โดยกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนที่ยิ้มทำงานมากขึ้น
ไม่ใช่เพียงความรู้สึกเบิกบานที่สื่อสารผ่านกลิ่นกาย งานวิจัยปี 2020 เบตตินา เพาเซอ และทีมวิจัยแสดงให้เห็นว่า สมองของผู้หญิงตอบสนองรุนแรงขึ้น เมื่อดมกลิ่นเหงื่อของผู้ชายที่เพิ่งแข่งขันกีฬาเสร็จ ผู้หญิงยังไวต่อกลิ่นที่ส่งสัญญาณความวิตกกังวลในผู้ชายมากเป็นพิเศษอีกด้วย
เบตตินาเชื่อว่า สิ่งนี้อาจอธิบายได้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์ ในสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวล ทำไมผู้หญิงจึงเป็นผู้ดูแลเด็กและผู้อ่อนแอไร้สมรรถภาพ ซึ่งงานวิจัยของเธอและทีมพบว่า ผู้หญิงที่มีประสาทรับกลิ่นดีกว่า ทำคะแนนแบบทดสอบความเห็นอกเห็นใจได้ดีกว่า
"ความวิตกกังวลเป็นสัญญาณที่บอกว่า โปรดช่วยฉันด้วยเถิด" เบตตินากล่าว
การศึกษาปี 2020 ในการทดลองกับอาสาสมัคร 221 คน พบว่า ผู้ที่มีประสาทรับกลิ่นที่ดีกว่า จะมีเครือข่ายสังคมที่กว้างขวางกว่า มีเพื่อนเยอะกว่า และพบปะกับเพื่อนเหล่านั้นบ่อยกว่า ผู้ที่สามารถแยกแยะกลิ่นในชีวิตประจำวันได้ดีกว่า จะไม่ค่อยรู้สึกโดดเดี่ยว และจมูกที่ไวต่อกลิ่น ดูจะช่วยยกระดับชีวิตทางสังคมของเราได้
โยฮัน ลุนด์สตอรม นักประสาทวิทยาจากสถาบันคาโรลินสกา ในสวีเดน กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มค้นหาว่าสารเคมีตัวใดในกลิ่นกายที่อาจส่งผลต่อการเชื่อมต่อทางสังคม หนึ่งในนั้นอาจเป็น ‘เฮ็กซานอล’ ซึ่งส่งกลิ่นหอมคล้ายหญ้าสดเพิ่งตัดใหม่ แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่า ผู้ที่มีเฮกซานอลในกลิ่นกายมากกว่า จะเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือได้มากกว่าหรือไม่
เบตตินากล่าวว่า การรับกลิ่นเป็นประสาทสัมผัสที่ซื่อสัตย์ที่สุด ซึ่งแตกต่างจากคำพูดหรือสีหน้าที่เสแสร้งได้
"ฉันสามารถหัวเราะได้แม้ว่าฉันจะเศร้าหรือโกรธ แต่เปลี่ยนข้อความทางเคมีของตัวเองไม่ได้ ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลเดียวที่เราจะไว้ใจได้" เบตตินากล่าว