หลายคนคงเคยใช้วิธี 'ผัดวันประกันพรุ่ง' หรือ ‘ดองงาน’ ไว้ก่อนในการรับมือกับ “ภารกิจหรืองานบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่สามารถทำให้เสร็จลุล่วงได้” จนกระทั่งงานล่าช้า หรือทำไม่เสร็จ
คำถามคือ “ทำไมเราถึงมีนิสัย ดองงาน หรือผัดวันประกันพรุ่ง ?” และ “มีวิธีไหนที่จะลดแนวโน้มของพฤติกรรมแบบนี้ลงได้บ้าง ?”
ฟูเชีย ซีรัวส์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเดอรัม ในสหราชอาณาจักร บอกว่า แก่นแท้ของการดองงาน หรือผัดวันประกันพรุ่ง คือ การหลบเลี่ยง มากกว่าจะมีสาเหตุมาจากตัวงานเอง และมักเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งทำให้อยากถอยห่างออกจากงานนั้นๆ
“การผัดวันประกันพรุ่งกลายเป็นวิธีรับมือที่ง่ายและรวดเร็ว แต่ 'ไม่ค่อยดี' แม้จะใช้วิธีนี้เพื่อหลีกเลี่ยงในตอนที่พลังการรับมือของคุณหมดสิ้นไปแล้ว" ศ.ฟูเชียกล่าว
เธอยกตัวอย่าง การเริ่มต้นบรรทัดแรกของการบ้านเรียงความ อาจทำให้เรารู้สึกสงสัยในตัวเอง เช่น เมื่อหัวข้อที่ต้องเขียนไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจน อาจทำให้เกิดความกลัว กลัวว่าจะเขียนผิด หรือกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสิ่งที่เขียนไปนั้นไม่ถูกต้อง
ศ.ฟูเชียกล่าวว่า การ ‘ผัด’ เป็นการเลื่อนออกไป โดยไม่เกี่ยวกับว่าจำเป็นที่จะต้องทำงานอื่นก่อนเพราะสำคัญกว่า หรือเพราะมีงานเร่งด่วนแทรกเข้ามา คนที่ผัดวันประกันพรุ่ง โดยทั่วไปทำไปโดยที่รู้ว่างานชิ้นนั้นสำคัญ หรือมีความหมายกับตัวเองหรือคนอื่นๆ มากระดับไหน และการเลื่อนการทำอาจส่งผลเสียหาย แต่ก็ยังเลื่อนอยู่ดี
ศ.ฟูเชียกล่าวว่า คนที่ผัดวันประกันพรุ่งจนเป็นนิสัย มักมีปัญหาในการควบคุมและจัดการอารมณ์ การศึกษาภาพถ่ายสมองในปี 2021 ศ.ฟูเชีย และทีมวิจัยพบว่า นักศึกษาวิทยาลัยที่มีจุดเล็กสีเทาที่ด้านนอกกลีบสมองบริเวณหน้าผากด้านซ้าย ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมตัวเองในปริมาณที่มากกว่า มีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งน้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้น ผลวิจัยยังชี้ว่า ยิ่งการเชื่อมต่อของเส้นประสาทบริเวณนี้กับส่วนหน้าของสมองมีมากเท่าไหร่ นักศึกษาก็ยิ่งควบคุมอารมณ์ด้านลบได้ดีเท่านั้น จดจ่อกับผลประโยชน์ระยะยาว และมุ่งมั่นกับงานได้ดีกว่า ส่วนผู้ที่มีการเชื่อมต่อน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่ง แม้จะต้องแลกกับผลตอบแทนที่ดีในอนาคตก็ตาม
การศึกษาในปี 2018 พบว่า คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะมีสมองส่วนตรวจจับการคุกคามที่เรียกว่า อมิกดาลา ใหญ่กว่า และมีความอ่อนไหวมากกว่า ศ.ฟูเชียกล่าวว่า การคุกคามอาจเป็นแค่เรื่องที่เล็กน้อยมาก เช่น จะใช้คำอย่างไรดีในการส่งอีเมล แต่ความรู้สึกไม่สะดวกใจอาจรุนแรง ดังนั้น เมื่อมีการกระตุ้นให้หลบเลี่ยงความรู้สึกไม่สะดวกใจ อาจทำให้หยุดการพิจารณาถึงผลพวงที่จะตามมาจากการที่งานไม่เสร็จ
นอกจากผลการทดสอบสมองแล้ว ศ.ฟูเชียกล่าวว่า การผัดวันประกันพรุ่ง ยังเหมือนกับลักษณะนิสัยอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และอาจสืบต่อกันทางพันธุกรรมได้ ศ.ฟูเชีย กล่าวว่า แม้ว่าพันธุกรรมจะมีอิทธิพลในบางส่วน แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะยึดติดอยู่กับมัน และถือเอานิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ว่าเป็นตัวตนของเรา
นอกจากนั้น “ปัจจัยแวดล้อม” ก็มีความสำคัญในการกำหนดวิธีรับมือกับงานที่เราไม่ชอบ ศ.ฟูเชียกล่าวว่า คนที่ปกติแล้วไม่ค่อยผัดวันประกันพรุ่ง ก็อาจเป็นเช่นนั้นได้ หากพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่หมดแรงจะรับมือกับความเครียดที่เผชิญอยู่เป็นเวลานาน
การผัดวันประกันพรุ่ง ยังทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้นจากการที่ยังมีงานที่ยังค้างคาอยู่ และสามารถสร้างวังวนที่ทำลายสุขภาพจิต ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ และอาจนำไปสู่ความยุ่งยากด้านการเงิน
ศ.ฟูเชียกล่าวว่า ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่องานวิจัยพบว่า การเรียนรู้จัดการอารมณ์ด้านลบ ช่วยลดการผัดวันประกันพรุ่งได้ และแนะนำให้ถอยสักก้าวเมื่อรู้สึกว่างานล้นพ้นตัว และประเมินว่าอารมณ์แบบไหนเกิดขึ้นจากสถานการณ์งานล้นตัว และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราจึงอยากหลีกเลี่ยงหรือผัดวันประกันพรุ่ง
ศ.ฟูเชียเสนอแนะว่า การทำความคลุมเครือใดๆ ของงานให้เกิดความชัดเจน หรือการแบ่งงานเป็นขนาดเล็กลงอาจช่วยได้ และการค้นหาความหมายของงาน การให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานเสร็จ ก็เป็นวิธีที่เป็นประโยชน์เช่นกัน
"ถ้าปีนี้คุณตั้งใจจะนิสัยเลิกผัดวันประกันพรุ่ง การให้อภัยตัวเองจากการผัดวันประกันพรุ่งมีประสิทธิภาพมากในการลดการผัดวันประกันพรุ่งในอนาคต" ศ.ฟูเชียกล่าว