Skip to main content

กรมสุขภาพจิตเผย ประเทศไทยมีคนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ราว 1.2 ล้านคน และมีผู้ที่มี “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” อยู่อีกมากโดยที่ไม่รู้ตัวหรือไม่เข้าใจ และแสดงออกในทางตรงกันข้าม พร้อมให้คำแนะนำในการรับมือกับภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีคนเป็นโรคซึมเศร้าประมาณว่า 1.2 ล้านคนในประเทศไทย และหลายคนที่มีอาการแต่ไม่เข้าใจว่าเป็นโรคซึมเศร้า จนกระทั่งมีอาการมาก บางคนอาจแสดงออกตรงข้ามเพื่อบอกว่าไม่เป็นอะไร บางครั้งเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” (Smiling Depression) คือ การแสดงออกที่ไม่ตรงไปตรงมาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แทนที่จะรู้สึกเศร้า หดหู่ หงุดหงิด เก็บตัว ร้องไห้ กลับแสดงออกถึงความรู้สึกในทางตรงกันข้าม ได้แก่ การยิ้ม หัวเราะ

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพอื่นๆ อาการที่พบมีหลายอาการ ได้แก่ เศร้า เบื่อหน่าย หงุดหงิดฉุนเฉียว ไม่อยากทำอะไร รู้สึกสิ้นหวัง มีอาการนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร สมาธิลด อ่อนเพลีย ขาดความมั่นใจ การตัดสินใจไม่ดี

อาการเหล่านี้อาจมีมากจนมีปัญหาในการใช้ชีวิต และกินเวลานานหลายสัปดาห์ บางคนอาจมีความคิดอยากตายร่วมด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ปัจจุบัน ได้มีการผลักดันโรคจิตเวชต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของการรักษาผู้ป่วย ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ รวมทั้งมีการหารือเพื่อเพิ่มงบประมาณดูแลสุขภาพจิตเพื่อนำมาพัฒนาโครงการส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพจิต และป้องกันการเจ็บป่วยจิตเวชทุกกลุ่มวัย ด้วยการสร้างการรับรู้ให้ทุกคนตระหนักและคัดกรองสุขภาพจิตตัวเองในเบื้องต้น ติดตั้งระบบให้ความช่วยเหลือสุขภาพจิตในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อให้มี “เพื่อน” ช่วยสอดส่องดูผู้ที่เข้าข่ายเกิดภาวะซึมเศร้าและเข้าให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ยังมีคำแนะนำวิธีรับมือกับ ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นด้วยตัวเอง ดังนี้

1. ร้องไห้บ้าง ยิ่งกลั้นน้ำตา จะยิ่งทำให้รู้สึกเศร้า

2. ไม่จำเป็นต้องฝืนยิ้ม ทำหน้าบึ้งหรือเครียดบ้างก็ได้

3. ลดความสมบูรณ์แบบลง ผิดพลาดบ้างก็ได้

4. เปิดใจยอมรับว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า

5. ระบายความรู้สึก หรือขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้วางใจ

6. เขียนไดอารีระบายความรู้สึก โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่กล้าเปิดใจคุยกับใคร

7. ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพให้ตัวเองดูดีตลอดเวลา

8. ไม่ควรให้ภาวะซึมเศร้าคงอยู่นาน เพราะมีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเอง

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตย้ำว่า เพื่อน ครอบครัว หรือครู ช่วยกันสังเกตและเฝ้าระวังผู้มีประวัติโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีปัญหาในชีวิต ผู้ที่มีอาการ เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และเมื่อรู้สึกว่าคนใกล้ชิดมีปัญหา สามารถแนะนำแบบสำรวจภาวะซึมเศร้าและสุขภาพใจได้ผ่านทาง MENTAL HEALTH CHECK IN [MHCI] หรือ www.วัดใจ.com หากมีปัญหาสามารถขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง