Skip to main content

จุดมุ่งหมายของ ‘เทคโนโลยี’ คือ การทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ทำให้เรามีเวลาว่างหรือมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่ทว่าปัจจุบันนี้ เรามีเวลาว่างมากขึ้นสำหรับการนอนหลับ มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น หรือมีเวลาทำในสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้นจริงหรือไม่?

ผลจากการวิจัยพบว่า สิ่งนี้ไม่เป็นความจริง และเทคโนโลยีกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเราอัดแน่นไปด้วยงานและภารกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น

นักวิจัย รูธ อ๊อกเด็น และทีมวิจัย ศึกษาความตระหนักของคนในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลช่วงหลังโควิดพบว่า เทคโนโลยีการประชุมออนไลน์ ทำให้การทำงานจากทางไกล การทำงานแบบเวิร์คฟรอมโฮม และการทำงานแบบไฮบริดจ์เป็นไปได้ แต่กลับทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัวพร่าลาง ไม่ชัดเจน เนื่องจากที่ทำงานถูกย้ายมาอยู่ภายในบ้านแล้ว ทำให้ต้องเข้าประชุมออนไลน์ต่อเนื่องกันจนแทบไม่มีเวลาหยุดพักหายใจหายคอ

ทีมวิจัยกล่าวว่า ความคิดที่ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เรามีเวลามากขึ้นกว่าแต่ก่อนนั้น มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลอาจช่วยให้เราประหยัดเวลาในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นจริง แต่ก็จบลงด้วยการที่เราใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการทำงานอื่นๆ มากขึ้นและมากขึ้น

งานวิจัยสัมภาษณ์คนจากทั่วยุโรปที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ในชีวิตประจำวัน 300 คน พบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยไม่ต้องการปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆ จึงเติมงานเข้ามาในช่วงเวลาที่ว่างขึ้นเหล่านั้น บางส่วนบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่เฉยโดยที่ปราศจากการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี

ผู้เข้าร่วมการวิจัยบอกว่า แต่ก่อนเวลาระหว่างรอรถประจำทาง เวลาเดินในตอนเช้า หรือเวลาเอนตัวนอนในตอนดึก เป็นเวลาที่ว่างเปล่า แต่ตอนนี้ถูกเติมเต็มด้วยแอพฝึกสมอง ลิสต์รายการสิ่งที่ควรทำ หรือการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียที่พวกเขาเป็นแอดมิน รวมทั้งการเสิร์ชหาสูตรสำเร็จต่างๆ บนเว็บไซต์เพื่อทำให้ชีวิตสมบูรณ์แบบมากขึ้น

แม้โซเชียลมีเดียจะสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มพลังจูงใจ หรือช่วยให้ผ่อนคลายได้ แต่จากงานวิจัยของรูธพบว่า ผู้คนกลับมักรู้สึกผิด หรือรู้สึกเสียใจ หลังจากเติมเต็มเวลาว่างนั้นด้วยกิจกรรมออนไลน์

รูธอธิบายว่า นั่นเป็นเพราะพวกเขามองกิจกรรมออนไลน์ว่า มีความจริงแท้น้อยและมีคุณค่าด้อยกว่ากิจกรรมในโลกจริง และดูเหมือนผู้คนยังคงเห็นคุณค่าของการออกไปเดินเล่น หรือพบปะเพื่อนฝูง มากกว่าการจมปลักอยู่กับโลกออนไลน์

รูธกล่าวว่า รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานเข้มข้นมากขึ้น การทำงานที่บ้านและแบบไฮบริดจ์ โดยใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวเลือนลางลง เนื่องจากออฟฟิศถูกย้ายอยู่ในห้องทำงานที่บ้านแล้ว ทำให้มีการประชุมออนไลน์ติดต่อกันโดยแทบจะไม่มีเวลาให้หยุดพักหายใจ

ขณะที่อีเมลสร้างการสื่อสารได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ก็หมายถึง งานเพิ่มขึ้นในการอ่านและตอบกลับ และหากเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาไม่ดี และความไร้ประสิทธิภาพ จะเป็นการบังคับให้เราทำงานมากขึ้น โดยการทำงานซ้ำๆ

รูธกล่าวว่า ในสภาพเช่นนี้ การทำงานมากขึ้นอาจไม่รับรองว่าจะประสบความสำเร็จ และอาจทำให้รู้สึกแย่ลง ความเครียดและความเหนื่อยล้า จะเพิ่มโอกาสในการ “เบิร์นเอาท์” หรือ “หมดไฟ” มากขึ้น ส่งผลให้ขาดงานมากขึ้น

 

ช่วงชิงเวลากลับคืนมา และจัดสรรเวลาเสียใหม่

รูธกล่าวว่า ในโลกของการทำงาน การเชื่อมต่อกันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติที่ปราศจากข้อยกเว้น แต่การพัฒนากฎหมายรับรองสิทธิห้ามการติดต่อเรื่องงานนอกเวลางาน อาจเป็นวิถีทางเดียวที่จะทำให้เทคโนโลยีจะหยุดกัดกินเวลาของเรา โดยหลายประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี มีการออกกฎหมายสิทธิในการตัดขาดจากเทคโนโลยีแล้ว

กฎหมายระบุว่า พนักงานไม่มีภาระผูกพันใดที่จะติดต่อได้นอกชั่วโมงทำงาน และมีสิทธิปฏิเสธการนำงานดิจิทัลกลับบ้านไปทำ

รูธกล่าวด้วยว่า เป็นไปได้ที่เทคโนโลยีอาจเป็นกุญแจสำคัญในการทวงคืนเวลา เช่น นาฬิกาอัจฉริยะบอกให้หยุดทำงานเมื่อทำงานครบตามชั่วโมงที่กำหนดไว้ หรือเมื่อเทคโนโลยีบอกให้เราทำอะไรน้อยลง เราก็อาจจะได้เวลากลับคืนมาจริงๆ