Skip to main content

ผู้จัดการกองทุน สสส.เผย ปีนี้คนไทยป่วยด้วย “โรคจากมลพิษทางอากาศ” จากฝุ่น PM2.5 รวมแล้ว 9.2 ล้านคน อธิการบดี มช.ระบุ พื้นที่ภาคเหนือเผชิญ PM2.5 ยาวนานขึ้นจาก 2 เดือนเป็น 4 เดือน

ในการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ที่ จ.เชียงใหม่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พ.ย.พบว่า เฉพาะปีนี้ มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 9.2 ล้านคน สะท้อนถึงระดับความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพประชาชนอย่างชัดเจน

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ประสบปัญหา P.M.2.5 มานาน โดยระยะเวลายาวนานขึ้นจาก 2 เดือนเป็น 4 เดือน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งยังกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2567” และเมื่อวันที่ 6 พ.ย.นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ “บอร์ดฝุ่นชาติ” เพื่อจัดทำแผนและดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาหมอกควัน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ขณะที่ ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดเมื่อปลาย พ.ย.ที่ผ่านมา

อธิการบดี มช.กล่าวว่า ต้องใช้องค์ความรู้ งานวิจัย การขับเคลื่อนนโยบาย และภาคประชาสังคมร่วมกันทุกภาคส่วนในช่วยกันแก้ปัญหา เพราะคนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนรุ่นถัดไป และต้องทำให้คนรุ่นต่อไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ได้ยกระดับการดำเนินงาน “ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) ผ่านการดำเนินงาน อาทิ ตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) เพื่อสนับสนุนงานวิชาการหนุนเสริมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด ต้นแบบสำหรับภาคอื่นๆ รวมถึงการสานพลังความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อการแก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม