ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีเด็กๆ ทั่วโลกถึง 43 ล้านคนต้องพลัดจาก "ถิ่นบ้านเกิด" เพราะหายนะ "ภัยธรรมชาติ" จากการเปลี่ยนแปลงของ "สภาพภูมิอากาศ"
องค์การยูนิเซฟรายงานว่า ระหว่างปี 2016-2021 สภาพอากาศที่สุดขั้วและภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เด็กๆ ทั่วโลกมากกว่า 43 ล้านคนต้องพลัดพรากจากที่อยู่ และจะมีเด็กๆ อีกนับสิบล้านคนที่จะต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันนี้ หากสภาพภูมิอากาศโลกเลวร้ายสุดขั้วต่อไป
รายงานระบุว่า มีเด็กราว 41 ล้านคนต้องอพยพจากถิ่นที่อยู่เนื่องจากพายุและอุทกภัย ขณะที่ภัยแล้งและไฟป่า แม้จะส่งผลกระทบน้อยกว่า แต่ก็มีผลกระทบในระดับที่มีนัยสำคัญ
รายงานระบุด้วยว่า ในช่วงระหว่างการเก็บข้อมูล มีเด็กๆ มากกว่า 23 ล้านในฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีนที่ต้องอพยพย้ายถิ่น ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากจีนและอินเดียมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก
ร้อยละ 76 ของเด็กๆ ในสาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเกาะ ต้องย้ายจากที่อยู่ระหว่างปี 2016-2021 เนื่องจากภัยจากพายุ
ในซูดานใต้ ประชากรเด็กร้อยละ 12 ต้องพลัดจากถิ่นที่อยู่เนื่องจากน้ำท่วมและภัยแล้ง เช่นเดียวกับในโซมาเลีย ร้อยละ 11 ของประชากรเด็กตกอยู่ในสภาพดังกล่าว รายงานของยูนิเซฟระบุว่า ชีวิตของเด็กในประเทศเหล่านี้อาจมีความเปราะบางมากขึ้นและเสี่ยงต่อการต้องพลัดจากถิ่นที่อยู่
ในรายงานของยูนิเซฟ ยังคาดการณ์ถึงอัตราการพลัดถิ่นของเด็กๆ ในอนาคตว่า ไม่กี่ปีจากนี้จะมีเด็กจำนวนนับสิบล้านคนที่ต้องอพยพจากบ้านเกิด ด้วยสาเหตุภัยจากสภาพภูมิอากาศ โดยน้ำท่วมจะเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบมากที่สุด และมีการคำนวณว่าในอีก 30 ปีจากนี้ จะมีเด็กที่พลัดจากถิ่นที่อยู่มากถึง 96 ล้านคน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากกาศ จะส่งผลให้ฝนตกหนักรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหายนะภัยจากภัยน้ำท่วม
พายุไซโคลนจะเป็นสาเหตุทำให้เด็กอีกราว 10.3 ล้านคนต้องพลัดจากบ้านเกิดในอีก 10 ปีข้างหน้า และคลื่นที่ซัดกัดเซาะชายฝั่งจะทำให้เกิดการพลัดถิ่นเพิ่มขึ้นอีก 7.2 ล้านคน
รายงานของยูนิเซฟระบุว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลทั่วโลกจะต้องมีการลงทุนครั้งมโหฬารสำหรับมาตรการในรับมือ โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งประชากรมีความเปราะบางมากที่สุด